“อนุดิษฐ์” ชื่นชม “ทัพฟ้า” เคลียร์ปมจัดซื้อระเบิดร่อน-แอปฯนภา รวดเร็ว หลังถูก “ก้าวไกล” กล่าวหาส่อทุจริต พร้อมบี้ ทอ.แจง 4 บิ๊กโปรเจกต์ที่ กมธ.ป.ป.ช. สภา มีมติว่า ส่อไปทางมิชอบด้วย ฝาก “บิ๊ก ทอ.” ลากคอคนทำผิดมาลงโทษ อย่าปกป้อง “คนเลว” ปล่อยให้ไปปู้ยี้ปู้ยำโครงการอื่นอีก
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงกรณีที่ นายธนเดช เพ็งสุข ว่าที่ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการจัดซื้อระเบิดร่อน และโครงการจัดทำแอปพลิเคชัน “นภา” ของกองทัพอากาศว่า ว่าที่ ส.ส.ใหม่ป้ายแดงของพรรคก้าวไกลเปิดเผยผ่านสื่อมวลชน ว่า ได้ทราบข่าวและเห็นเอกสารการเร่งตรวจรับการจัดซื้อจัดจ้าง “ระเบิดร่อน” ที่ซื้อมาจากประเทศเกาหลี โดยไม่ผ่านกระบวนการรับรอง (Certified) ว่า สามารถใช้งานกับอากาศยานของกองทัพอากาศได้หรือไม่ โดยในสัญญาระบุเงื่อนไขเพียงว่า สามารถติดตั้งบนอากาศยาน แต่ไม่เขียนว่าต้องใช้งานกับอากาศยานของ ทอ. รุ่นใดบ้าง อีกทั้งการจัดซื้อครั้งนี้ยังไม่ได้เป็นความต้องการของหน่วยผู้ใช้ เพียงแต่ผู้มีอำนาจในอดีตมีความต้องการจัดซื้อให้ได้ โดยตัดงบประมาณโครงการต่างๆที่หน่วยผู้ใช้งานแต่ละหน่วยที่มีความจำเป็น เพื่อสนองความต้องการของตนเองในการจัดซื้อครั้งนี้
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุต่อว่า ข้อกล่าวหานี้รุนแรงไม่น้อยทีเดียว เพราะถ้าเป็นจริงก็ถือว่ามีการทุจริต แต่โฆษกกองทัพอากาศก็ออกมาชี้แจงในทันทีว่า การจัดซื้อชุดอุปกรณ์นำวิถี และเพิ่มระยะลูกระเบิดอากาศ (Guidance-Extended Range Kits) ซึ่งเป็นชุดอุปกรณ์สำหรับติดตั้งกับระเบิดอากาศขนาด 500 ปอนด์ให้เป็น “ระเบิดร่อน” ได้ระบุในเงื่อนไขการจัดซื้อว่า ต้องผ่านการรับรองการใช้งานกับเครื่องบินขับไล่แบบ F-16, F-5 และ T-50 ซึ่งถือว่าเป็นการวางแผนจัดซื้อตามอัตราอาวุธภาคอากาศ สำหรับเตรียมความพร้อมในการป้องกันประเทศ และการจัดซื้อได้ดำเนินการครบถ้วนตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ตลอดจนคำสั่งและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการตรวจรับพัสดุด้วยความรอบคอบตามเงื่อนไขที่ระบุในข้อตกลงการจัดซื้อทุกประการ
“ผมเห็นการตรวจสอบของ ว่าที่ ส.ส. และการชี้แจงของโฆษกกองทัพอากาศในทันทีทันควันแล้วก็ดีใจครับ เพราะถือเป็นเรื่องที่ดีที่พรรคการเมือง ต้องช่วยกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ เป็นการทำงานแทนประชาชนที่เสียภาษี และภาครัฐเองก็ต้องชี้แจงข้อเท็จจริงต่างๆเพื่อความโปร่งใส หากทั้ง 2 ฝ่ายทำตามหน้าที่โดยบริสุทธิ์ใจ ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์สูงสุดก็คือประเทศชาติ และประชาชนนั่นเอง” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ในฐานะอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) สภาผู้แทนราษฎร ระบุต่อว่า พออ่านเรื่องดังกล่าว ก็อดไม่ได้ที่จะต้องพูดถึงการตรวจสอบในสมัยสภาฯที่แล้ว เพราะตนทำงานใน กมธ.ป.ป.ช. ที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน เราได้ทำการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศจำนวน 4 โครงการ มูลค่าหลายพันล้านบาท ซึ่งต่อมา กมธ.ป.ป.ช.ลงมติว่า มีพฤติกรรมในการจัดซื้อจัดจ้างส่อไปในทางมิชอบ และได้ส่งรายงานของ กมธ.ป.ป.ช.ไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานแล้ว
“บอกตามตรง ผมอยากให้กองทัพอากาศออกมาชี้แจงชัดๆ เหมือนเรื่องระเบิดร่อนนี้เช่นกัน ว่า ปัจจุบันทั้ง 4 โครงการนี้อยู่ในขั้นตอนไหน เพราะถ้าเป็นโครงการที่จัดซื้อจัดจ้างแบบถูกต้อง ทอ.จะได้ดำเนินการต่อไป แต่ถ้าไม่ถูกต้อง ก็อยากทราบว่า พบใครที่กระทำความผิดหรือไม่ และท่านได้ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดเหล่านั้นอย่างไร” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ตั้งคำถามด้วยว่า หรือท่านทั้งหลายรู้ว่าโครงการต่างๆนั้นไม่ถูกต้อง แต่พร้อมใจกันนิ่งเฉย และยังปล่อยให้ตัวการสำคัญออกมารับผิดชอบโครงการใหม่ๆ ต่อไปอีก โดยไม่เกรงกลัวฟ้าดิน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ผู้รับผิดชอบสูงสุดของกองทัพ ย่อมถูกครหาว่าช่วยกันปกปิดความผิดเพื่อสืบทอดอำนาจกันต่อไป และย่อมส่งผลร้ายให้กับกองทัพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ได้ยินมาจากเพื่อนพ้องน้องพี่ในกองทัพอากาศ และหวังว่าคงไม่ใช่เรื่องจริง เพราะหากผู้บริหารระดับสูงยังนิ่งเฉยเพื่อปกปิดความผิดให้ใครบางคน และปล่อยปละละเลยให้อำนาจคนเลวไปทำงานทุจริตแบบโจ๋งครึ่มอย่างนี้ แรงกระเพื่อมในกองทัพจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะเกิดความแตกแยกขึ้นอย่างกว้างขวาง
“ถ้ายังไม่ยอมแก้ไข เชื่อได้เลยว่า ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่อไปในทางมิชอบ จะหลั่งไหลออกมาอีกหลายเรื่อง และสุดท้ายชื่อเสียงของ ทอ. จะถูกทำลายจนป่นปี้อย่างแน่นอน รีบช่วยกันแก้ไขกันดีกว่า ใครกำลังทำอะไรก็รู้ๆกันอยู่ ถ้านิ่งเฉยปล่อยกันไปแบบนี้ หากถูกสภาฯตรวจสอบ สุดท้ายคนที่เสียหายที่สุด ก็คือ “กองทัพอากาศ” ของเรา” น.อ.อยุดิษฐ์ ระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 โครงการสำคัญของ ทอ.ที่ น.อ.อนุดิษฐ์ ติดตามตรวจสอบ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 7 (N-SOC C2) วงเงิน 945 ล้านบาท 2. โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) วงเงิน 940 ล้านบาท 3. โครงการพัฒนาการปฏิบัติการในห้วงอวกาศ (ดาวเทียม) วงเงิน 1,400 ล้านบาท และ 4. โครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ วงเงิน 910 ล้านบาท