xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวไกลกลับลำ ค้านศาล รธน.วินิจฉัยชงนายกฯ ซ้ำ เล็งใช้กลไกสภา โว 8 พรรคจับมือแน่น ส.ว.ทำอะไรไม่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โรม” เผย มติที่ประชุม ส.ส.ก้าวไกล ไม่เห็นด้วยให้อำนาจศาล รธน. วินิจฉัยมติรัฐสภาเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำ เล็งใช้กลไกสภาหาทางออก มองเป็นความเห็น “เสรีพิศุทธ์” เสนอถอยโหวตนายกฯ ก่อนเข้ามาร่วม รบ.ภายหลัง เชื่อ 8 พรรค จับมือกันแน่น ส.ว.ก็ทำอะไรไม่ได้ สำเร็จหรือไม่ต้องพูดคุยกัน

วันนี้ (25 ก.ค.) นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม ส.ส.ในวันนี้ ว่า วันนี้เป็นการประชุม ส.ส.เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การประชุมสภา และอย่างที่ทราบว่า วันนี้มีการงดประชุมสภาไป ในพรรคก้าวไกลก็มีการถกเถียบถึงประเด็นที่เกี่ยวพันในการดำเนินงานในสภาต่อไป แบ่งเป็น 2 ข้อ ประการแรก เดิมทีได้มีการนัดประชุม ในวาระหลัก 2 วาระ คือ วาระเลือกนายกรัฐมนตรี และวาระที่พรรคยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ม.272 ปิดสวิตช์ ส.ว.ที่ให้อำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี และเมื่อมีการงดการประชุม ทำให้ไม่สามารถพิจารณาวาระใดๆ ได้เลย

พรรคก้าวไกล จึงมองว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทุกฝ่ายพูดตรงกันว่า มีความจำเป็นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาของประเทศที่ไม่สามารถรอได้ เนื่องจากประชาชนต้องการให้มีผู้นำที่จะมาแก้ไขปัญหา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับกลายเป็นว่า มีการงดองค์ประชุม ทำให้ในการพิจารณาเรื่องโหวตนายกรัฐมนตรีล่าช้าออกไป จึงทำให้เสียดายที่จะมีโอกาสในการพูดคุย

ทั้งนี้ แม้จะมีการอ้างในเรื่องผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยข้อบังคับที่ 41 ของรัฐสภาในการเสนอญัตติ เสนอชื่อโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำได้หรือไม่ ซึ่งต้องเรียนตามตรงว่า ในวาระการพิจารณาของสภาไม่ได้มีแค่เรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรี ทำไมถึงไม่เอาวาระที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.272 มาพิจารณา เพราะเราไม่จำเป็นต้องปล่อยเวลาไว้เฉยๆ สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ และเป็นการหาทางออกให้กับวุฒิสมาชิกที่ต้องการปิดสวิตช์ตัวเอง เป็นการเดินหน้าออกจากปัญหาที่เป็นชนักติดหลักที่ทำให้ประเทศเดินต่อไปไม่ได้ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าทำไมถึงงดการประชุม

และการที่รอคอยว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรนั้น จะทำให้สุดท้ายการพิจารณาการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่บนพื้นฐานของความไม่แน่นอน อาจจะเนิ่นช้าต่อไป และตนขอบอกว่า ในนามของพรรคก้าวไกล เชื่อมั่นในการทำงานของสภา แม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบว่า การเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ครั้งที่ 2 ไม่สามารถทำซ้ำได้ โดยทุกฝ่ายมีความกระจ่างอย่างชัดเจนว่าไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ซึ่งมีประชาชนบางส่วนเสนอให้พรรคก้าวไกลร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ตนจึงไม่อยากเห็นการแทรกแซงอำนาจของรัฐสภาโดยศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว

“พรรคก้าวไกล มองว่า เรื่องนี้เราสามารถจัดการกันเองได้ในสภา วันนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นว่า การตีความดังกล่าว มันเป็นการตีความที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นักวิชาการเข้าชื่อเป็นอาจารย์ มีชื่อเสียงก็เข้าชื่อร้อยกว่าท่าน หลายท่านออกมาให้ความเห็น มันกระจ่างอย่างชัดเจนว่าการที่วภามีมติในวันนั้น มันไท่ชอบด้วยกฎหมาย”

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า ในเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงเสนอทางออกได้ หากพิจารณาข้อบังคับการประชุมต่างๆ สามารถยื่นญัตติให้สภาทบทวนการมีมติที่เคยมีไปแล้ว ซึ่งสามารถทำได้ อะไรที่ปฏิบัติผิดไป เราสามารถทบทวนได้เสมอ ดังนั้น ในการประชุมรอบต่อไป พรรคก้าวไกลจะหารือกับประธาน เพื่อให้มีการทบทวน หากสภาเห็นด้วยกับญัตติที่พรรคก้าวไกลเสนอ ก็จะเป็นการปลดล็อก และทำให้การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีไม่ต้องผูกพัน กับมติเดิมอีกต่อไป หมายความว่า เสนอชื่อซ้ำได้

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกล จะเสนอชื่อนายพิธา ซ้ำหรือไม่ เนื่องจาก นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ว่า หากเสนอชื่อแคตดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ส.ว.จะโหวตให้มากกว่า นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล พูดอย่างชัดเจนว่า ให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำที่จะเสนอแคตดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ส่วนการเสนอของเราเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเป็นการเสนอเพื่อปลดล็อกสิ่งที่ผิดพลาดในที่ประชุมของสภา ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ไม่ควรจะเป็นต่อไป และสามารถหาทางออกได้โดยไม่ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เมื่อถามว่า เรื่องนี้เป็นการตอกย้ำความผิดพลาด การยกเก้าอี้ประธานสภา ให้กับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ หรือไม่ นายรังสิมันต์ ระบุว่า ต้องพิจารณาเรื่องบริบทต่างๆ ณ ตอนนั้นมีข้อคิดเห็นเรื่องผู้ที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ตรงกัน สุดท้ายนำไปสู่การถอยคนละก้าว ซึ่งตนก็คิดว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา มีความตั้งใจ ตนคงไม่สามารถไปวิจารณ์ว่าการทำหน้าที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร ประชาชนควต้องช่วยกันพิจารณา

เมื่อถามว่า หากมีการทบทวนมติแล้วเสนอชื่อซ้ำได้คำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินจะถูกตีตกไปหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องไปพิจารณาในข้อกฎหมาย

ส่วนหากสามารถทำได้แล้วโมเมนตัมในการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นของก้าวไกลหรือไม่นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เบื้องต้นคงต้องดำเนินการเลือกนากยกรัฐมนตรีก่อน ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ จะต้องหารือกันใน 8 พรรค และตนคิดว่า หลักการที่เราอยากจะเห็น คือ การเดินหน้าตามมติของประชาชน เราทำหน้าที่แทนประชาชน 312 คน ก็คือ 27 ล้านคน อย่าให้ประชาชนต้องพูดว่าเลือกตั้งกันไปทำไม เลือกไปแล้วไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยน อย่าให้มันออกมาเป็นทิศทางแบบนั้น สุดท้ายใน 8 พรรคต้องคุยกันและสร้างความเชื่อมั่น และตนเชื่อว่า บทบาทของวุฒิสภา ตราบใดที่ 8 พรรคยังมีความแน่นหนา ส.ว.ไม่สามารถทำอะไรได้ ตนไม่ได้บอกให้รอถึง 10 เดือน ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่หากเราเข้มแข็งเพียงพอ ฝ่ายที่จะทำให้เราแตกแยก หรือพยายามจับข้ามขั้ว จะไม่เกิดขึ้น รวมถึงรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ไม่สามารถเป็นไปได้ สุดท้ายฝ่ายที่วางกลอุบายแบบนี้ก็ต้องยอม

เมื่อถามว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย แนะนำให้พรรคก้าวไกลถอย ให้โหวตนายกรัฐมนตรีได้แล้วค่อยเข้ามาร่วมรัฐบาลนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ก็เป็นความเห็น และตนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนทุกพรรคได้ สุดท้ายก็ต้องพูดคุยกันใน 8 พรรคร่วมว่าจะดำเนินการอย่างไร ตอนนี้ก็ให้เพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล สำเร็จหรือไม่สำเร็จ ก็ต้องมีการพูดคุย


กำลังโหลดความคิดเห็น