xs
xsm
sm
md
lg

ชี้คำปราศรัย “พิธา” อาจทำก้าวไกลถูกยุบ! พบ “แถลงแยกดินแดน” ก๊อบปี้ “ช่อ-ธนาธร”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎ์ ชี้คำปราศรัย "พิธา" ปัตตานีเลือกนายกฯ หากมีเจตนาแฝงจะเข้าข่ายยุยงปลุกปั่น อาจนำไปสู่การ “ยุบพรรค” ก้าวไกล ด้าน “พล.ท.นันทเดช” ระบุนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” จี้สอบทั้งพรรคส้ม-เป็นธรรม-ประชาชาติ พบเนื้อหาแถลงการณ์แยกดินแดนปาตานี เนื้อความเดียวกับคำกล่าวของ “ช่อ พรรณิการ์-ธนาธร” เมื่อปี 65

กรณีที่ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” ที่เรียกตัวเองว่า เปลาจาร์ บังซา จัดปาฐกถาเรื่อง “สิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง กับสันติภาพปาตานี” เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 ที่ห้องประชุมศรีวังสา ตึกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยได้มีการแจกเอกสารเพื่อลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช มีข้อความว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกต้อง” ได้สร้างความหวั่นวิตกให้แก่คนไทยทั้งประเทศ ด้วยมองว่านี่คือความพยายามในการแบ่งแยกดินแดน!

อีกทั้งยังอยากรู้ว่ากลุ่มเยาวชนดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร การแสดงเจตจำนงครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือไม่ มีใครชักใยอยู่หรือเปล่า?

พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)
“ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ”
เกิดจากแรงผลักดันของพรรคการเมือง


พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงความมั่นคงมายาวนานได้เล่าถึงที่มาของ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” หรือเปลาจาร์ บังซา ซึ่งเคลื่อนไหวทำประชามติแบ่งแยกดินแดนปาตานี ว่า เดิมกลุ่มนักศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีการรวมตัวกันในนาม PNYS (ปัตตานี-นราธิวาส-ยะลา-4 อำเภอในสงขลา) มานานแล้ว โดยเริ่มแรกเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาที่มาเรียนที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีนักศึกษาบางคนที่ถูกยุยงจากนักการเมืองในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้าไปร่วมในขบวนการแบ่งแยกดินแดน แต่นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ จึงมีบางคนแยกตัวออกมาตั้งเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานี หรือ PERMAS

ต่อมา ช่วงปลาย 2565 กลุ่ม PERMAS ได้ยุติบทบาทไปเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่เพ่งเล็งอย่างหนักเพราะเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเมือง เช่น ม็อบ 3 นิ้ว โดยบางคนเรียกร้องอิสรภาพให้จังหวัดปัตตานี หลังจากนั้นจึงมีพรรคการเมืองบางพรรคเข้าไปชี้นำให้มีการจัดตั้งองค์กรนักศึกษาขึ้นใหม่ จึงเกิดเป็น “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” ซึ่งจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการหาสียงเลือกตั้ง ส.ส. ในช่วงต้นปี 2566 แค่ 2-3 เดือนเท่านั้น

“นักศึกษากลุ่มนี้เขารู้จักกับกลุ่มการเมืองนะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่สิ่งที่เป็นความผิดคือในการเสวนาเรื่องปาตานีนักศึกษาไปแถลงรับรองการต่อสู้ด้วยอาวุธว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องอิสรภาพ และขอทำประชามติเพื่อแยกดินแดน หากอยากรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังก็ไปดูว่านักศึกษากลุ่มนี้และพรรคพวกที่เคลื่อนไหวสนิทกับพรรคการเมืองไหนบ้าง เคยไปช่วยพรรคไหนหาเสียงบ้าง มีอยู่ 3 พรรคเท่านั้นแหละที่เกี่ยวข้องกับนักศึกษากลุ่มนี้ ก้าวไกล ประชาชาติ เป็นธรรม นักศึกษาบางคนยังพูดไม่ถูกเลย คนที่แถลงการณ์ยังก้มหน้าก้มตาอ่านอยู่เลย และถ้าเอาเนื้อหาในแถลงการณ์ดังกล่าวมาดูจะเห็นว่าตรงกับเนื้อความที่บางพรรคพูดไว้ ถ้าไม่มีพรรคการเมืองเข้ามาชี้นำรับรับรองว่าเรื่องแบบนี้ไม่มีทางเกิดขึ้น” พล.ท.นันทเดช ระบุ

เอกสารเพื่อลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชของปาตานี ซึ่งจัดทำโดย “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ”
“ประชามติแบ่งแยกดินแดน”
อาจไม่ใช่ความคิดนักศึกษา


ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าข้อสังเกตของ พล.ท.นันทเดช นั้นเป็นเรื่องจริง โดยแถลงการณ์ของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ระบุว่า

“เราเชื่อมั่นว่าการประชามติคือสันติภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หลังสิ้นสุดสนธิสัญญากรุงเทพ พ.ศ.2452 ปาตานี (ซึ่งหมายถึงดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้) อยู่ภายใต้การปกครองของสยามหรือรัฐไทยในปัจจุบัน ปรากฏความพยายามของชาวปาตานีแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิด ความต้องการทางการเมือง ความพยายามเหล่านั้นแสดงออกทุกยุคสมัย ทั้งแสดงออกผ่านการใช้อาวุธเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน และแสดงออกผ่านการต่อสู้ทางการเมืองโดยไม่ใช้อาวุธ หากแต่เราชาวปาตานีไม่สามารถกำหนดชะตากรรมของเราเองได้ ซึ่งเราเชื่อว่าสิทธิการปลดปล่อย สิทธิในการมีชนชาติ รวมถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรม เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ติดตัวเราแต่เดิมในฐานะมนุษย์ และสามารถขับเคลื่อนต่อสู้ได้ในสังคมประชาธิปไตยโดยไม่ถูกจำกัดคุกคามโดยกฎหมาย การสร้างสันติภาพปาตานีให้เกิดขึ้นจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางการเมืองที่ปลอดภัย และการมีเสรีภาพของประชาชนชาวปาตานี”

ซึ่งมีความใกล้เคียงกับเนื้อหาที่ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล กล่าวในการ เสวนากำหนดอนาคตตนเองของปัตตานี ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2565 อีกทั้งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการทำ “ประชามติแยกตัวเป็นเอกราช” โดยขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 นั้นอาจไม่ได้มาจากความคิดของนักศึกษาเอง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  ปราศรัยที่ จ.ยะลา เพื่อช่วยหาเสียงให้กับพรรคก้าวไกล
ช่อ-พรรณิการ์ กล่าวว่า “เราถูกทำให้เชื่อว่าเราต้องเลือกระหว่างเอกราชกับการพัฒนาหรือคะ ช่อคิดว่าเอกราชหรือพัฒนาไม่ใช่ตัวเลือกที่คุณเลือกอย่างหนึ่งแล้วคุณจะเสียอีกอย่างหนึ่ง เราต้องการอธิปไตยทางเศรษฐกิจหรืออธิปไตยทางการเมือง เราต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งหรือคะ มันไม่ใช่ตัวเลือกที่เป็นปฏิปักษ์กันเลย แต่ช่อเข้าใจว่าทำไมความคิดนี้ถึงเกิดขึ้นในปัตตานี เพราะว่าที่ผ่านมารัฐพยายามที่จะใช้การเมืองการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโดยบอกว่าถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ คนปากท้องอิ่มแล้วเขาจะไม่เรียกร้องเอกราช ซึ่งผิด ทุกคนในห้องนี้ก็รู้ว่าผิด เพราะถ้ามันถูกมันแก้ปัญหาจบไปนานแล้ว ท้ายที่สุดเหมือนที่คุณอารีฟิน โซะ ตอบไปแล้ว เอกราชไม่ได้อยู่ที่การตัดสินใจของใครทั้งนั้น ประชามติจะเป็นตัวตัดสิน สุดท้ายแล้วมันเดินไปอย่างที่อาจารย์มาร์ค (รศ.ดร.มาร์ค ตามไท) บอกจริงๆ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องประชามติเรื่องเอกราช ปัญหาคือคุณจำประชามติเรื่องรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญได้ไหม ตอนนั้นช่อเป็นหนึ่งคนที่คิดว่ายังไงร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านประชามติแน่ๆ สุดท้ายผ่านไหมคะ ผ่าน เพราะว่าอะไรคะ การประชามติไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิเท่ากันในการรณรงค์ ถ้าคุณบอกว่าคุณต้องเอาประชามติเอกราชให้ได้ พรุ่งนี้รัฐบาลประยุทธ์จัดให้คุณเลย คุณคิดว่าใครชนะ ก่อนที่จะไปถึงประชามติเรื่องเอกราชคุณต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัยและกว้างขวางพอในการรณรงค์เท่านั้นที่จะทำให้เกิดการต่อสู้ที่เป็นธรรมก่อนที่จะถึงการลงประชามติ ถ้าคุณลงมติพรุ่งนี้คุณรู้อยู่แล้วว่าผลจะออกมาเป็นยังไง สำคัญกว่านั้นคือ process (ขบวนการ) ก่อนถึงการประชามติ สเต็ปแรกคือสร้าง leverage (เครื่องมือ) ในการต่อรอง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเจรจา”

นอกจากนั้น ยังปรากฏคลิปที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวในเวที THE MOTIVE FORUM "SCENARIO PATANI" ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาถามนายธนาธร ว่า สมมติว่าอีก 10 หรือ 15 ปีข้างหน้า นายธนาธรได้เป็นผู้บริหารประเทศ คนในพื้นที่ปัตตานีเรียกร้องที่จะแยกประเทศหรือเอกราช เป็นไปได้หรือไม่ที่เขาจะได้รับสิ่งนี้โดยไม่ต้องทำสงคราม โดยนายธนาธรตอบว่าต้องให้เสรีภาพประชาชนในพื้นที่ได้พูดได้อย่างปลอดภัย และคิดว่าต้องมีการทำประชามติกันถ้าถึงที่สุด

“ผมคิดว่าสิ่งสำคัญของเรื่องนี้คือ Dialogue (บทสนทนา) ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น คือในภาวะนี้เราไม่สามารถพูดได้หรอกเพราะการพูดถึงเรื่องเอกราชสำหรับปัตตานีมันดูอันตรายเหลือเกิน พื้นฐานอันดับหนึ่งคือทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องปลอดภัย การทำให้เสรีภาพในการพูด เสรีภาพในการคิดเป็นไปอย่างปลอดภัย และผมคิดว่าถ้าเราเปิดพื้นที่ให้การพูดคุยกันอย่างกว้างขวางพอมันจะไปสู่จุดหนึ่งที่เราสามารถให้ประชาชนตัดสินใจได้ ผมคิดว่าคงต้องมีการทำประชามติกันถ้าถึงที่สุด แต่กว่าจะไปถึงวันนั้นได้มันต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยก่อน ส่วนจะแยกดินแดนเป็นเอกราชหรือไม่ ผมใช่คนตัดสินใจ” นายธนาธร กล่าว

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ซึ่งดูแลพื้นที่ชายแดนภาคใต้
นโยบาย “ก้าวไกล”
เอื้อให้แบ่งแยกดินแดน?


จากพฤติการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมตั้งข้อสงสัยว่าคณะก้าวหน้าซึ่งก็คือเครือข่ายของพรรคก้าวไกล เข้าไปสนับสนุนให้เกิดขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่? เนื่องจากมีกระแสข่าวว่ามีทั้งอดีต ส.ส.จากส่วนกลางและนักการเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แก่นักศึกษาที่เคลื่อนไหวทำประชามติแบ่งแยกดินแดน อีกทั้งพรรคก้าวไกลยังมีความพยายามในการดำเนินการหลายๆ อย่างที่ดูเหมือนเอื้อต่อการดำเนินการแบ่งแยกดินแดน ประกอบด้วย

1.พรรคก้าวไกลมีแนวคิดจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งสังคมหวั่นเกรงว่าจะดำเนินการเพื่อเอื้อให้สามารถแบ่งแยกดินแดนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

2.พรรคก้าวไกลประกาศนโยบายยกเลิก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคง มีหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางเพื่อต่อต้านภัยคุกคามที่มุ่งทำลายผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ซึ่งหลายฝ่ายวิตกว่าหากไม่มีหน่วยงานดังกล่าวจะทำให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามารถปฏิบัติการได้อย่างง่ายดาย

3.พรรคก้าวไกลมีนโยบายลดกำลังทหารและการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้กองทัพซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อ่อนแอลง

4.พรรคก้าวไกลมีนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งหากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะทำให้การบริหารงานภายในจังหวัดถูกตัดขาดจากส่วนกลางซึ่งเป็นเรื่องอันตรายสำหรับพื้นที่ชายแดนใต้

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย
แบ่งแยกดินแดน ผิดฐานกบฏ
มีโทษ “ยุบพรรค-จำคุก-ประหาร”


อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือคำปราศรัยของ “นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่กล่าวในการหาเสียงที่ จ.ปัตตานี ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าหมิ่นเหม่ที่จะเข้าข่ายการแสดงเจตนาแบ่งแยกดินแดนหรือไม่

นายพิธา กล่าวว่า “มันต้องมีการเมืองที่ก้าวหน้า ซึ่งหมายถึงว่าต้องปฏิรูปกองทัพ ให้กองทัพออกจากการเมือง มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขียนโดยประชาชนด้วยตัวของตัวเอง ต่อไปนี้คนปัตตานี คนยะลา คนนราธิวาส เลือกนายกฯ จังหวัดของตัวเอง ภาษีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนี้ใช้ที่นี่ ไม่จำเป็นต้องให้กรุงเทพมหานครเก็บอีกต่อไป ปัญหาลมหายใจที่เกิดขึ้น น้ำที่เรากิน ฟุตปาธที่เราเดิน แก้ด้วยคนในพื้นที่”

เนื่องจากคำว่าเลือก “นายกฯ จังหวัด” ถูกมองว่าหมายถึงนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างที่ด้อมส้มตีความ เพราะคำว่า “ผู้ว่าฯ” กับ “นายกฯ” นั้นมีความหมายและอำนาจหน้าที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

และหากกรณีนี้เข้าข่ายเจตนาแบ่งแยกดินแดนจะมีผลทางกฎหมายอย่างไรต่อนายพิธาและพรรคก้าวไกล?

รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านกฎหมาย อธิบายถึงความสัมพันธ์ของนักการเมืองกับความผิดกรณีแบ่งแยกดินแดน ว่า โดยส่วนตัวไม่ทราบว่านักการเมืองแต่ละคนที่ร่วมเสวนาสันติภาพปาตานีไปทำอะไรบ้าง หรือคนปราศรัยเรื่องการพัฒนาปัตตานีอย่างไรบ้าง ทั้งนี้ หากหน่วยงานด้านความมั่นคงดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานแล้วพบว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายแบ่งแยกดินแดน หรือการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 1 และมาตรา 68 ความผิดก็จะแยกเป็น 2 กรณี คือ

1) กรณีที่ผู้ปราศรัยหรือร่วมเสวนากระทำในนามบุคคล โดยไปในนามส่วนตัว และไม่ได้มี
ตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค ถ้ามีความผิดจะเป็นความผิดเฉพาะตัวนักการเมืองเอง หรือกรณีที่บุคคลนั้นไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในพรรค เช่น นายธนาธร ประธานคณะก้าวหน้า “น.ส.ช่อ” พรรณิการ์ แกนนำคณะก้าวหน้า ทั้ง 2 คนเป็นผู้ช่วยหาเสียงของพรรคก้าวไกลแต่ไม่ได้มีตำแหน่งใดๆ ในพรรค หากนายธนาธร หรือ น.ส.ช่อ มีความผิดเกี่ยวกับกรณีแบ่งแยกดินแดนก็ถือเป็นความผิดเฉพาะตน ไม่มีผลต่อพรรคก้าวไกล

โดยผู้ที่กระทำการเพื่อแบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร จะมีความผิดฐาน “กบฏ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี

2) กรณีที่กระทำในนามพรรคการเมือง ก็ต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นทำในนามพรรคการเมือง เช่น ผู้ที่ไปร่วมเสวนามีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือคนที่พรรคการเมืองส่งไปร่วมเสวนา

โดยการพิจารณาความผิดจะมีบทลงโทษสำหรับพรรคการเมือง คือ “ถูกยุบพรรค” และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค

“กรณีที่คุณพิธา ปราศรัยว่าจะให้ปัตตานีมีการเลือกตั้งนายกจังหวัด รายได้ที่จัดเก็บไม่ต้องส่งให้กรุงเทพฯ นั้น การที่คุณพิธาพูดแบบนี้มันต้องดูว่านัยแฝงคืออะไร ถ้านัยแฝงคือต้องการให้แบ่งแยกพื้นที่ออกไปเลยให้ปัตตานีไปเป็นรัฐอิสระ ให้เขาไปดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายก็เท่ากับยุยงปลุกปั่น ซึ่งถ้ามีความผิดน่าจะหนักหนากว่ากรณีคุณช่อ โทษจะมากกว่าทำในนามบุคคลเพราะคุณพิธา เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นตัวแทนของพรรคโดยตรง อาจจะถือว่าทำในนามพรรคก้าวไกล มีโทษถึงขั้นยุบพรรค และตามด้วยเพิกถอนสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้งถึง 10 ปี โดยตามขั้นตอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งเรื่องไปยัง กกต. และ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา” รศ.เจษฎ์ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น