การไม่มีสาขาพรรค-ตัวแทนพรรค ก็เท่ากับการสรรหาผู้สมัคร ตามกระบวนการ “ไพรมารีโหวต” ที่ กม.กำหนดที่ พรรคประชาชาติ อ้างว่าทำแล้วนั้น “ไม่สมบูรณ์” และเมื่อ “วันนอร์” ลงนามรับรองผู้สมัคร 4 รายไปสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่ผ่านทำไพรมารีโหวตอย่างถูกต้อง จึงเข้าข่ายการกระทำผิด กม.ชัดเจน
กลายเป็นตำบลกระสุนตก ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก การทำหน้าที่ของ “ประธานวันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา
หลังสร้างประวัติการณ์พรรคเล็ก 9 เสียงที่ได้เก้าอี้ใหญ่ไปเชยชม แต่ขึ้นรั้งตำแหน่งได้ไม่นาน ก็เจอกระแสถล่มเละเทะ ข้อหาไร้ความเด็ดขาด ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่สมราคาที่เคยเป็น “ประมุขนิติบัญญัติ” มาแล้ว
โดยเฉพาะคิวปล่อยให้ที่ประชุมหยิบยกข้อบังคับการประชุมรัฐสภา มาเหนือรัฐธรรมนูญ กรณีลงมติเห็นชอบผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นญัตติซ้ำ ไม่สามารถเสนอคนเดิมได้ในสมัยประชุมเดียวกัน เมื่อวันที่ 19 ก.ค.66
ผูกเงื่อนปมจนกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องล่าช้าออกมาร่วมเดือน
มองกันว่า จริงๆแล้วในวันนั้นประธานมีอำนาจชี้ขาดว่า การเสนอชื่อนายกฯไม่ใช่ญัตติ แล้วให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้
แถมการประชุมรัฐสภาครั้งต่อมา ก็เจอญัตติของ รังสิมันต์ โรม สส.ก้าวไกล ที่เสนอให้ทบทวนมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.66
“ทั่นประธาน” พูดไม่ออก บอกไม่ถูก ชิงปิดประชุมหนีเอาดื้อๆ
กระทั่งแทบไม่เหลือเสียงเชียร์ “แบนอร์” จากครั้งที่ได้เป็น “ประธานส้มหล่น” ผ่าทางตันความขัดแย้ง ระหว่างพรรคก้าวไกล-พรรคเพื่อไทย
ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้ “ประธานวันนอร์” พิจารณาตัวเองฐานสร้าง “บรรทัดฐานอัปลักษณ์” ทำให้อำนาจนิติบัญญัติไม่เข้มขลังเลยทีเดียว
หลายเสียงยังพูดกันว่า ไม่ควรปล่อยให้ “วันนอร์” ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ
ไม่เพียงแต่ประเด็นการทำหน้าที่เท่านั้น ในเรื่อง “คุณสมบัติ” ก็ดูว่า “วันนอร์” จะมีปัญหาอยู่ไม่น้อย
ย้อนไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 “วันนอร์” ที่อยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาชาติขณะนั้น ต้องเป็นผู้ลงนามรับรองผู้สมัคร สส.ของพรรค
เดิม พรรคประชาชาติ มีความตั้งใจที่จะส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตเพียง 19 คน ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และภาคใต้บางส่วนเท่านั้น
แต่ปรากฎว่า หลังการประกาศรับรองผู้สมัคร สส.โดย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พรรคประชาชาติ ที่ส่งผู้สมัคร สส. 19 เขต กลับเหลือผู้สมัครเพียง 15 เขตเท่านั้น
อีก 4 เขตที่หายไป แบ่งเป็น จ.สงขลา 2 เขต และ จ.สตูล 2 เขต ไม่ได้รับการประกาศชื่อเป็นผู้สมัคร เพราะ พรรคประชาชาติ ไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคประจําใน จ.สงขลา และ สตูล จึงไม่สามารถส่งผู้สมัคร สส.แบบแบ่งเขตใน 2 จังหวัดนี้ได้
โดยพรรคประชาชาติเองก็ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา แต่ศาลได้ยกคำร้อง ยืนยันว่า พรรคประชาชาติ ไม่มีสิทธิส่งผู้สมัคร สส.เขตใน 2 จังหวัดที่ว่า
เรื่องนี้ไม่น่าจบแค่ผู้สมัครถูกตัดสิทธิ เพราะการไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรค ก็เท่ากับการสรรหาผู้สมัคร ตามกระบวนการ “ไพรมารีโหวต” ที่กฎหมายกำหนดที่ พรรคประชาชาติ อ้างว่าทำแล้วนั้น “ไม่สมบูรณ์”
การที่ “วันนอร์” ลงนามในหนังสือรับรองผู้สมัคร 4 รายไปสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่ผ่านการทำไพรมารีโหวตอย่างถูกต้อง จึงเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน ฐานรับรอง “เอกสารเท็จ”
ตามมาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ที่สาระสำคัญระบุว่า ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหารตามมาตรา 50 (การทำไพรมารีโหวตผู้สมัคร สส.เขต) … หาก กกต.ทราบถึงการไม่ดำเนินการทำไพรมารีโหวตก่อนรับรองส่งผู้สมัคร สส. ต้องกล่าวโทษหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคนั้นต่อพนักงานสอบสวน
โดยมีการกำหนดโทษไว้ในมาตรา 120 ของกฎหมายฉบับเดียวกันว่า “หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ใดออกหนังสือรับรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง สส.ตามมาตรา 56 อันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี”
ไม่ใช่แค่ความผิดเฉพาะตัวที่ถึงขั้นถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง ขาดคุณสมบัติการเป็น สส.เท่านั้น ยังอาจเข้าข่ายความผิดที่ไปสู่การยุบพรรค ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้ง สส. 2560 มาตรา 132 ฐานมีเหตุอันควรเชื่อว่า หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลยให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมด้วย
น่าเสียดายที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร น้ำหนักเทไปทางแก้ปัญหาการเมืองของกลุ่มพรรคเสียงข้างมากขณะนั้น จนไม่ได้มีการอภิปรายเรื่องความเหมาะสม หรือคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ มิเช่นนั้นชื่อของ “วันนอร์” อาจไม่ผ่านตั้งแต่ตอนนั้น
หาก กกต.ไล่เบี้ยจากเหตุที่เกิดขึ้นจริงๆ “วันนอร์” ก็อาจขาดคุณสมบัติการเป็น สส. และถูกตัดสิทธิการเลือกตั้ง ที่เท่ากับเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องหลุดลอยไปด้วย
ดูท่า “ท่านประธานส้มหล่น” ที่วาสนาส่งได้เป็นประมุขนิติบัญญัติคำรบ 2 งวดนี้ จะอยู่ได้ไม่ยาวซะแล้ว
เป็น “ลาภมิควรได้” ที่ถึงเวลาต้องคืนให้ “เจ้าของตัวจริง”.