เมืองไทย 360 องศา
ในที่สุดฝ่ายที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ก็เดินมาถึงจุดนี้จนได้ ในแบบที่ว่า “ฝืนเล่นละคร” กันต่อไปไม่ไหว ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ซึ่งล่าสุดเพื่อไทยก็เป็นฝ่าย “ถีบ” ก้าวไกลออกไปให้พ้นทาง เพราะเมื่อเปิดทางให้ถอยออกไปแบบสมัครใจ แต่ก็ยัง “เกาะแน่นเป็นตุ๊กแก” ดังนั้น เมื่อถึงเวลาก็ต้องจัดการขั้นเด็ดขาด เพื่อหวังว่าตัวเองได้ไปต่อ
ฟังการแถลงของพรรคเพื่อไทย หลังการพูดคุยกับก้าวไกลเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ความหมายก็คือ มีความพยายามให้ก้าวไกลถอนตัวออกไปแล้ว แต่เมื่อไม่ยอมยังเกาะแน่น จึงต้องใช้ไม้แข็ง “ถีบออกไป” คือ “ฉีกเอ็มโอยู” สลายขั้ว 8 พรรค โดยพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
เวลา 14.00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค แถลงผลการหารือร่วมกับพรรคก้าวไกล และ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล
นายประเสริฐ กล่าวว่า การแถลงของพรรคเพื่อไทยวันนี้ สืบเนื่องจากช่วงเช้าเวลา 09.30 น. พรรคเพื่อไทยได้หารือกับพรรคก้าวไกล ใช้เวลาหารือร่วม 2 ชั่วโมง และการหารือเสร็จสิ้น จากนั้นพรรคเพื่อไทยได้แจ้งผลการหารือผลสรุปต่างๆ ทางโทรศัพท์ไปยังพรรคร่วมแกนนำ 8 พรรคถึงการตั้งรัฐบาลในครั้งนี้
จากนั้น นพ.ชลน่าน อ่านแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทย ว่า เริ่มต้นใหม่ร่วมผ่าทางตันหาทางออกให้ประเทศ เนื่องจากการตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้จับมือร่วมกับพรรคอีก 6 พรรค ร่วมเสียงได้ 312 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำ และเสนอ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี
ทั้ง 8 พรรคมีข้อสรุปภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีความเห็นอย่างชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ยึดมั่นในการมีสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศและไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้ โดยมีเพียง 324 เสียงจากที่ต้องการถึง 376 เสียง ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้สนับสนุนพรรคก้าวไกลอย่างเต็มความสามารถทั้งการอภิปราย และยกมือสนับสนุน 141 เสียง แต่เนื่องจากปรากฏเงื่อนไขของพรรคการเมืองอื่นๆ และสมาชิกวุฒิสภา ไม่ยอมรับนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยพรรคก้าวไกล รับทราบท่าทีเหล่านี้ แต่ยืนยันไม่ปรับเปลี่ยนนโยบาย จึงเป็นการแน่ชัดว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล จะไม่สามารถผ่านการลงมติเห็นชอบจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งได้
ดังนั้น ที่ประชุม 8 พรรคร่วม จึงมีมติส่งมอบภารกิจแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้พรรคเพื่อไทย โดยเห็นชอบแนวทางให้พรรคเพื่อไทย หาเสียงสนับสนุนทั้งจากพรรคการเมืองนอกกลุ่มพรรคร่วมเดิม และ ส.ว.ได้
เมื่อได้รับมอบหมายภารกิจ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าเพื่อหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติมทั้งจาก ส.ว. และ ส.ส. โดยการเชิญหลายพรรคการเมืองเข้าหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่ทำการพรรคเพื่อไทย และส่งตัวแทนรับฟังความคิดเห็น ส.ว.ทั้งเป็นกลุ่มและรายบุคคล พบว่า นโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังคงเป็นเงื่อนไขหลัก ขณะที่บางพรรคและบางคนแสดงเจตนาอย่างชัดแจ้งที่จะไม่สนับสนุนการร่วมรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในทุกกรณี
ในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคเพื่อไทย ได้ปรึกษาหารือกับพรรคก้าวไกล ขอถอนตัวจากการร่วมมือกันและ เดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ เสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยและนายเศรษฐา ขอยืนยันชัดเจนว่า เราจะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112 และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคก้าวไกลอยู่ในพรรคร่วม พรรคเพื่อไทยจะใช้ความพยายามรวบรวมเสียง ให้เพียงพอต่อการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเหมาะสม และพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านและยืนยันจะทำงานการเมืองในมิติใหม่ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ในภารกิจที่สำคัญ ดังนี้
1. เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่างๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง ส.ส.ร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
2. นโยบายที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมได้นำเสนอต่อประชาชน ซึ่งมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน อาทิ กฎหมายสมรสเท่าเทียม กฎหมายสุราก้าวหน้า การปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับเป็นระบบสมัครใจ ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาลพรรคเพื่อไทยพร้อมที่จะผลักดันร่วมกับพรรคร่วมเพื่อให้นโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนดำเนินการได้ประสบความสำเร็จ
พรรคเพื่อไทย ขอแสดงความจริงใจต่อเพื่อนมิตรทุกพรรค และ ส.ว. รวมทั้งประชาชนว่า นี่คือ แนวทางที่จะรักษาสถาบันสำคัญของชาติให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งประเทศ และช่วยผลักดันความต้องการของประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดและเส้นทางที่ยากลำบากนี้ไว้ได้ เพื่อให้ภารกิจนำพาประเทศพ้นวิกฤต
สร้างสรรค์ประชาธิปไตย แก้ไขความขัดแย้ง คืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ปลดพันธนาการจากกลไกที่ไม่ปกติให้คืนสู่ความปกติ และใช้ประสบการณ์ และความสามารถของบุคลากรของพรรคเพื่อไทยเร่งแก้วิกฤตเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของพี่น้องประชาชนโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งเป็นกติกาสูงสุดจากอำนาจประชาชน
แน่นอนว่า ในคำแถลงดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย หากก่อนหน้านี้เป็นแถลงการณ์ของ พรรคก้าวไกลช่วงเป็นแกนนำพรรคร่วม 8 พรรค ป่านนี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ไปเรียบร้อยแล้ว คงไม่เป็น นายกฯ ทิพย์ เช่นวันนี้ และไม่รู้ว่าตอนนี้ที่อ้างว่า “ไข้ขึ้น” เป็นเพราะคิดมาก เพราะเจ็บใจตัวเอง หรือว่า “โกรธบางคน” ในพรรคก้าวไกล ที่สกัดไม่ให้ตัวเองได้เป็นายกฯหรือเปล่าก็ไม่รู้
เอาเป็นว่า เมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย มันก็เป็นไปได้สูงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ที่จะได้รับการเสนอชื่อ เป็นนายกฯน่าจะได้รับเสียงโหวตเพียงพอ แต่คงต้องมีการให้คำมั่นอย่างชัดเจนกันในสภาว่า “ไม่แก้มาตรา 112” ส่วนเรื่องจะเล่นตุกติกดึงเอาพรรคก้าวไกล มาร่วมภายหลังนั้นก็คงไม่ต้องกังวล เพราะหากทำแบบนั้นมันก็เหมือนกับฆ่าตัวตาย เชื่อว่าคงไม่ทำแบบนั้นแน่ๆ
และที่สำคัญ นับจากนี้ การเมืองจะกลับเข้าสู่เส้นทางที่ควรจะเป็นแล้ว นั่นคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคก้าวไกล จะกลายเป็น “คู่แข่ง” กันอย่างชัดเจนและเต็มตัว นั่นคือ “จากมิตรกลายเป็นศัตรู” และต่อไปคำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ก็จะเริ่มจืดจางลง และนำมาขาย หรือหากินทางการเมืองอีกไม่ได้ง่ายๆ แล้ว
อย่างน้อยในทางการเมืองที่รับรู้กันว่าทั้งสองพรรคเป็น “คู่แข่ง” จะเข้าสู่การแข่งขันกันอย่างเต็มตัวและเปิดเผยนับจากนี้ไป และสิ่งที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงก็คือ โอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะกลายเป็นแกนนำของ “ขั้วใหม่” ที่จะถูกผลักเข้าสู่ฝ่าย “อนุรักษนิยม” เพื่อสู้กับพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ขณะเดียวกัน สำหรับพรรคก้าวไกล เมื่อไปเป็นฝ่ายค้าน และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็จะได้เป็นผู้นำฝ่ายค้าน หากรอดจากคดี “หุ้นสื่อไอทีวี” ทั้งที่พิจารณาตามรูปการณ์แล้ว “น่าจะรอดยาก” แต่เอาเป็นว่าเอาทีละช็อต มองทีละก้าวก็แล้วกัน ซึ่งเมื่อถึงเวลาจริงมันก็ไม่ง่ายอีก เพราะต้องทำงานร่วมกับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็นรวมไทยสร้างชาติ หรืออาจจะเป็นประชาธิปัตย์ ก็เป็นไปได้ ซึ่งมันไม่หมู เพราะคงโชว์เดี่ยวได้ไม่ง่ายแน่นอน !!