“รอมฎอน” เผย “คณะทำงานสันติภาพฯ” ถกแก้ปัญหา จว.ชายแดนใต้ เล็งชง ครม.ใหม่ 3 เดือนแรก ทบทวน “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-กอ.รมน.” ไม่กังวลปมแยกดินแดน “ปาตานี”
วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ทำการพรรคประชาชาติ นายรอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล และคณะทำงาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะทำงานสันติภาพชายแดนใต้ ครั้งที่ 2 จากพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ว่า การประชุมในครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ของคณะทำงานย่อย ว่าด้วยสันติภาพปาตานี คุยต่อยอดจากครั้งที่แล้ว ที่ดูในรายละเอียดของนโยบายกับการแก้ไขปัญหา ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเรียกในภาพใหญ่ ว่า “การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” พูดคุยว่ามีส่วนไหนเห็นเหมือนหรือต่างกัน และนำมาดูว่าใน 100 วันแรก ที่นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล จะทำอะไรบ้าง รวมถึงใน 1 ปี และ 4 ปีจะทำอะไรบ้าง
“ตอนนี้ ถ้านับเวลาเอาวันที่ 4 ม.ค. 47 เป็นตัวตั้ง โดย 4 ม.ค. 67 จะครบ 20 ปี เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประเทศไทยเคยมีความขัดแย้ง เรื่องสงครามเย็นในปี 2508-2523 โดยในปี 2523 มีทิศทางใหม่ คือ คำสั่งสำนักนายกฯ 66/2523 จึงตั้งหลักว่าตลอด 20 ปีนี้ ถึงเวลาแล้ว ที่นั่งทบทวนทิศทางของการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่ประเทศเผชิญ เรามีบทเรียนพอสมควรแล้ว ภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และจะเข้าสู่การทำงานอีกไม่นานนี้ น่าจะมีมุมมองใหม่ๆ แนวทางใหม่ ในการจัดการปัญหา พร้อมทบทวนหน้าที่ของคณะทำงานย่อย สรุปผลการศึกษาเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหญ่อีกที”
นายรอมฎอน กล่าวต่อว่า วันนี้มีการพูดคุยเรื่องความมั่นคง กฎหมายพิเศษ น่าจะถึงเวลาลดความพิเศษ ฟื้นคืนความปลอดภัยให้ประชาชน กำลังทบทวนการประกาศใช้กฎอัยการศึก กฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินรวมทั้งโจทย์ที่รออยู่เร็วๆ นี้ คือการประชุมคณะรัฐมนตรีใน 3 เดือนแรก จะต้องมีการพิจารณาเรื่องต่ออายุพระราชกำหนดฉุกเฉินแน่ๆ ซึ่งกำลังทบทวนดูว่ามีความจำเป็นขนาดไหน จากพี่น้องหลายฝ่ายที่มีความกังวลว่า ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีเครื่องมือแล้วจะอยู่อย่างไร ทบทวนถึงสถานภาพของ กอ.รมน. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 กำลังอภิปรายอยู่
นายรอมฎอน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่ชัดเจนคือ เรื่องการพูดคุยสันติภาพ เราเห็นตรงกันว่า ต้องสานต่อการพูดคุยสันติภาพและที่สำคัญคือเปลี่ยนชื่อที่เป็นข้อเสนอของเรา ภายหลังจากการยึดอำนาจ จะกลับไปใช้ชื่อเดิม คือ “การพูดคุยสันติภาพ” เพื่อสะท้อนนัยยะ มีความหมายมุ่งความจริงจัง ในข้อตกลงเพื่อสื่อสารต่อคู่สนทนาอย่าง ข้อตกลงกับกลุ่ม BRN สื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ว่ารัฐบาลใหม่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างออกไปจากรัฐบาลก่อนหน้า การเปลี่ยนชื่อคือการกำหนดทิศทางใหม่ และเก็บรับสิ่งที่รัฐทำมาเป็นบทเรียน ผลที่ได้มาจากการพูดคุยในรอบที่ผ่านมาสานต่อรายละเอียด ซึ่งยังไม่ได้พูดคุย
“ทั้งหมดจะออกมาพรรคร่วม แต่ประเด็นอยู่ที่ลำดับอะไรก่อนหลัง ไม่ใช่แค่ของพรรคใดพรรคหนึ่งที่โดดเด่น แต่มาดูว่าอะไรหนัก เบา ควรทำก่อนหรือหลัง ยืนยันว่า ผลประโยชน์ที่กำลังทำ สร้างการเปลี่ยนแปลงกลับคืนสู่ประชาชน ซึ่งคำนึงเรื่องความปลอดภัย ต้องมีหลักประกันเรื่องนี้ พยายามทุกวิถีทางเพื่อให้มีความปกติใหม่ ทั้งความปลอดภัยทางกายภาพ การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” นายรอมฎอน กล่าว
ในส่วนประเด็นประชามติแบ่งแยกดินแดน จนมีกระแสจะขอยื่นยุบพรรคการเมือง นายรอมฎอน กล่าวว่า วันนี้ไม่ได้มีการพูดคุย เพราะส่วนใหญ่พูดคุยประเด็นอนาคต และสิ่งที่ตกค้างจากการประชุมรอบที่ผ่านมา สถานการณ์เฉพาะหน้ายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน
เมื่อถามถึงประเด็นความห่วงใยต่อพรรคร่วมที่อาจจะได้รับผลกระทบการทำงานร่วมจากประเด็นดังกล่าว นายรอมฎอน ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่กังวล เพราะมีสมาธิจดจ่อกับประเด็นที่หารือ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนต่อรัฐบาลที่จะนำโดยนายพิธา ยืนยันว่า สิ่งที่คิดและจะดำเนินการในอนาคตจะทำให้รัฐบาลใหม่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนประเด็นที่หลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการล้มพรรคร่วมรัฐบาลจากประเด็นความมั่นคง นายรอมฎอน กล่าวว่า ไม่แปลก เพราะอันที่จริงยังมีอีกหลายประเด็นในส่วนของภาคใต้ แต่อย่างที่กล่าวไว้ว่า พรรคร่วมทั้ง 8 ตั้งใจและมีสมาธิในการประชุม และมีการตักเตือนกันภายในว่าต้องระมัดระวัง และรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า ประเด็นประชามติทางพรรคร่วมจะมีการหารือโดยละเอียดหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของคณะทำงานย่อยอยู่แล้ว แต่เป็นปัญหาของแต่ละพรรคที่กำลังประสบอยู่ต้องแก้ไขกันเอง
ส่วนประเด็นจะมีการผลักดันเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ นายรอมฎอน กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่ตกไปแล้ว คงไม่มีรัฐบาลไหนจะเสนอเรื่องนี้ แต่ก็ถูกตั้งคำถาม ซึ่งจะขอชี้แจงว่า ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมยืนยันว่าพรรคร่วมดำเนินการตามความปลอดภัยใต้รัฐธรรมนูญไทยทุกประการ
“มันเป็นประเด็นที่กลายเป็นข้อกังขา แต่เรายืนยันว่า เราทำการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แข่งขันอย่างชอบธรรมจากการเลือกตั้งของประชาชน เรื่องนี้ไม่ได้เป็นข้อถกเถียงใดๆ ทั้งสิ้นในที่ประชุม” นายรอมฎอน กล่าว