ประจวบคีรีขันธ์ - อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมกับอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จัดพิธีวันระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบรอบ 133 ปี ณ ถ้ำพระยานคร อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลกรมศิปากร บอกว่า มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาสถ้ำพระยานคร อีกทั้งถ้ำพระยานคร ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
วันนี้ (22 มิ.ย.) นายเสถียร เจริญเหรียญ ผวจ.ประจวบฯ นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ผอ.ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์ นายพงศธร พร้อมขุนทด หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยอด เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นานมนต์ชัย หนูสาย นายอำเภอสามร้อยยอดพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. ฝ่ายปกครอง นักเรียน นักศึกษา และกลุ่มพลังมวลชนต่างๆ ได้เดินทางขึ้นไปถ้ำพระยานคร อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ร่วมกันประกอบพิธีเนื่องในวันระลึกพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ครบรอบ 133 ปี
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบฯ เป็นประธานวางพวงมาลา หน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานบนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ และกล่าวอาศิรวาทราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกและแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สำหรับถ้ำพระยานคร มีมาตั้งแต่สมัยโบราณและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังมีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี เสด็จประพาสที่ถ้ำพระยานคร หลายพระองค์ เป็นถ้ำที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เดิมมีหลักฐานปรากฏว่ามีพระมหากษัตริย์เพียง 3 พระองค์ที่เสด็จประพาส
นายพงศธร พร้อมขุนทด หน.อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด กล่าวว่า ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของถ้ำพระยานคร ของกรมศิลปากรได้ยืนยันว่า มีพระมหากษัตริย์ 5 พระองค์ เสด็จประพาสถ้ำพระยานครดังนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครเป็นอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลปักษ์ใต้ เมื่อปีมะแม พ.ศ.2402 และครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2406 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสถ้ำพระยานครทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่ปี 2406 2429 2432 และ 2433 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กล่าวกันว่าพระองค์ท่านเคยเสด็จที่ถ้ำพระยานครครั้งหนึ่ง แต่ไม่ทราบว่าเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระองค์ท่านได้เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2469 และได้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ ป.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำทางทิศตะวันตกของพลับพลา ซึ่งยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงวันนี้ และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านได้เสด็จที่ถ้ำพระยานคร เป็นการส่วนพระองค์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2501 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2524
สำหรับพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ตั้งอยู่ในถ้ำพระยานคร เป็นพลับพลาทรงจัตุรมุข กว้าง 2.55 เมตร มีความยาว 8 เมตร สูง 2.55 เมตร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดให้สร้างพลับพลาที่ประทับไว้ในคราวเสด็จประพาสถ้ำพระยานคร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433 โดยทรงโปรดให้จัดทำขึ้นที่กรุงเทพฯ แล้วบรรทุกเรือหาญหักศัตรูขนมาก่อสร้างที่ถ้ำพระยานคร ส่งมาประกอบทีหลัง โดยให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ เป็นนายงานยกขึ้น และพระราชทานามว่า พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2433 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกพระปรมาภิไธย ย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่บริเวณผนังด้านเหนือของพลับพลา
นอกจากนั้น พระที่นั่งคูหาคฤหาสน์ ยังเป็นตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกด้วย โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระที่นั่งคูหาคฤหาสน์เป็นโบราณสถานสำคัญเมื่อปี พ.ศ.2495