xs
xsm
sm
md
lg

โทนี่-สารพัดตัวถ่วง “เศรษฐา” รอพลาดจบเร็ว !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทักษิณ ชินวัตร - เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา


หากวัดถึงความขยันขันแข็ง ตั้งใจทำงานแล้วก็ต้องบอกว่า สำหรับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สอบผ่าน แต่ขณะเดียวกัน เป็นผู้นำประเทศมันก็ต้องมีองค์ประกอบรอบตัวหลายอย่าง ทั้งบุคคลที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งมันก็เป็นทั้งผู้สนับสนุนส่งเสริมชั้นดี ส่วนอีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นตัวถ่วง ฉุดรั้งทำให้จมดินได้เหมือนกัน รวมไปถึงความผิดพลาดด้านนโยบายบางอย่าง ที่จะส่งผลให้เกิดความเสียหายตามมาก็ได้ เพราะบางนโยบายเหมือนถูกกำหนดมาเพื่อหวังผลด้านความนิยมทางการเมือง

แน่นอนว่า หากโฟกัสกันที่ตัว นายเศรษฐา ทวีสิน ที่สามารถก้าวขึ้นมานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ ก็ต้องยอมรับกันก่อนว่า ส่วนสำคัญเป็นเพราะได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูมาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งหากกล่าวให้ตรงเป้าก็ต้องชี้ไปที่ “ครอบครัวชินวัตร” ของ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละเป็นส่วนผลักดัน โดยคราวนี้ หากจำกันได้ นายเศรษฐา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอันดับสอง ขณะที่แคนดิเดตอันดับหนึ่ง ก็คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของ นายทักษิณ แต่จะด้วยความไม่พร้อม หรือยังไม่ต้องการให้ต้องเจอกับแรงเสียดทานทางการเมืองในช่วงเริ่มต้นมากเกินไปจำต้องถอยออกไปก่อนชั่วคราว
แต่หากถามในเรื่องของความรู้ความสามารถของ นายเศรษฐา แล้ว เชื่อว่า ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว ทั้งในด้านการบริหาร และความคิด เนื่องจากผ่านงานบริหารองค์กรขนาดใหญ่มาแล้วระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์การเมืองที่ต้องขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้น มีทั้งการจับตามองจากสังคมรอบข้างอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้อาจเรียกว่ามี “ความพิเศษ” ตรงที่มีการ “ข้ามขั้ว” และที่ผ่านมา นายเศรษฐา ก็ย้ำว่า งานนี้ได้ “เทหมดหน้าตัก” ความหมายอาจจะเข้าใจว่า “ทุ่มสุดตัว” แล้ว แต่อีกด้านหนึ่งในองคาพยพของรัฐบาลชุดนี้กลับกลายเป็นว่ามีลักษณะ “ไม่ตรงปก” มีลักษณะ “เถ้าแก่ส่งมา” บ้างไม่ต่างจาก “เด็กในบ้าน” มีประวัติด่างพร้อย ก็มี นอกเหนือจากนี้ ยังมีลักษณะของ “เถ้าแก่เองนั่นแหละที่เป็นตัวถ่วง”
เมื่อย้อนกลับไปตั้งแต่ นายทักษิณ ชินวัตร กลับมาตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม เป็นต้นมา ซึ่งก็รับรู้กันอยู่แล้วว่าเขามีสถานะเป็น “นักโทษหนีคดีทุจริต” เป็นการกลับมารับโทษ แต่ที่ผ่านมา สังคมมองว่ามี “สถานะเป็นนักโทษเทวดา” เพราะจนบัดนี้เขาเพียงเข้าเรือนจำเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็ออกมาอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 อ้างว่า ป่วยหนัก แต่ไม่มีใครตรวจสอบได้เลยว่าป่วยจริงหรือไม่ รวมไปถึงยังอยู่ในโรงพยาบาลจริงหรือเปล่า เพราะหากอ้างว่า “ป่วยหนัก” เวลาผ่านไปเกือบเดือนแบบนี้ ถ้าเป็นคนป่วยทั่วไปก็ต้องถือว่า “โคม่าใกล้ตายแล้ว” เนื่องจากอาการไม่ดีขึ้นเลย หรือไม่ก็ต้องโทษฝีมือคณะแพทย์ที่ไม่เอาไหนกันแน่

แต่ภาพที่สังคมมองออกอยู่ในเวลานี้ก็คือ ภาพของ “ความไม่เท่ากัน” ภาพของ “อภิสิทธิ์ชน” เป็น นักโทษ “เทวดา” มันเสี่ยงทำให้เกิดความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าเวลานี้เหมือนกับว่าสังคมยังนิ่งเงียบไม่ค่อยมีปฏิกิริยาเท่าใดนัก แต่ลักษณะเหมือนกับว่า “มีความคุกรุ่น” ที่เสี่ยงต่อการระเบิดออกมาได้ตลอดเวลา เพียงแต่ว่ารอจังหวะที่มีเหตุในทางลบหรือท้าทายความรู้สึกเพิ่มขึ้นมันก็อาจขาดผึงได้ทุกเมื่อ ก็ต้องระวังในจุดนี้ด้วย

ที่ผ่านมา นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษเหลือ 1 ปี และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีข่าวออกมาตลอดเวลาว่า เขาได้ “ขอพักโทษ” ทำให้ถูกตั้งคำถามมากขึ้นว่าในที่สุดแล้ว นายทักษิณ จะมีเวลาติดคุกสักวันหรือไม่ แต่ล่าสุด ทางกรมราชทัณฑ์ ยืนยันยังไม่มีการยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด

นายสิทธิ สุธีวงศ์ โฆษกกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และในฐานะผู้ต้องขังเด็ดขาด ดำเนินการยื่นเอกสารต่อเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขอเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปหรือไม่ โดย ยืนยันว่า นายทักษิณ หรือครอบครัว ยังไม่ได้มีการยื่นขอพักโทษแต่อย่างใด และทางราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับทราบการยื่นเอกสารดังกล่าว ส่วนกระบวนการขอพักโทษนั้น จะเป็นกระบวนการที่เรือนจำจะเป็นผู้พิจารณายื่นเรื่องให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา ซึ่งทางเรือนจำจะสามารถยื่นรายชื่อบุคคลที่จะดำเนินการพักโทษได้ จะต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นๆ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. แบบปกติ นักโทษรายนั้นๆ จะต้องโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 2 ใน 3 ของโทษจำคุกที่ได้รับ และ 2. แบบพิเศษ มีเกณฑ์แยกย่อย 3 ข้อ คือ จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งในกรณีของนายทักษิณ สามารถเข้าเกณฑ์ได้ทั้งแบบปกติและแบบพิเศษก็ได้ เพราะนายทักษิณเองถือเป็นผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไปและป่วยร่วมด้วย

นายสิทธิ เผยอีกว่า สำหรับขั้นตอนแรกในโครงการพักการลงโทษนั้น จะเป็นทางเรือนจำที่ทำหน้าที่สำรวจรายชื่อผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ และพิจารณาจากคุณสมบัติของนักโทษรายนั้นว่าเข้าเกณฑ์แบบปกติหรือแบบพิเศษ ปัจจุบันนายทักษิณได้รับการอภัยลดโทษ เหลือจำคุกเพียง 1 ปี ดังนั้น 1 ใน 3 ที่นี้ก็คือ 4 เดือน แต่ตามกฎหมายมีการระบุว่าหรือ 6 เดือน อย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ซึ่งหมายความว่า นายทักษิณ จะต้องจำคุกมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน การยื่นมาก่อนก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะยังไม่เข้าเกณฑ์ จึงทำให้กรณีของนายทักษิณ โทษจำคุกจะไปสิ้นสุดอยู่ที่ห้วงเดือน ก.พ. 67 อย่างไรก็ตาม นายทักษิณจะถูกพิจารณาพร้อมกับผู้ต้องขังเด็ดขาดรายอื่นๆ เนื่องจากทางเรือนจำจะมีการเสนอเรื่องขึ้นมาแล้วจึงจะมีการประชุมร่วมกันของคณะกรรมการพักการลงโทษของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง

“หากนายทักษิณเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ทางเรือนจำก็จะมีการแจ้งไปยังทนายความประจำตัวของผู้ต้องขัง รวมถึงผู้ต้องขังเองด้วย เพื่อแจ้งเงื่อนไขให้ทราบว่า นักโทษจะต้องรู้คุณสมบัติของตัวเอง แล้วก็ต้องเตรียมเอกสาร อีกทั้งจะมีการสัมภาษณ์ เพราะผู้ต้องขังเด็ดขาดแต่ละรายที่ผ่านเกณฑ์จะต้องเข้าให้การสัมภาษณ์กับทางเรือนจำ เพื่อทางเรือนจำได้ดูตัวและสอบถามพูดคุยว่าครบเกณฑ์หรือไม่และยังมีกระบวนการอื่นๆ อีกมาก”

นอกจากนี้ โฆษกราชทัณฑ์ เผยว่า เมื่อใกล้ครบ 30 วัน ทางโรงพยาบาลตำรวจจะต้องส่งผลประเมินเรื่องสุขภาพนายทักษิณ มายังเรือนจำ และกรมราชทัณฑ์ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ และอาจจะไม่ได้มีการประชุมร่วมกันกับนายแพทย์ใหญ่อย่างเป็นทางการขนาดนั้น ซึ่งถ้าหากนายทักษิณยังคงมีอาการไม่ทุเลาดีขึ้น หรือแพทย์มีความเห็นให้มีความจำเป็นจะต้องรับการรักษาเฉพาะทางต่อเนื่อง เรือนจำฯ ก็จะพิจารณาจากความเห็นของแพทย์ดังกล่าว และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ก็จะอนุญาตให้พักรักษาตัวภายนอกเรือนจำต่อได้

เมื่อฟังแบบนี้มันก็พอประเมินได้ล่วงหน้าไว้ก่อนเลยว่า นายทักษิณ ชินวัตร จะได้รับการ “พักโทษ” อย่างแน่นอน และเมื่อจะครบ 30 วันในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่ทีมแพทย์และทางกรมราชทัณฑ์ว่าจะต้องประเมินอาการป่วยของเขา ก็ต้องสรุปว่า “ต้องรักษาอาการต่อ” นอกโรงพยาบาล ทุกอย่างน่าจะสรุปออกมาแบบนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่า “ความรู้สึก” ของสังคมจะเป็นแบบไหนมันก็ไม่อยากไปคาดเดากันตอนนี้ เพียงแต่อยากเตือนว่า “อย่าท้าทายกันเกินไป”

เพราะอีกด้านหนึ่งมันก็มีผลต่อสถานะเสถียรภาพของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน ด้วย ซึ่งหากไม่มั่นคงขึ้นมามันก็ย่อมกระทบมาถึงความมั่นคงของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่กำลังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลด้วย และเชื่อว่า เวลานี้กำลังพยายามทำตัวให้เงียบ ให้ “เรื่องเงียบ” ให้มากที่สุด อย่างน้อยก่อนถึงเวลายื่นขอพักโทษนั่นแหละ
นั่นคือ กรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นประเด็นใหญ่ที่กระทบมาถึงสถานะของรัฐบาล รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ ที่มาจากผลงานของรัฐบาล ทั้งที่เป็นนโยบายหลักที่กำลังถูกวิจารณ์และมีเสียงเตือนมากขี้นจากนโยบาย “แจกเงินดิจิทัล” ที่ต้องใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท ว่า อาจไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก่อให้เกิดหนี้สินเพิ่มขึ้น ทำร้ายวินัยการคลัง สารพัด เมื่อถึงตอนนั้น หากเกิดความล้มเหลว ทุกอย่างมันก็จะประดังเข้ามา แต่เอาเป็นว่านาทีนี้ยังอยากให้การคาดการณ์ดังกล่าวนั้นผิดพลาดก็แล้วกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น