"แสวง" ชี้โจทย์ใหญ่ กกต.เปลี่ยนความคิดคน ให้คนเห็นต่างอยู่กันได้ มองคำถาม “กกต.มีไว้ทำไม” เหตุไม่ถูกใจ แจงยิบคดีคุณสมบัติ “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ชี้ความต่าง 3 ข้อ
วันนี้ ( 18 ส.ค.) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกระดับสูง( พตส.) ได้จัดอภิปราย หัวข้อ "กกต. มีไว้ทำไม" โดยนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ยินดีมาเป็นจำเลย คำถาม "กกตมีไว้ทำไม" ฟังมาตั้งแต่ปี 2562 เป็นคำถามที่แสดงความรู้สึกผิดหวัง ไม่ชอบใจ เลือกตั้งปี 2566 ก็ยังมีคำถามลักษณะนี้ซึ่งหน้าที่ กกต.นั้น อันดับแรก คือทำให้การเลือกตั้งสุจริต ยุติธรรม 2. ให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อทำให้บ้านเมืองดี การเมืองดี แต่กกต.ทำเพียงคนเดียวไม่สำเร็จหากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกคน
เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาส่วนตัวรู้สึกพอใจระดับหนึ่ง แม้จะมีปัญหาระหว่างทางเกิดขึ้นบ้าง แต่จำนวนผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 75 ถือว่ามากกว่าบางประเทศด้วยซ้ำ เรื่องร้องเรียนที่ปี 62 มีพันเรื่อง แต่คราวนี้น้อยหลายจังหวัดไม่มีเรื่องร้องเรียน และการเลือกตั้งมีพัฒนาการอย่างหนึ่ง วิธีการลงคะแนนของคนเปลี่ยนไป เลือกการเมืองตามอุดมคติ เลือกจากนโยบาย โดยเฉพาะประชานิยม แต่เห็นว่าโจทย์หลักที่เป็นวาระแห่งชาติคือการเปลี่ยนวิธีคิดของคน เพื่อทำให้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่ง กกต. เป็นเพียงหน่วยงานในการเลือกตั้ง ต้องหาวิธีในการทำให้เกิดพื้นที่ที่คนสามารถอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพราะหลักประชาธิปไตยต้องพูดด้วยหลักเหตุและผล นี่ก็คือหน้าที่ของสำนักงาน กกต.ที่ต้องร่วมกับเครือข่ายที่จะทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีคุณภาพ
"ผมเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนแรกที่จะมีหน้าที่พิจารณาเสนอให้ยุบพรรค ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ คนร้องยุบพรรคมา 135 เรื่อง ยกคำร้องไป 111 เรื่อง พรรคที่ 1 ยกไป 40 เรื่อง พรรคที่ 2 ยกมา 19 เรื่อง นี่คือความยุติธรรมเราทำตามหลักกฎหมาย แต่ฝ่ายการเมืองเอาไปพูดว่า จะมีการยุบพรรคเกิดขึ้นแต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะเราพิจารณาตามกฎหมายและข้อเท็จจริง เรายกไปแล้ว 111 เรื่องที่มีการร้องพรรคใหญ่ๆ พรรคดังๆ ซึ่ง กกต.ยกคำร้องไป 10 คำร้องตนก็โดน 10 คดี กกต.ไม่ได้มีหน้าที่ทำเกินกว่ากฎหมาย การที่เราทำตามกฎหมายแต่ไม่ได้ผลตามที่ต้องการก็จะถูกคำถามว่าทำไมไม่ทำแบบนั้น ไม่ทำแบบนี้ ดังนั้นยืนยันว่าเราทำตามกฎหมาย แต่ถ้าเราทำผิดกฎหมายเราจะโดน 157"
ขณะที่นายยุทธพร อิสรชัย คณะรัฐศาสตร์ สุโขทัยธรรมาธิราช มองว่าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมมีความสำคัญมาก จะต้องยึดเจตจำนงของประชาชนและเปิดโอกาสในการแข่งขันในสนามเลือกตั้งได้อย่างเสรีควบคู่กับความเป็นธรรม กฎหมายเลือกตั้งส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ความเสมอภาคระหว่างผู้เข้าแข่งขัน และมองว่าการมีกระบวนการควบคุมกำกับมากเกินไปจะทำให้การเลือกตั้งขาดความเสรี เกิดข้อจำกัดและถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือการเมือง ซึ่ง กกต.ในฐานะคนตัดสินต้องยึดหลักให้ดีเพื่อตอบโจทย์คนในสังคม ดังนั้น การมี กกต.และองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ต่อการพัฒนาการเมือง คือเสถียรภาพทางการเมือง การเมืองต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ครรลองของประชาธิปไตย ส่วนบทบาทของ กกต. จะต้องไม่เป็นสถาบันทางการเมืองที่ล้าหลัง และทำให้การเลือกตั้งตอบโจทย์ โดยต้องปรับตัว ไม่ถอยหลังไปสู่ยุคเก่า และต้องถามว่า กกต. วันนี้จะทำอะไรให้กับสังคม จึงอยากเห็น กกต.ลดความเป็นองค์กรภาครัฐ เพิ่มความเป็นองค์กรภาคสังคม และเป็น กกต.ของประชาชน
ขณะที่ในช่วงท้ายของการคำถามตอบ นักศึกษา พตส. ได้ถามนายแสวง ในประเด็นการทำงานของ กกต.ว่ามีการรังแกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ทั้งที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งว่าอันดับแรก ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่างที่สองคือ การเลือกตั้งคือความชอบธรรมที่จะมาบริหารประเทศ แต่ไม่ได้บอกว่า คนเลือกตั้งจะไม่มีความผิด หรือทำอะไรก็จะได้รับการยกเว้น ไม่ได้บอกว่าคนชนะเลือกตั้งจะทำอะไรก็ได้ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ส่วนกรณีการถือหุ้นสื่อที่เป็นลักษณะต้องห้าม มี 2 องค์ประกอบคือการเป็นเจ้าของ หรือการเป็นผู้ถือหุ้น แล้วเป็นสื่อมวลชนประเภทใด คนติดสินก่อนเลือกตั้งคือศาลฎีกา หลังการเลือกตั้งคือศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน กกต.ไม่ใช่คนตัดสินเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เป็นเรื่องประจำตัว ที่มีเอกสารยืนยันอยู่แล้ว หาก ผอ.ประจำเขตเลือกตั้งตรวจเจอก่อนก็ส่งเรื่องได้เลย หากเป็นแบบบัญชีรายชื่อ กกต.ก็เป็นคนส่ง ส่วนถ้าพบหลังการเลือกตั้ง คนส่งคือ สส. หรือ สว. หรือ กกต. แล้วแต่โครงสร้างของเรื่อง
สำหรับแนวทางการปรับ ข้อเท็จจริงที่ใช้วินิจฉัยเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ว่า 1. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น 2. เป็นกิจการหนังสือ หรือสื่อมวลชนใด 3. คือประกอบกิจการหรือไม่ และ 4. คือเลิกกิจการไปแล้วหรือเปล่า ซึ่งเมื่อดูข้อเท็จจริงที่ผ่านมาเราจะเห็นข้อเท็จจริง 3 ประการคือลักษณะแรกตรงตามตัวหนังสือคือเป็นผู้ถือหุ้นสถานีโทรทัศน์ ซึ่งเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 เรื่อง แต่พอมาเรื่องลักษณะข้อเท็จจริงที่ 2 คือไม่ได้เป็นสื่อ แต่ในหนังสือบริคณห์สนธิเขียนว่ามีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็จะฟังและวินิจฉัยว่าเข้าองค์ประกอบทั้ง 4 เรื่องหรือไม่ ซึ่งศาลให้ไปดูที่การประกอบกิจการว่า บริษัทนี้ถึงวางเสาไฟฟ้า ขายของ แต่มีวัตถุประสงค์ในการทำสื่อ ก็จะดูเพื่อให้รู้ว่ามีรายได้จากสื่อ แล้วศาลไม่ได้ระบุว่าหรือไม่เป็นช่วงของการรับสมัครหรือไม่ แต่จะดูแค่ว่าประกอบกิจการหรือไม่ มีรายได้จากสื่อหรือไม่ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นที่มีลักษณะข้อเท็จจริงที่ศาลรัฐธรรมนูญวางไว้ ถ้าไม่เคยประกอบกิจการสื่อเลย ศาลก็ไม่ถือว่าเป็นสื่อ ลักษณะอย่างนี้เป็นเกือบ 100 เรื่อง ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ซึ่งศาลยกคำร้อง
“กกต.จึงนำแนววินิจฉัยนี้มาใช้ว่า ไม่ประกอบกิจการสื่อเลยนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท ไม่เคยมีรายได้จากตรงนี้เลย คือบริษัทไม่ได้ตั้งใจคำเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น แต่หนังสือบริคณห์สนธิมีวัตถุประสงค์ว่าทำสื่อ มาลักษณะข้อเท็จจริงประการที่ 3 เป็นสื่อ ประกอบกิจการหรือไม่ ก็พบว่าตั้งแต่ต้น แต่ว่าหยุด ไม่ดำเนินการเพราะมีข้อพิพาทให้หยุด แต่ยังไม่เลิกกิจการ ดังนั้นข้อเท็จจริงจะต่างกันอยู่ 3 อย่างจากเคยก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่เคยมีแนววินิจฉัยมาก่อน แต่เมื่อมีปัญหา กกต.ใช่ไม่ใช่คนวินิจฉัย กกต.เป็นคนส่งเรื่อง” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวว่า ถ้าถามว่าทำไม กกต.ตรวจไม่เจอ ก็ต้องขอชี้แจงว่า กกต.จะมีการขอข้อมูลด้านต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 26 หน่วยงาน เมื่อส่งมาว่าไม่พบข้อมูล กกต.ก็จะไม่ทราบ กฎหมายจึงมีการเขียนไว้ด้วยว่า “รู้ทั้งรู้ว่าไม่มีสิทธิก็ยังไปสมัคร” บางครั้งกฎหมายก็เขียนให้พรรคการเมืองและผู้สมัครรับรองตัวเองด้วย ดังนั้นเมื่อหน่วยงานที่ตรวจสอบแจ้งมาว่า ไม่มีรายการตามนี้ไม่ว่าจะปี 2562 และ 2566 แต่มีคนมาร้อง กกต.ก็ดำเนินการตามกระบวนการ พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ต่างกันอยู่ 3 ข้อดังกล่าว แล้วยื่นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีใครมาแทรกแซงได้ เป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่แล้ว