เมืองไทย 360 องศา
ไม่รู้ว่าเวลานี้คนในพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีบทบาทอยู่หน้าฉาก หรือกำกับอยู่หลังฉาก รวมไปถึงชาวบ้านทั่วไปจะสังเกตเห็นหรือไม่ ว่า เวลานี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับพรรคก้าวไกลจากเดิมที่เคยเป็นฝ่ายรุกไล่ตรวจสอบคนอื่น กลายเป็นว่ากำลังถูกรุกกลับ โดยกำลังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
แน่นอนว่า สำหรับนักสังเกตการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงคนที่ผ่านการเมืองมานานพอสมควร ก็พอมองออกว่าลักษณะแบบนี้มันเป็นแค่เริ่มต้นเท่านั้น เพราะเชื่อว่า พรรคก้าวไกล จะต้องเจอกับการตรวจสอบเข้มข้นขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า อีกทั้งเมื่อเข้าใกล้อำนาจรัฐ หรือเป็นรัฐบาลมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งถูกตรวจสอบและถูกสาวไส้มากขึ้นเรื่อยๆ
ที่ผ่านมา หากสังเกตจะเห็นว่า เมื่อครั้งที่พรรคก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา พวกเขาได้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นบรรดานักการเมือง ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งก็ต้องยอมรับความจริงเหมือนกันว่า ได้สร้างความสั่นสะเทือนในวงการพอสมควร
แม้ว่าที่ผ่านมา พวกเขาจะมีการเข้าไปแตะในเรื่องที่อ่อนไหว ทั้งในเรื่องมาตรา 112 เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง การตรวจสอบกองทัพ รวมทั้งผู้นำในกองทัพหลายคน แต่นอกเหนือจากการทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันรอบด้านแล้ว ซึ่งในบทบาทของฝ่ายค้าน และฝ่ายตรวจสอบก็ถือว่ามีความโดดเด่นใช้ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อพรรคก้าวไกล รวมไปถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กำลังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลผสม 8 พรรค กำลังเข้าใกล้อำนาจรัฐ เป็นฝ่ายรัฐบาล พรรคก้าวไกล และตัว นายพิธา กลับถูกรุกกลับ และกลายเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เรียกว่า กลับตาลปัตรกันเลยทีเดียว เพราะเวลานี้พวกเขากำลังถูกรุกไล่จากสังคม รวมทั้งฝ่ายการเมืองด้วยกันเอง ทั้งในและนอกสภา จนเรียกว่ามือไม้ปั่นป่วนพัลวัน ก็ว่าได้
เวลานี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กำลังถูกตรวจสอบทั้งเรื่องพฤติกรรมส่วนตัว เรื่องธุรกิจครอบครัว แต่ที่หนักหนาสาหัสที่กำลังมีผลอาจทำให้อนาคตทางเมืองต้องดับลงในไม่ช้า ก็คือ กรณีการ “ถือหุ้นสื่อ” หรือการถือหุ้นไอทีวีที่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาก่อนการเลือกตั้งลากยาวต่อเนื่องมาจนถึงหลังเลือกตั้งก่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 13 กรกฎาคม เพียงไม่กี่ชั่วโมงเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม
โดยทาง กกต.ได้ชี้แจงเหตุผลที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า “ตามที่กกตได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 66 การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... มีเหตุสิ้นสุดลง... ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย...” การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย กกต. ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ กล่าวคือ มาตรา 82 วรรคสี่ บัญญัติให้ กกต. เป็นผู้ใช้อำ นาจโดยตรง สามารถส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้
กรณีดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริต หรือเที่ยงธรรม หรือมิได้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จะต้องนำบทบัญญัติตามมาตรา 43 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 และข้อ 54 ของระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 มาใช้บังคับแต่อย่างใด
เมื่อปรากฏว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. คนหนึ่งคนใด มีเหตุสิ้นสุดลง กกต.จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง โดยไม่ต้องแจ้งข้อกล่าวหา หรือให้ ส.ส. ผู้มีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ นั้นมารับทราบข้อกล่าวหา หรือให้มาชี้แจงข้อเท็จจริงและข้อกล่าวหาทั้งสิ้น เพราะบุคคลดังกล่าวสามารถใช้สิทธิของตนเองไปชี้แจงข้อเท็จจริง และเสนอพยานหลักฐานเพื่อต่อสู้คดีตามบทบัญญัติของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 ได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ได้วางแนวทางในเรื่องดังกล่าวไว้แล้วรายละเอียดปรากฏตาม คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 14/2562 เรื่องพิจารณาที่ 10/2562 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562
ส่วนข้อกล่าวอ้างว่า กกต. เร่งรัดพิจารณา และดำเนินการอย่างเร่งรีบไม่ละเอียดรอบคอบนั้น ขอชี้แจงว่า การดำเนินการของ กกต. เป็นเพียงกระบวนการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง โดยไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ขอยืนยันว่า กกต. ไม่ได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบ หรือเร่งรัดที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวเสร็จสิ้นเร็วกว่าปกติ ทั้งนี้ กกต.ได้ใช้ระยะเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ แล้ว ดังนั้น การส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย เป็นกระบวนการที่ กกต. ปฏิบัติตามมาตรา 82 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ทุกประการ
ความหมายสั้นๆ ก็คือ สาเหตุที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เนื่องจากไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ไม่ใช่การให้มารับทราบข้อกล่าวหา เป็นเพียงการรวบรวมพยานหลักฐานข้อเท็จจริง ไม่ได้เป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งบุคคลที่ถูกร้องสามารถไปชี้แจงแก้ต่างในศาลได้อยู่แล้ว ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่น่าเร่งรีบอะไรแต่อาจเป็นการเลือกวันที่ทำให้ กกต.ถูกวิจารณ์น้อยที่สุดก็เป็นได้ เพราะหากส่งเรื่องเร็วกว่านี้ก็อาจทำให้ศาลฯอาจมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จน นายพิธา อดไปโหวตในสภาในวันที่ 13 ก็ได้
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ถือว่าเป็น “จุดตาย” ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ในปัญหาเฉพาะหน้าก่อนการโหวต ก็คือ กรณีแก้ไขมาตรา 112 ที่ถือว่าเป็นเรื่องอ่อนไหว กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ตัวเขาและพรรคไม่ได้เป็นนายกฯ และไม่อาจเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จอย่างแน่นอน อีกทั้งนับจากนี้ไปพวกเขาก็จะกลายเป็นฝ่ายถูกตรวจสอบหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า สถานการณ์กำลัง “พลิกกลับ” จากหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียว
นอกเหนือจากนี้ หากจับสังเกตในสภาจะเห็นว่า ขณะที่ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล กำลังถูกอภิปรายตรวจสอบจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.จากฝั่งตรงข้าม ปรากฏว่า กลับไม่มี ส.ส.จากพรรคการเมืองที่เหลืออีก 7 พรรค คอยโต้แย้งช่วยเหลือแต่อย่างใด บรรยากาศเหมือนยืนดูเพื่อนถูก “กระทืบ” สลบคาเท้ายังไงยังงั้น !!.