แถลงการณ์พรรคก้าวไกล กรณีการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งในคดีหุ้นไอทีวี โวย ไม่เปิดโอกาสให้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ส่อผิด ม.157
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (11 กรกฎาคม 2566) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า กกต. ได้พิจารณาหนังสือของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ที่ขอให้ กกต. ปฏิบัติตามระเบียบสืบสวน ไต่สวน วินิจฉัยชี้ขาดฯ ในคดีหุ้นไอทีวีแล้ว เห็นว่า กกต. ได้ปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากกรณีนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มิใช่การดำเนินการสืบสวนไต่สวนการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง ซึ่งจะต้องเป็นไปตามระเบียบที่ต้องมีการแจ้งข้อกล่าวหาก่อน โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กำหนดว่า ในกรณีที่ กกต. เห็นว่าสมาชิกภาพของ ส.ส.คนใดมีเหตุสิ้นสุดลง ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ สอดคล้องกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เคยให้ไว้ในการพิจารณายื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 นั้น
พรรคก้าวไกลเห็นว่า เมื่อพิจารณาระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วเห็นว่า สิ่งที่ประธาน กกต. กล่าวนั้น ไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุผลดังนี้
ข้อ 1.สำหรับคดีหุ้นไอทีวี ไม่อาจนำกรณีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2563 (คดีเงินกู้ยุบพรรคอนาคตใหม่) มาเทียบเคียงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือ
(1) คดีตามคำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 93 กำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พร้อมทั้งเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดรองรับหลักเกณฑ์ไว้ในลักษณะทำนองเดียวกันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 และมาตรา 93 ส่วนที่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 55 วรรคหนึ่ง กำหนดให้นำระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวางหลักว่า การนำมาใช้บังคับโดยอนุโลม มิได้หมายความว่า จะต้องนำระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับทุกข้อ แต่เป็นกรณีที่นำมาใช้เมื่อระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มิได้กำหนดไว้ เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ในคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า การยื่นคำร้องตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนไม่จำต้องแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องก่อนแต่อย่างใด
แต่ข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี เป็นคดีการเสนอคำร้องตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 ประกอบมาตรา 101 (6) และมาตรา 98 (3) มิใช่เป็นการนำบทบัญญัติมาตรา 92 และมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ข้อ 54 วรรคหนึ่ง และข้อ 55 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับแก่คดี จึงไม่อาจนำแนวทางการตีความของศาลรัฐธรรมนูญในคดีดังกล่าวมาใช้บังคับแก่เรื่องนี้ได้
(2)ในคดีตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีมติว่า ข้อกล่าวหาไม่มีมูล แล้วนำเสนอต่อ กกต. แต่ปรากฏว่า กกต. ไม่เห็นพ้องด้วย กรณีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาแต่อย่างใด ส่วนข้อเท็จจริงในคดีหุ้นไอทีวี ถ้าคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. มีความเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูลตามคำร้อง ย่อมมีหน้าที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อ 54 วรรคหนึ่ง แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (แก้ไขเพิ่มเติม 2563) ต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ให้ครบถ้วนเสียก่อนที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนจะทำรายงานการสืบสวนตามข้อ 59 แห่งระเบียบดังกล่าว เสนอต่อเลขาธิการ กกต. และ กกต. ต่อไป
ข้อ 2.ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เป็นกรณีที่ความปรากฏต่อ กกต. ให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) และรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) อันเป็นเหตุให้ กกต. อาจยื่นคำร้องสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 ข้อ 85 วรรคห้า บัญญัติว่า “ภายหลังประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาแล้ว คณะกรรมการเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภาผู้ใดไม่มีสิทธิสมัครรับเลือก เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ให้คณะกรรมการยื่นคำร้องหรือส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยต่อไป”
เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 (และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม) กำหนดกระบวนการขั้นตอนรองรับอย่างชัดเจนตั้งแต่การยื่นคำร้อง การตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน และการวินิจฉัยของ กกต. ด้วยเหตุนี้ เมื่อ กกต. ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวมาโดยตลอด ในกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานสนับสนุนพอฟังได้ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ย่อมต้องดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาตามระเบียบฯ ข้อ 54 และเปิดโอกาสให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อ 57 และข้อ 58 แห่งระเบียบฉบับเดียวกัน
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น การที่ กกต. จะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 82 กกต. จะต้องปฏิบัติตามระเบียบให้ครบถ้วนดังที่กล่าวไปเสียก่อน
การที่ กกต.จะเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอ้างว่า เห็นว่ามีหลักฐานสนับสนุนเพียงพอ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา และไม่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยอ้างว่าเป็นเพียงการตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น จึงไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดไว้ กรณีจึงเท่ากับว่า กกต. ปฏิบัติตามระเบียบแต่เพียงบางส่วน และจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่ตนได้ตราขึ้น อันอาจเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้