ข่าวปนคน คนปนข่าว
**เราก็เท่ซะด้วย!.."เศรษฐา" สั่งรมต.ห้ามพูด "ทำไม่ได้" แต่ตัวนายกฯ ก็ต้อง"ทำให้ได้" ก่อนนะจ๊ะ
ช่วงนี้ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรี มีนัดกินข้าวรัวๆ วันก่อนโต๊ะจีน กับ ผบ.เหล่าทัพ วันวานก็มาล้อมวงกินไปสั่งการไป กับวง 16 รัฐมนตรีของพรรคตัวเอง
อาทิ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” รมว.สาธารณสุข “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม
นอกจากเนื้อหาสาระ สิ่งที่จะตามมาก็คงจะไม่พ้นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น เพราะบรรยากาศเอื้ออำนวยให้เจริญอาหาร คุยกันออกรส เอิ๊กอ๊าก
ฟังว่า เรื่องนโยบาย และวิธีการทำงาน รวมถึงความคาดหวัง “นายกฯเศรษฐา” กำชับรัฐมนตรีของพรรคหลายเรื่อง ทั้งเรื่องที่ต้องระวังให้มาก ไม่เผลอพูด เป็น "รัฐบาลเพื่อไทย" ซึ่งควรบอกว่าเป็น “รัฐบาลของประชาชน”
ของพรรค์นี้ต้องเตรียมกันไว้ก่อน เพื่อให้เกียรติกับพรรคนับสิบที่อยู่ร่วมรัฐบาล พูดเป็นพรรคตัวฝ่ายเดียว ประเดี๋ยวก็วงแตก!
ส่วนที่บอกว่า ช่วงที่เลือกนายกฯ และแต่งตั้งรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยใช้ต้นทุนที่สูง “เศรษฐา”ก็อยากให้เปลี่ยนเป็นคำว่า "เทหมดหน้าตัก" เพื่อความหมายว่า ทำงานอย่างทุ่มเทหมดหน้าตัก
ขณะที่เวลาไปพูดคุยกับพี่น้องประชาชน อย่าไปบอกว่า "ทำไม่ได้" เพราะ ถูกเลือกเข้ามาเพื่อให้ทำให้ได้ ถือว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด
นี่เป็นสิ่งที่ “เศรษฐา” อยากให้เป็น "มิติใหม่" ของการทำงานให้รัฐบาลนี้.. "นิดทำได้"
เชื่อได้ว่า 16 รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรในการรับคำสั่งนายกฯ มาปฏิบัติ เพราะล้วนแล้วแต่เป็นนักการเมืองอาชีพ
เรื่องจะให้พูดอะไร ไม่พูดอะไร สบายอยู่แล้ว พูดน้ำไหลไฟดับ พูดเอาดีใส่ตัวไม่ใช่ปัญหา ส่วนจะทำหรือไม่ทำ เป็นอีกเรื่องนะจ๊ะ
งานนี้คอการเมืองห่วงแต่ตัวของท่านนายกฯ ที่มักมีซีนเผลอบ่อย ทั้งเผลอปาก และเผลอท่าทาง!!
ช่วงหาเสียงก็เผลอพูดในเรื่องที่ไม่ควรพูด จนมาแก้ต่างกันพัลวันกันภายหลัง ขณะที่เดินทางไปรับฟังปัญหาประชาชนในพื้นที่ ก็มีประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในโซเชียลฯ ถึงท่าทางที่ดู "เข้าถึงยาก"
อย่างที่เป็นไวรัล "ขว้างปากกา" ระหว่างรับฟังปัญหาจากกลุ่มวินจักรยานยนต์ ถูกชาวโซเชียลฯ แห่จับผิดอากับกิริยาไปแซะ จนเจ้าตัวต้องออกมา "ขอโทษ" ที่ภาพถูกทำให้เข้าใจผิด
นายกฯอธิบายว่า ภาพที่ดูเหมือนโยนปากกา ดูเหมือนตัวเองแสดงออกถึงความไม่พอใจนั้น เพียงแต่การหารือกับวินรถจักรยานยนต์ มีหลายประเด็น จึงต้องรีบจดเพื่อเตรียมตอบคำถาม เมื่อเขียนไปแล้วปากกาหมึกหมด ตัวเองจึงแจ้ง และปล่อยลงบนโต๊ะ ยืนยันว่าไม่ได้ขว้างปากกา
ว่าไปแล้ว ถ้าจะมองใน “มุมบวก”ก็เป็นความมุ่งมั่นตั้งใจของนายกฯ แต่ของแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นบ่อยให้คนเข้าใจผิดคิดไปเอง ระวังได้ก็ต้องระวังท่าทีนั้นสำคัญกว่าคำอธิบายในภายหลัง
ต้องไม่ลืมว่า โลกโซเชียลฯ อะไรนิดอะไรหน่อย ก็สามารถเป็น "ดรามา"ได้เสมอ นายกฯเศรษฐา วันนี้กลายเป็นคนของประชาชนไปแล้ว ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่า จะต้องถูกจับจ้อง จับผิดทุกที่ ทุกเวลา
ถ้าอดีตเรามีนายกฯ ที่พร้อมจะทุ่มโพเดียมเข้าใส่ผู้คน จนเป็นที่จดจำในทางแข็งกร้าว ปัจจุบันคนคงไม่ต้องการเห็นนายกฯ ที่เกรี้ยวกราดเขวี้ยงนู่น โยนนี่ เป็นภาคต่อแน่แท้
งานนี้ทีมงานติดตามดูแลภาพลักษณ์นายกฯ แก้ได้แก้ ปรับได้ปรับ ไม่งั้นสั่งรมต.ห้ามพูดว่า "ทำไม่ได้" แต่ตัวนายกฯกลับทำไม่ได้ นี่ดรามามาถี่ๆ แน่
“เศรษฐา” จะกลายเป็นพูดเอาเท่ เอาหล่อ เพียงเพราะ.. เราก็เท่ซะด้วย ทีนี้ก็ลำบาก ว้าวุ่นเลย! เดี๋ยวจะหาว่าหล่อไม่เตือนนะฮับ
** “นช.ทักษิณ”ได้พักโทษอย่างเร็วสุดกลางเดือนกุมภาพันธ์
กรณีเมื่อวันที่ 1 ก.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชทานอภัยลดโทษ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ จากทั้งหมด 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี โดยให้นับจากวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ “นช.ทักษิณ” กลับประเทศไทยและเข้าสู่กระบวนการของทางราชทัณฑ์ เพื่อจะได้ใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ
อีกทั้ง “ทักษิณ” เป็นผู้ต้องขังสูงวัย มีอาการเจ็บป่วย 4 โรคเรื้อรัง และยังอยู่ระหว่างการนอนพักรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ เป็นเหตุให้อาจเข้าข่ายเกณฑ์ผู้ต้องขังสูงวัย ที่จะได้รับการพิจารณาพักการลงโทษเป็นขั้นตอนต่อไปหลังจากนี้
“ทักษิณ” จะยังคงรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ หรือถูกส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของทีมแพทย์
แต่หัวข้อที่มีการพูดถึง และวิพากวิจารณ์กันมาก คือเรื่องพักการลงโทษ หรือ การคุมประพฤติ (ติดกำไล EM) ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ที่มีเรื่องของผู้สูงอายุ และการเจ็บป่วยของผู้ต้องขังเข้ามาเกี่ยวข้อง
รวมทั้งจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษในวาระโอกาสสำคัญอย่างวันที่ 13 ต.ค. หรือ วันที่ 5 ธ.ค. อีกครั้งหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องดูว่า “นช.ทักษิณ” จัดว่าเป็นผู้ต้องขังชั้นใด หรือเข้ากับหลักเกณฑ์ใด คือครั้งที่สองนี้ ถือว่ามีสถานภาพเดียวกับผู้ต้องขังทั่วไป
“พักโทษ” คือได้รับการปล่อยตัวก่อนวันครบกำหนดโทษ เพื่อให้ไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวหรือสังคม ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้
การพักโทษมี 2 อย่างคือ
1. การพักโทษกรณีปกติ ต้องเป็นนักโทษชั้นดีขึ้นไป ตอนนี้ “นช.ทักษิณ” เป็นนักโทษชั้นกลาง จะได้นักโทษชั้นดีต้องติดคุกมาแล้ว 6 เดือน (นับ1เดือนเท่ากับ 30 วัน รวม180 วัน) นับจากวันที่ 22 ส.ค. และการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษ จะมีปีละ 2 ครั้ง คือ เดือนมิถุนายน และเดือนธันวาคม กรณีของ “นช.ทักษิณ” ถึงเดือนธันวาคมจะยังไม่ครบ 6 เดือน ดังนั้นจะได้ชั้นนักโทษต้องรอเดือนมิถุนายน ปีหน้าเลย
2. การพักโทษกรณีพิเศษ “นช.ทักษิณ” มีอายุมากกว่า 70 ปี จึงเข้าเงื่อนไขนี้ แต่กฎหมาย ( มาตรา 52 วงเล็บ 7 พ.ร.บ.ราชทัณฑ์) เขียนไว้ต้องติดคุกไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไป(180วัน) หรือ 1 ใน 3 แล้วแต่อย่างไหนมากกว่ากัน กรณี “นช.ทักษิณ” 1 ใน 3 เท่ากับเดือนธันวาคม แค่ 4 เดือน ดังนั้น ไม่ถึง 6 เดือน เพราะกฎหมายบอกว่าอย่างไหนมากกว่ากัน ดังนั้น “นช.ทักษิณ” จะได้การพักโทษต้องครบ 6 เดือน (180วัน) คือ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นอย่างเร็ว
แต่ถ้ามีพระราชทานอภัยโทษในวาระต่างๆ ณ ถึงวันที่ออก ก็ต้องไปนับวันว่า “นช.ทักษิณ” ติดคุก 1ใน 3 หรือยัง ถ้าถึง ก็จะได้สิทธิ์นั้น ถ้าไม่ขัดกับเงื่อนไขต้องห้ามท้ายพระราชกฤษฎีกาว่า โทษแบบไหนได้ ไม่ได้
1ใน 3 ของ “นช.ทักษิณ” ประมาณ 20 ธันวาคม (นับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 1เดือนนับ 30 วัน) ถ้าพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ ออกในวาระ 5 ธันวาคม สมมติประกาศ 5 ธันวาคม “นช.ทักษิณ”ก็จะยังไม่ถึง 1ใน 3 จะไม่ได้สิทธิ์
ดังนั้น โอกาสที่ “นช.ทักษิณ” จะได้ออกไปเลี้ยงหลาน อย่างเร็วสุดคือกลางเดือนกุมภาพันธ์