xs
xsm
sm
md
lg

หดหู่ สังเวช! พิธีกรดัง ฟาดแรง “ศ.ธงทอง” ประชด เสนอตั้ง “ส.ว.” เป็น “รมต.” “สุวินัย” ชี้ “ก้าวไกล” ร้ายกว่า “เพื่อไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปู-จิตกร บุษบา โพสต์ข้อความถึง ธงทอง จันทรางศุ
“ปู จิตกร บุษบา” ยก 6 ข้อ ฟาดแรง! ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ รู้สึกหดหู่ สังเวช เสียใจ และเสียดายภาษีของแผ่นดิน หลังโพสต์ความเห็นเชิงประชด เสนอตั้ง ส.ว.เป็นรัฐมนตรี ถามมีสักแวบไหมที่จะให้หลักคิดที่ถูกต้องแก่สังคม “กห.-มท.” ซะเลย “สุวินัย” ชี้ “ก้าวไกล” ร้ายกว่า “เพื่อไทย”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (25 ก.ค. 66) เพจเฟซบุ๊ก ปู จิตกร บุษบา ของ ปู-จิตกร บุษบา พิธีกรและคอลัมนิสต์ชื่อดัง โพสต์ภาพ พร้อมข้อความระบุว่า

“เรียน ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตตำแหน่งอีกมาก ในองค์กรต่างๆ และตำแหน่งที่รัฐบาลในอดีตตั้งท่าน
..

เมื่อผมได้อ่านโพสต์ของท่านที่สื่อนำมาเสนอต่อที่ว่า...

“มีผู้ให้ความเห็นว่า ในเมื่อ ส.ว.มีความสำคัญในการตั้งรัฐบาลถึงขนาดนี้ ควรแบ่งโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีให้ ส.ว. เป็นเองเสียเลย เช่น กลาโหม หรือ มหาดไทย ให้รู้แล้วรู้รอดไป”

ผมรู้สึกหดหู่ สังเวช เสียใจ และเสียดายในภาษีของแผ่นดินที่มอบแก่ท่านผ่านตำแหน่งต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง
..
๑. แม้จะเป็นการประชดประชัน แต่สัญชาตญาณของความเป็นครูบาอาจารย์ของท่านไม่มีหลงเหลือสักนิดเลยหรือ ขณะนำประเด็นดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อในเฟซบุ๊ก กรุณาบอกผมสักนิดเถอะครับว่า “วิญญาณครู” มันผุพัง ล่มสลาย จากเหตุอะไร ให้ครูมือสมัครเล่นอย่างผม รู้ไว้เพื่อสำรวจตัวเองและเฝ้าระวัง ก่อนมันจะผุพังและล่มสลายเช่นนี้ในวันข้างหน้า

๒. ขณะโพสต์เฟซบุ๊ก ไม่มีสักวูบเลยหรือครับ ที่ “อดีตรองคณบดี คณะนิติศาสตร์” อดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตเลขาธิการสภาการศึกษา ฯลฯ อยากจะ “เป็นหลักทางสติปัญญา” ให้แก่สังคมสักนิด หลังจากหัวเราะครื้นเครงกันจบแล้ว
..
๓. มีสักแว้บไหมครับ ที่อยากจะสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กว่า ที่ ส.ว.มีความสำคัญในการตั้งรัฐบาลครั้งนี้ ก็เพราะ “รัฐธรรมนูญ” กำหนดหน้าที่ “ร่วมพิจารณาเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” เอาไว้ มันเป็น “หน้าที่” ที่เรา-ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ล้วนมีส่วนร่วม “ลงประชามติ” ด้วยกันมาแล้วทั้งนั้น ประชาชนเป็นคนสถาปนาอำนาจนี่้ ให้ทำหน้าที่นี้ ผ่านการเห็นชอบให้ “บทเฉพาะกาล” ที่ให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ มีผลบังคับใช้ เป็นกติกาที่เปิดเผย รู้มาก่อน ก่อนจะมีการแข่งขัน ไม่ใช่มาแก้ขณะแข่งขันหรือเขียนขึ้นหลังการแข่งขัน แล้วย้อนไปมีคุณมีโทษต่อผู้หนึ่งผู้ใด พรรคหนึ่งพรรคใด และกติกานี้ จะจบสิ้นในระยะเวลา ๕ ปี นับจากมีรัฐสภาครั้งแรกหลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ ประกาศใช้ อ้อ!! ผมลงประชามติ ไม่รับบทเฉพาะกาลนี้นะครับ แต่ผมไม่งอแงเมื่อประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศเขารับ เมื่อรับ มันก็กลายเป็น “กติกา” ที่สมาชิกรัฐสภา มีศักดิ์และสิทธิเท่ากันในการโหวต
..

ภาพ ปู-จิตกร บุษบา ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเพจเฟซบุ๊ก ปู จิตกร บุษบา
๔. อยากจะให้ผู้คนใคร่ครวญสักนิดไหมครับว่า การตั้งรัฐบาลนั้น เริ่มจากประชาชนเลือกผู้แทน ผู้แทนเลือกนายกฯ (ร่วมกับ ส.ว. เป็นกรณีเฉพาะกาล) จะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งหากผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้รับการ “เห็นชอบ” จากผู้แทนราษฎรคนอื่นๆ พรรคอื่นๆ เกิน ๓๗๖ เสียง ส.ว.ก็ไร้ค่า แล้วทำไหม เขาถึงรวมเสียง หรือขอเสียง “เห็นชอบ” จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันไม่ได้ล่ะ

๕. มันง่ายมากที่จะทำให้คนคิดว่า ส.ว. เป็นผู้ร้าย เป็นซากเดนของเผด็จการ เอ๊ะ! รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งยุคยึดอำนาจ และยุคหลังการเลือกตั้งครั้งแล้ว ได้ตั้งอาจารย์ดำรงตำแหน่งและมีค่าตอบแทนใดๆ บ้างไหมครับ ผมก็ชักจะหลงๆ ลืมๆ แต่ ส.ว.เป็นรัฐมนตรีไม่ได้ครับ แม้ลาออกหรือพ้นจากตำแหน่งมาแล้ว ก็ต้องเว้นไปอีก ๒ ปี จึงจะเป็นรัฐมนตรีได้ เอาแค่โควตาจาก อ.ธงทอง และผองมิตร คงไม่ได้แน่ ยกเว้นไปแก้รัฐธรรมนูญกันเสียก่อน
..
๖. ความรู้เพียงเท่านี้ อาจารย์เคยคิดที่จะเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ย้ำเตือน เพื่อให้สังคม มี “หลักคิด” แทนที่จะใช้แต่ “อารมณ์” สักครั้งไหมครับ จะในฐานะอะไรก็ได้ที่อาจารย์มีอยู่ จะถือว่าทำหน้าที่ “ครู” ให้ความรู้ผู้คน ด้วยสำนึกในประโยชน์ที่เคยได้รับจากแผ่นดินผืนนี้ จากเงินภาษีของผู้คนในแผ่นดินเดียวกันนี้สักครั้ง--ในสถานการณ์ขัดแย้ง ยุ่งยาก และไร้หลักคิดสำคัญ อย่างปัจจุบันนี้
..
หากจะบอกว่า เป็นเพียงอารมณ์ขัน มันก็ช่างผิดกาลเทศะ และผิดจาก “สถานะ-ความรู้” ของตัวอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง
..
ผลที่เกิดแก่ผู้อ่าน คือ การปรุงอารมณ์ให้ฟุ้งไป ไร้ค่า ไม่เป็นเชื้อของสติปัญญา ไม่สร้างการยั้งคิด

ผลที่เกิดแก่ประเทศชาติ คือ ผู้คนเผชิญหน้า ขัดแย้งแตกแยก ซึ่งควรจะเยียวยาได้ด้วย “ความรู้” จากผู้ที่มี “สถานะในสังคม” อย่างอาจารย์ ซึ่ง “แทนคุณแผ่นดิน” ในบทบาทหน้าที่ ค่าตอบแทน และสวัสดิการต่างๆ มานับไม่ถ้วนแล้ว
..

แต่ผมก็ “ใจเหี่ยว” กับข้อความในโพสต์นี้ของอาจารย์เป็นที่สุด

ขออภัยที่เสนอหน้าไปคาดหวัง
หากจะมีสักครั้ง มาให้ความรู้แก่ประชาชนกันเถอะครับ.”

ภาพ โพสต์ความเห็นของ ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
ก่อนหน้านี้ “ปู จิตกร บุษบา” แชร์ภาพ และข่าว จาก “แนวหน้าออนไลน์” รายงานว่า 24 ก.ค. 66 ศ.พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กระบุข้อความว่า มีผู้ให้ความเห็นว่า ในเมื่อ ส.ว.มีความสำคัญในการตั้งรัฐบาลถึงขนาดนี้ ควรแบ่งโควตาตำแหน่งรัฐมนตรีให้ ส.ว. เป็นเองเสียเลย เช่น กลาโหม หรือ มหาดไทย ให้รู้แล้วรู้รอดไป
..
ทั้งนี้ ได้มีผู้เข้าไปคอมเมนต์ว่า เสนอชื่อ ส.ว. ผู้ทรงเกียรติท่านไหนดีครับอาจารย์ ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง ตอบว่า ผมนึกออกอยู่สองสามชื่อ ถ้าพวกเราช่วยกันนึกน่าจะตรงกันหลายคนครับ
..

#กรุณาแสดงความเห็นอย่างสุภาพชน”

ภาพ ดร.สุวินัย ภรณวลัย จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Suvinai Pornavalai ระบุว่า

“โดนหลอกกันทั้งประเทศ!! ใน 14 ล้านคนที่ลงคะแนนให้ก้าวไกล น่าจะเกินครึ่งที่ลงให้ เพราะหวังว่าจะได้เดือนละ 3,000 โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด

กกต.ปล่อยให้พรรคการเมืองหาเสียงว่าจะให้แบบนี้ได้ยังไง …นี่คือ การบ่อนทำลายเศรษฐกิจของประเทศให้ย่อยยับ ด้วยนโยบายโคตรประชานิยมชัดๆ

กล่าวในความหมายนี้ ก้าวไกลชั่วร้ายกว่าเพื่อไทยหลายเท่า!!

เพราะที่ผ่านมา เพื่อไทยชั่วร้ายแค่เรื่องเดียว คือ โคตรโกงด้วยโคตรประชานิยมเท่านั้น อย่างโครงการจำนำข้าว

ส่วนก้าวไกล นอกจากชั่วร้ายเรื่องโคตรประชานิยมแล้ว ยังชั่วร้ายเรื่องโค่นสถาบัน ชั่วร้ายเรื่องแยกดินแดน ชั่วร้ายเรื่องชักศึกเข้าบ้าน ฯลฯ”


กำลังโหลดความคิดเห็น