“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! โทษ 5 ประการเหล่านี้ในบุคคลผู้พูดมาก” คือ
1. ย่อมพูดปด 2. ย่อมพูดส่อเสียด 3. ย่อมพูดหยาบคาย 4. ย่อมพูดเพ้อเจ้อ 5. สิ้นชีวิตแล้ว ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต (ความล่มจมตกต่ำ) นรก
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! โทษ 5 ประการนี้แลในบุคคลผู้พูดมาก”
ข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นพุทธพจน์ที่มีมาปรากฏในพระไตรปิฎก ปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่มที่ 22
โดยนัยแห่งพุทธพจน์ข้างต้นมีเนื้อหาสาระชัดเจนแทบไม่ต้องอธิบายขยายความเพิ่มเติม และเป็นสัจธรรมที่เป็นอกาลิโกคือ ไม่เสื่อมสลายตามกาลเวลาหรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็จริงตลอดกาล จากอดีต ปัจจุบัน และจะยังคงจริงต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแวดวงการเมืองจะเห็นได้ชัดเจนในการปราศรัยหาเสียงก่อนเลือกตั้ง และทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะต้องมีนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพูดมาก และเข้าข่ายมีโทษ 5 ประการข้างต้น และนักการเมืองประเภทนี้เองทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้อยค่า และทำให้ศรัทธาของประชาชนหดหาย เบื่อหน่ายการเมือง ดังที่เป็นอยู่ในประเทศไทยขณะนี้
ถ้าท่านผู้อ่านติดตามการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีผู้สมัครบางคนหรือบางกลุ่มจากบางพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคก้าวไกลที่เรียกตนเองว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ แต่จากพฤติกรรมการแสดงออกทางวาจาก่อให้เกิดปัญหากับผู้คนในสังคม ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขัดต่อหลักกตัญญู กตเวทีอย่างร้ายแรง แม้กระทั่งผู้นำประเทศสังคมนิยมเฉกเช่นสี จิ้นผิง ยังยึดถือหลักธรรมข้อนี้ จะเห็นได้จากการอ้างสุภาษิตที่ว่า “ถ้าท่านดื่มน้ำจนท่านไม่ควรลืมคนขุดบ่อ” แต่คนไทยซึ่งส่วนใหญ่นับถือพุทธ จะต้องเรียนรู้คำสอนของพุทธศาสนาข้อที่ว่า กตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี (นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา) แต่เหตุใดนักการเมืองเหล่านี้ จึงไม่เรียนรู้และยึดถือธรรมข้อนี้ แต่ที่น่าแปลกใจมากไปกว่านี้ก็คือว่า แล้วคนไทยส่วนหนึ่งเลือกนักการเมืองซึ่งไม่กตัญญูรู้คุณของผู้สร้างประเทศไทยได้อย่างไร
อีกประการหนึ่ง ในการปราศรัยหาเสียงก่อนการเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมา เกือบทุกพรรคการเมืองได้แข่งกันประกาศนโยบายประชานิยมลด แลก แจก แถมในรูปแบบต่างๆ แต่ที่เห็นว่าเข้าข่ายหลอกล่อให้ประชาชนเกิดความเคลิ้บเคลิ้มและคล้อยตามมากกว่าพรรคอื่น เห็นจะได้แก่นโยบายแก้ปัญหาปากท้องของพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท เบี้ยยังชีพคนชรา 3,000 บาท เป็นต้น ซึ่งแล้วแล้วแต่ไม่สอดคล้องกับฐานะทางการเงิน การคลังของประเทศไทยขณะนี้ จึงมีโอกาสที่จะทำได้น้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากไปเพิ่มภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถูกถามว่าจะทำได้หรือไม่และเมื่อใด ทำให้หัวหน้าพรรคตอบแบ่งกึ่งปฏิเสธ โดยมีเงื่อนไขเวลา จึงเข้าข่ายพูดก่อนคิดทีหลัง เพื่อให้ประชาชนเกิดความอยาก และลงคะแนนเลือกพรรคนี้ ดังนั้น จึงเท่ากับพูดมากกว่าทำ
แต่อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งออกมาปรากฏว่า พรรคก้าวไกลได้รับเลือกเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยจำนวน 151 ที่นั่งจากจำนวน 500 ที่นั่งหรือเท่ากับ 30.2% ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนรวมคือ 500 ที่นั่ง โดยมีคะแนนที่ได้รับ 14 ล้านเสียงซึ่งก็ไม่ถึงครึ่งของจำนวนรวมเช่นกัน
ดังนั้น การที่พรรคนี้อ้างว่าเป็นมติของคนส่วนใหญ่ ก็คงไม่ตรงกับความจริง แต่ถึงกระนั้นพรรคนี้ก็เดินสายป่าวประกาศให้ทั้ง ส.ว.และ ส.ส.จากพรรคต่างๆ สนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเป็นพฤติกรรมที่ผู้คนทั้งหลาย ซึ่งมิใช่สาวกของพรรคนี้เห็นแล้วเกิดข้อกังขาว่านี่หรือคนรุ่นใหม่ทำอะไรเกินเลยความพอดี ไม่ประมาณตน ซึ่งขัดต่อหลักธรรมของพุทธศาสนาที่ว่าด้วยสัปปุริสธรรม 7 ประการคือ
1. ธัมมัญญุตาคือ รู้จักเหตุได้แก่ รู้จักเหตุปัจจัยอันเป็นกฎธรรมชาติเกี่ยวกับสรรพสิ่ง
2. อัตถัญญุตาคือ รู้จักผลที่เกิดจากการกระทำหรือเกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ
3. อัตตัญญุตาคือ รู้จักตนเองว่าโดยฐานะเพศภาวะ ความรู้ ความสามารถ และคุณธรรม จริยธรรม เป็นอย่างไร
4. มัตตัญญุตาคือ รู้จักความพอเหมาะ พอดี
5. กาลัญญุตาคือ รู้จักกาลเทศะว่า เวลาไหนควรทำ และไม่ควรทำอะไร
6. ปริสัญญุตาคือ รู้จักคนรอบข้างหรือชุมชนที่ตนเข้าไปเกี่ยวข้องว่าคนไหนหรือชุมชนใด เมื่อเข้าไปแล้วควรทำอย่างไร
7. ปุคคลัญญุตาคือ รู้จักบุคคลได้แก่รู้คนไหนเป็นอย่างไรดีหรือเลว ควรคบและไม่ควรคบ
หลักธรรม 7 ประการข้างต้น ถ้านำมาเป็นตัวชี้วัดพฤติกรรมบุคลากรทางการเมืองของพรรคก้าวไกลแล้ว ดูเหมือนว่าจะขัดกันเกือบทุกข้อ จึงยากที่จะได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ดำรงตนอย่างเคร่งครัดในหลักธรรมของพุทธศาสนา และจงรักภักดีต่อสถาบันหลักของชาติ สุดท้ายฝากข้อคิดจากวาทะของพระอุบาลีเถระที่ว่า “โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก”