ข่าวปนคน คนปนข่าว
**ดูโปรไฟล์แล้วต้องขอพูดตรงๆว่า มืด ... "หมออ๋อง" ปดิพัทธ์ สันติภาดา ทั่นประธานสภา !?
เมื่อพรรคส้ม ลงมติเสนอชื่อ “ปดิพัทธ์ สันติภาดา” ชิงตำแหน่งประธานรัฐสภา ก็ถามกันว่า หมอนี่ใครอ่ะ?
“ปดิพัทธ์” เป็น ส.ส.จังหวัดพิษณุโลก สร้างชื่อด้วยการลงสมัคร ส.ส.ครั้งแรกปี 2562 ในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ก็กลายเป็น “แจ็กผู้ฆ่ายักษ์” เอาชนะ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส. 3 สมัย และเลือกตั้งครั้งล่าสุดปีนี้ ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สองอีก และมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในวันนี้
จากที่เคยเป็นสัตวแพทย์ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "หมออ๋อง" อายุอานามปัจจุบัน 42 ปี จัดเป็น “คนรุ่นใหม่” จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ปริญญาตรีจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ วิทยาลัยศาสนศาสตร์ทรีนีตี้ ประเทศสิงคโปร์
โปรไฟล์การทำงาน นอกจากเป็นนายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ 2 ปี ก็ทำงานด้านการพัฒนาเยาวชน และแก้ไขปัญหาสังคมกับสมาคมนักศึกษาคริสเตียนไทย
ขณะที่ด้านการเมือง เคยเป็น “ประธาน” คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งก็ต้องบอกว่า..แค่พอมี
เรียกว่า ถ้าเอาพรรษาการเมืองและการทำงานของ “หมออ๋อง” ไปเทียบแคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ที่ต้องต่อกรยื้อแย่งเก้าอี้กันอยู่ ซึ่งคาดกันว่าน่าจะเป็น “พ่อมดดำ” สุชาติ ตันเจริญ ห่างไกลกันหลายขุม กระดูกคนละเบอร์
เรื่องนี้ “ปดิพัทธ์” บอกก็รู้ตัวดี เพราะได้รับเสียงสะท้อนมาตั้งแต่สมัยที่แล้ว แต่ก็แลกด้วยการทำงานหนักและค้นคว้าข้อมูล ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นประธานสภาที่ดีที่สุด ให้ทุกคนไว้ใจได้อย่างไร แต่ได้นำเสนอแล้วว่ามีความพร้อมจะทำงานหนักร่วมกับทุกฝ่าย
ส่วนถ้าได้เป็น “ทั่นประธาน”จริงๆ จะคุมเกมไหวมั้ย?
เจ้าตัวก็เชื่อว่า ทุกคนมีวุฒิภาวะ โดยที่ไม่ต้องมาเคารพที่ตัวของตนเอง หรือมาฟังตนเองเพียงคนเดียว แต่ทุกคนต้องทำตามข้อบังคับ ที่เป็นกติกา และเคารพรัฐธรรมนูญ หากทุกคนอยู่ในกติกา ก็ไม่น่ามีปัญหา และไม่คิดว่าตัวเองจะต้องไปตั้งหน้าตั้งตาปิดไมค์ใคร ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอภิปราย ตราบใดที่อยู่ในข้อบังคับ คิดว่ากติกาในที่ประชุมสภา จะทำให้เอาอยู่ ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล
แม้ “ปดิพัทธ์” จะมั่นอกมั่นใจ แต่เสียงวิจารณ์กันขรม ก็มั่นใจเช่นกันว่า ในที่สุดแคนดิเดตของพรรคก้าวไกล จะรับประทาน “แห้ว”
หนึ่งในเสียงนั้นเป็น “สันธนะ ประยูรรัตน์” สมาชิกพรรคก้าวไกล เมื่อถามถึงกรณีพรรคเสนอชื่อ “ปดิพัทธ์” ชิงเก้าอี้ประธานสภา สันธนะบอกว่า คนจะมาอยู่ในตำแหน่งประธานสภา หากนำเสนอใคร หรือเอ่ยชื่อมา จะต้องไม่มีข้อครหา และ ต้องเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ ส่วนตัวไม่ได้ดูถูกเขา แต่มองว่า “ปดิพัทธ์” ยังไม่เหมาะสมนั่งบัลลังก์ประธานสภา เหมาะสมเพียงตำแหน่งเลขานุการประธานสภา เท่านั้น
คำถามตามมาว่า พรรคก้าวไกล จะเล่นอะไรกับประเทศชาติ ซึ่งไม่ได้รู้จักกับ “ปดิพัทธ์”ที่ถูกเสนอชื่อ แต่ได้ดูโปรไฟล์แล้ว ก็ต้องขอพูดตรงๆ ว่า “มืด”
งานนี้ จะมืด หรือ เจริญ เชิญติดตามกันต่อไป
**แจงชัดชัด!! ประเทศไทยไม่เข้าหลักเกณฑ์เปลี่ยนวันชาติตามที่ก้าวไกลปั่น “คุณปลื้ม” บอก 24 มิถุนา ไม่ควรเป็นวันชาติของไทยตั้งแต่แรก
ไม่รู้ว่าวิญญาณ "คณะราษฎร" ตนใดมาเข้าสิงพลพรรคก้าวไกล จึงออกมาเสนอเรื่อง “เปลี่ยนวันชาติ” จากวันที่ 5ธันวาคม ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปเป็นวันที่ 24 มิถุนายน วันที่ “คณะราษฎร” อ้างอำนาจประชาชน ไปปล้นอำนาจ ปล้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แล้วบอกว่า...เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475
“ รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่เป็นคนขุดประวัติศาสตร์ มาเปิดประเด็นเรื่อง “เปลี่ยนวันชาติ” ว่า ...ทุกครั้งที่เรามาเฉลิมฉลอง เราต้องการเปลี่ยนการเฉลิมฉลองให้เป็นวันที่จดจำ ให้เป็นวันที่สำคัญและเห็นคุณค่าจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายที่การเฉลิมฉลองดังกล่าว ถูกบ่อนเซาะทำลายลงไปในหลายๆ ครั้ง ถึงแม้อาจจะมีการรื้อฟื้นเป็นครั้งคราว แต่ก็ยังห่างไกลต่อการสร้างความจดจำ ที่จะทำให้เป็นวันที่มีความสำคัญและเป็น "วันชาติ" จริงๆ...
... 91 ปี ที่เรายังไม่ถึงฝั่งฝัน แต่มันทำให้เรารู้ว่าประชาธิปไตยนั้นมีความหมายต่อ สิทธิในการพูด และการแสดงออกของตัวเราในฐานะที่เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด หวังว่า “24 มิถุนายน” ของทุกปี หลังจากนี้ไปจะเป็น "วันชาติ" ที่ควรค่าแก่การเฉลิมฉลอง...
“โรม” ที่มีตำแหน่งเป็นถึงโฆษกพรรคก้าวไกล เห็นว่าการรำลึกถึงวันที่มีคณะบุคคลไปปล้นอำนาจ ปล้นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เมื่อ 91 ปีที่แล้ว ควรค่าแก่การเฉลิมฉลองมากกว่า วันพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่สร้างคุณูปการมากมายให้กับประเทศไทย ...
“วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องนี้ว่า... การเปลี่ยนวันชาติ ต้องมีพื้นฐานมาจากประชาชน นักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วย เราเคยใช้วันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติมาก่อนจริง จนมาถึงยุค “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” มาเปลี่ยนเป็นวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งขณะนั้นได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ก่อนจะมีมติครม. ออกมา
โดยหลักสากล การกำหนด“วันชาติ” นั้นมีหลักนิยมอยู่ 3 ประการคือ...1. ใช้วันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้มระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่ ซึ่งของเราไม่เข้าตรงนี้ เพราะของเรามีพระมหากษัตริย์สืบมาอย่างต่อเนื่อง 2. เป็นประเทศที่เคยเป็นอาณานิคม แล้วได้เอกราช ก็ใช้วันที่ประกาศเอกราช ข้อนี้ก็ไม่เข้าเช่นกัน 3. ใช้วันเกิดของประมุข เราก็กลับมาใช้อันนี้ เพราะวันที่ 24 มิถุนายน ไม่เข้าเกณฑ์ในข้อ 1 และ 2 ที่นานาประเทศเขาใช้กัน
“รองวิษณุ” สรุปว่า การที่ “โรม” จะเปลี่ยนวันชาติ อันดับแรกเขาต้องได้เป็นรัฐบาลก่อน แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับประชาชน ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่!!
ขณะที่ มล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกรและผู้ดำเนินรายการข่าว ได้แสดงความเห็นคัดค้าน ความพยายามในการเปลี่ยนวันชาติ ของก้าวไกล ว่า...“24 มิถุนายน” ไม่ควรเป็นวันชาติของไทยมาตั้งแต่แรก
... การพัฒนาประเทศชาติในยุคสมัยตั้งแต่เริ่มต้นราชวงศ์จักรี มาจนถึงห้วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ออกดอกออกผลนำมาสู่ความเจริญที่เป็นรากฐานอันสำคัญยิ่งสำหรับสิ่งที่ได้รับการสานต่อในห้วงเวลาที่ประเทศไทยนั้นปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะฉะนั้นการบัญญัติให้ วันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเพียงวันเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ให้ถูกเรียกว่าเป็นวันชาติของไทย เป็นความตั้งใจที่จะปฏิเสธอดีตความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ รวมไปถึงความสำคัญอันมิควรลืมได้ ของบูรพกษัตริย์ทุกพระองค์ในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่เริ่มกรุงรัตนโกสินทร์
...ไม่ว่าคุณจะพยายามเขียนประวัติศาสตร์ออกมาอย่างไร คำอธิบายที่เหมาะสมที่สุดสำหรับ 24 มิ.ย. คือ วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเท่านั้น
ความเป็นชาตินั้น มีอยู่จริง ไม่ใช่สิ่งสมมติ พสกนิกรชาวไทย มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมาช้านาน ถึงแม้ว่ามีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อ รวมถึงรสนิยมด้านต่างๆ ในการดำรงชีวิต แต่ความเป็นชาติที่มีมาช้านาน ในส่วนอื่นนั้น มีความเป็นเอกภาพผ่านมาหลายยุคหลายสมัย ด้วยความที่คนไทยนั้นไม่เคยลืมว่า บรรพบุรุษได้เคยเสียสละเลือดเนื้อ เพื่อบูรณาการดินแดนที่นำมาสู่ความเป็นขวานทองในยุคปัจจุบัน
ความเป็นชาตินั้นย่อมไม่สามารถลืมสิ่งที่เป็นความสำเร็จในเชิงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ได้ ตลอดจนยุคหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผลงานอันสำคัญยิ่งของทุกรัฐบาลตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงวันนี้ ก็เป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน ...
...บททดลองของการใช้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันนั้น ก็มีในบางระยะเวลาซึ่งผลทางการบริหารราชการแผ่นดินนั้นมีผลต่อการพัฒนาชีวิตของพลเมืองให้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี แม้จวบจนยุคปัจจุบัน ความไร้ซึ่งปัญหาของ
สถาปัตยกรรมทางการเมืองยุคนี้ ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสำเร็จของการเมืองเรื่องประชาธิปไตยยังเป็นที่ถกเถียง และมีข้อสงสัยอยู่มาก ที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้คือที่เรียกภาษาอังกฤษว่า Dysfunctional Democracy
กล่าวได้ว่า Democratic Experiment ในประเทศไทยนั้น เมื่อเวลาล่วงผ่านไป 91 ปี ยังมิได้สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ในหลายเรื่องได้เทียบเท่ากับวิวัฒนาการในด้านต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัย สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เเละอาณาจักรต่างๆมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์...
ในวิชารัฐศาสตร์มักจะมีการสอนกันว่า Democracy is the least worst form of government หรือ ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองซึ่งเลวร้ายน้อยที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมสอนกันก็คือว่า ความเจริญ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประเทศใดประเทศหนึ่งปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตก หรือในรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันในไทย
กล่าวโดยสรุป ถ้าจะพูดถึงความยิ่งใหญ่ของชาติไทยซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะช่วงหลัง 2475 นั่นเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ที่ยิ่งใหญ่ไพศาลไปมากกว่าประวัติศาสตร์หลัง 2475
24 มิถุนายน ไม่ควรที่จะเคยถูกเลือก เเละบัญญัติให้เป็นวันชาติไทย ในยุคของคณะราษฎร ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ!!
เพราะความเป็นชาติของประชาชนชาวไทยบนแผ่นดินไทยนี้ มีมาช้านาน ตั้งแต่สมัยที่เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แน่นอน มีมานานแสนนานก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง...
แล้วอย่างนี้ ยังจะรำลึกถึงวันนี้ที่มีการปล้นพระมหากษัตริย์ ให้มาเป็น"วันชาติ" แทนวันที่ 5 ธันวาคม!?