มือ ศก.ก้าวไกล เชื่อพรรคเคาะโหวต “ไม่เห็นชอบ” แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย เหตุประกาศจับมือลุงอย่างชัดเจน ยอมรับผิดหวัง จับสัญญาณได้ตั้งแต่จิบ ‘ช็อคมินต์’ ไม่กังวลตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน
วันนี้ (18 ส.ค. 66) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เปิดเผยถึงทิศทางการรโหวตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลว่า ขณะนี้การจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ น่าจะชัดเจนแล้วว่า มีพรรครวมไทยสร้างชาติ เข้าร่วม และจากสัมภาษณ์ของนายภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่บอกว่า ได้เสียงครบ 314 เสียง ก็น่าจะมีพรรคพลังประชารัฐ มาร่วมด้วยเป็นพรรคสุดท้าย ซึ่งไม่น่าจะเหลือเหตุผลอะไรแล้วที่พรรคก้าวไกล จะงดออกเสียง ก็คงจะไม่เห็นชอบ แต่ก็ยังคงต้องมีมติจากที่ประชุมสส.ในวันที่ 21 สิงหาคม อีกครั้งว่า จะโหวตในทิศทางใด
นางสาวศิริกัญญา ยังบอกว่า พอคาดเดาสถานการณ์ได้ เพราะสัญญาณเริ่มออกมาตั้งแต่การเชิญไปพูดคุยที่พรรค มีการจิบเครื่องดื่มช็อกมิ้นต์ ก็เริ่มเห็นสัญญาณแล้วว่า อาจจะมีการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรครวมไทยสร้างขาติ และพรรคพลังประชารัฐ ก็พอจะเดาทิศทางได้ แต่ก็ยอมรับว่า รู้สึกผิดหวัง ไม่คิดว่า จะมาถึงวันนี้ เนื่องจากคิดว่าหาก 8 พรรคร่วมจับมือกันแน่นก็จะสามารถต่อสู้กับอำนาจนอกระบบ หรือ อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้
นางสาวศิริกัญญา ยังประเมินถึงการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ว่า เดายากมาก เพราะขณะนี้ยอมรับว่า อยู่วงนอก ได้แต่คอยดูว่าข่าวจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่า อาจจะมีสว.บางส่วนที่ ออกมาพูดชัดเจนว่า อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่เชื่อว่า ไม่ใช่สว.ทั้งหมด ก็ยังเอาใจช่วยให้การโหวตนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ด้วยดี
ส่วนที่มีการใช้คำว่า เป็นรัฐบาลแห่งชาติเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ นางสาวศิริกัญญา มองว่า หากประเทศเดินหน้าไปได้ ก็สามารถออกได้หลายทาง แต่ไม่ใช่ทางนี้ ทั้งนี้หากจะเป็นทางที่ยุติความขัดแย้งจริง พรรคก้าวไกลก็ยินดีด้วย สุดท้ายแล้วทั้ง 2 ฝั่ง จะไม่ต้องมาทะเลาะกัน ไม่ต้องขัดแย้งกันแล้ว ก็คิดว่า น่าจะดี แต่ก็คงจะไม่สร้างคู่ขัดแย้งขึ้นมาใหม่ หากเป็นรัฐบาลแห่งชาติจริง ต้องไม่ใช่ “ไม่ทะเลาะกับเพื่อไทย แต่มาทะเลาะกับพรรคก้าวไกลแทน”
เมื่อถามว่า พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้านหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ตอบว่า ก็เริ่มทำแล้ว ก่อนจะหัวเราะ แล้วบอกว่า ก็พร้อมทำงานเต็มที่ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหน และแม้ไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ประชาชนก็เข้าอกเข้าใจ ให้กำลังใจมาโดยตลอด และไม่ว่าอยู่ในสถานะไหน พวกเขาก็เป็นโหวตเตอร์ที่สนับสนุนพรรคก้าวไกล ซึ่งพอได้ยินแบบนี้ พรรคก้าวไกลก็ทำงานสู้ตาย และตอนนี้ก็เริ่มทำงานในฐานะฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ ซึ่งงานในสภา ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีฝ่ายอยู่แล้ว ทางพรรคก้าวไกลก็เดินหน้ายื่นกฎหมายมาเป็นระยะอยู่แล้ว และวันนี้ก็เริ่มตรวจสอบการทำงานของฝั่งหน่วยงานรัฐตามปกติแล้ว
เมื่อถามต่อว่า สามารถพูดได้เลยหรือไม่ว่า พรรคก้าวไกลจะเป็นผู้นำฝ่ายค้าน นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ก็ยังต้องพูดคุยกัน เนื่องจากวันนี้สถานะของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยังระหว่างการถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็เท่ากับว่า พรรคก้าวไกลไม่มีหัวหน้าพรรคในสภา ดังนั้นพรรคก้าวไกลจึงยังไม่รีบที่จะตัดสินใจเรื่องจะรับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านหรือไม่ ขอรอให้คดีของนายพิธาคลี่คลายก่อน แล้วค่อยมาคุยดีกว่า
ส่วนกรณีที่การจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นก่อนคดีของนายพิธา นางสาวศิริกัญญา บอกว่า ก็ไม่มีผลอะไร สถานะผู้นำฝ่ายค้านไม่มีผลอะไรกับการทำงานในฐานะฝ่ายค้านเลย แต่จะมีผลในเรื่องของการที่จะต้องเป็นตัวแทนอยู่ในคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งในเมื่อหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้เข้าสภา พรรคก้าวไกลจึงคิดว่า ไม่จำเป็นที่จะมีตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน
เมื่อถามว่า ประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะอยู่ได้กี่ปี นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ถ้าในแง่ดี ทางพรรคเพื่อไทยก็พูดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากสสร. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งสำเร็จ ก็จะยุบสภาทันที เพราะฉะนั้นกรอบระยะเวลาก็ค่อนข้างที่จะชัดเจน ว่า ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของสสร.ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ หากสสร.ทำงาน 6 เดือน สภานี้อาจจะมีอายุได้ 2 ปี ก็น่าจะจบแล้ว แต่หากอายุของสสร.ยาวออกไป ก็อาจจะนานกว่านั้น แต่สุดท้ายก็ต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงานดูว่า จะมีข้อขัดแย้งกันเองอย่างไรหรือไม่ ที่จะนำไปสู่การยุบสภา ก่อนที่โดยที่ไม่ต้องรอให้รัฐธรรมนูญแก้ไขเสร็จ ซึ่งกรอบระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 4 ปีแน่นอน ถ้าเกิน 4 ปี ถือว่า มีเจตนาที่จะยืดระยะเวลาออกไป
ทั้งนี้สิ่งที่พรรคเพื่อไทยตัดสินใจในวันนี้จะส่งผลกระทบกับพรรคเพื่อไทยในอนาคตหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย ว่า การที่ตัดสินใจอะไรไป ต้องมีผลที่ต้องตามมาแน่นอน และก็เคยพูดมาบ้างแล้วว่า การตัดสินใจครั้งนี้ มีราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่า ต้องนำเงินไปจ่าย แต่มีต้นทุนที่สูงมาก ที่เขาจำเป็นที่จะต้องแบกรับไว้ และการที่ไม่ฟังเสียงของประชาชน หันหลังให้กับคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน คงจะมีอะไรตอบแทนที่มากไปกว่าการจัดตั้งรัฐบาลว่า ที่อยู่เบื้องหลังที่เขาจำเป็นที่จะต้องทำ ก็พยายามทำความเข้าใจ