xs
xsm
sm
md
lg

“รอมฎอน” ออกตัวแล้ว! เชื่อ รบ.ใหม่ทบทวนฟ้อง นศ.จัดงานแยกดินแดน มองโอกาสคุยรากเหง้าปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.ส.ก้าวไกล ชี้ ปมแจ้งความนักศึกษาจัดกิจกรรมแยกดินแดน หากเกิดในรัฐบาลพลเรือน ต้องทบทวนหนัก เชื่อรัฐบาลใหม่โอบอุ้มคนทุกกลุ่ม มองเป็นโอกาสในการพูดคุยเพื่อเห็นรากเหง้าปัญหา

วันนี้ (26 มิ.ย.) ที่พรรคประชาชาติ นายรอมฎอน ปันจอร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) และคณะทำงานย่อยสันติภาพชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มนักศึกษา ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ หลังจัดกิจกรรมทำแบบสอบถามประชามติแบ่งแยกดินแดน เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ในคณะทำงานมีการแชร์ความคิดเห็น การให้แง่มุมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เรื่องนี้เราประเมินสถานการณ์กันอยู่เรื่อยๆ ภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน สถานการณ์ที่เราเจอ ความยากลำบากที่เราเจอ ความกังขาที่ทุกคนเจอ กับการจัดงานของนักศึกษา เรากำลังคิดถึงภาวะผู้นำของรัฐบาลพลเรือนที่เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพต่อหลักการบูรณภาพแห่งดินแดนในการกำหนดใจตนเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในกรอบพระธรรมนูญของรัฐบาลไทย

นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า ถ้าภายใต้การนำของรัฐบาลพลเรือน การฟ้องร้องในลักษณะนี้ต้องถูกทบทวนอย่างหนัก การทำกิจกรรมอย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว มีกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ บนพื้นฐานที่ว่าการเมืองที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติ ในฐานะที่เราเป็นรัฐบาล และหน่วยงานความมั่นคง จำเป็นต้องรับฟัง

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าเราฟังนักศึกษากิจกรรมเหล่านั้นอาจเห็นรากเหง้าของปัญหา ทำไมถึงมีปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำไมเยาวชนถึงมีกิจกรรมเหล่านั้นเกิดขึ้น แทนที่จะปิดปิดปากเขาด้วยการฟ้องดำเนินคดี ถ้าเปิดใจกลับมาฟังมองจากมุมของรัฐที่เคารพในสิทธิเสรีภาพของประชาชนน ถือเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจความคิดเห็นที่แตกต่าง และโอกาสในการที่สังคมไทยของรัฐบาลไทยที่จะรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างได้โดยสันติวิธี

นายรอมฎอน กล่าวอีกว่า อย่าลืมว่าเยาวชนกลุ่มที่ทำกิจกรรมนี้ หากนับดูอายุคงไม่เกิน 20-21 ปี หมายความว่า เขาเติบโตมาท่ามกลางความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงจากทุกฝ่าย ปัญหาคือ ถ้าไม่สามารถโอบรับโอบอุ้มเขา แม้จะมีความคิดเห็นที่ต่างกันขนาดไหน สังคมไทยไม่มีพื้นที่ให้กับคนมีความเห็นต่าง อนาคตของประเทศนี้จะอยู่อย่างไร ภายใต้ความคิดที่ใจกว้าง เห็นโอกาสในการสร้างสันติภาพที่มากขึ้น ตกลงแล้วการกำหนดชะตากรรมของตัวเองเป็นอย่างไรกันแน่ มีโอกาสสำหรับสังคมไทยมากน้อยเพียงใด

ในทางวิชาการมีการถกเถียงกันมานาน ไม่ใช่แค่การแบ่งแยกดินแดนอย่างที่หลายคนเข้าใจ ยังมีทางเลือกอีกมากแต่อยู่ที่ว่าเรามีวุฒิภาวะมากขนาดไหน ในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ยอมรับความแตกต่าง โอบกอดผู้คนที่มีความแตกต่างทางความเชื่อ ความคิด อุดมการณ์ และอัตลักษณ์ในทางการเมืองอย่างไร และเชื่อว่า รัฐบาลพลเรือน ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เราน่าจะเห็นโอกาสแบบนี้ในการโอบรับผู้คนไปด้วยกัน

เมื่อถามว่า การแจ้งความของเจ้าหน้าที่เป็นการกระทำที่รีบเกินไปหรือไม่ นายรอมฎอน ระบุว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า การแจ้งดำเนินคดีในช่วงเวลาสุญญากาศแบบนี้ เหมือนอยู่ระหว่างรัฐบาลเก่ายังไม่ไป รัฐบาลใหม่ยังไม่มา อาจเกิดความเคลือบแคลงใจต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจในการโหวต ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาแบบนี้ ตนเองไม่แน่ใจในฝั่งเจ้าหน้าที่ว่าทำอย่างไร แต่ถ้าไปถาม เจ้าหน้าที่คงตอบว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ และเชื่อว่าภายใต้การเมืองแบบนี้ การนำโดยรัฐบาลพลเรือน ทิศทางใหม่ ๆ สิ่งที่เคยเห็นในอดีต คุ้นเคย คงไม่คิดแบบนั้นอีกต่อไป

เมื่อถามว่า จากกิจกรรมในวันที่ 7 มิ.ย. บนภาพโปรโมตมีภาพของนายรอมฎอน อยู่ด้วย หากเข้าร่วมกิจกรรมนี้คงถูกดำเนินคดีด้วยหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า เป็นไปได้ เพราะมีการพูดชื่อตนอยู่แล้ว โดยถือเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเอง ทั้งข้อมูลของตัวเอง หรือคนที่เกี่ยวข้องมีอย่างจำกัด ทำให้เห็นว่าหน่วนงานของเรามีปัญหาในการประเมินสถานการณ์ หรือเข้าถึงแหล่งข่าว

ตนเชื่อว่า การทำกิจกรรมทางวิชาการแบบนี้ ตนพร้อมแลกเปลี่ยนถกเถียง เพราะเชื่อว่าการนั่งลงถกเถียง ดีกว่าการใช้กำลัง ใช้อำนาจกฎหมาย และอาวุธ การถกเถียงด้วยวุฒิภาวะ เข้าใจความต้องการของตนเอง เป็นประโยชน์ และสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง บางเรื่องยิ่งทำ ยิ่งสร้างความยุ่งยากในการแก้ไขปัญหาในอนาคต

หากสรุปบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาที่ใช้วิธีคิดแบบทหารนำ จะเจอปัญหาที่เป็นผลพวงมาจากมาตราการที่กราดเกรี้ยวต่อเนื่องเหล่านั้น เป็นมรดกมาถึงปัจจุบัน คือ สิ่งที่ลำบากมากที่ชาวชายแดนภาคใต้ต้องเจออยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องการภาวะการนำ และทิศทางแบบใหม่ เพราะใช้กรอบคิดแบบเดิม โดยไม่ประเมินผลในระยะยาวไม่ได้แล้ว ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็บอกแล้วว่าปัญหามี่ผ่านมาต้องการแนวคิดใหม่ในการแก้ไขปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น