“สุชาติ” อดีตรองประธานสภา สับ 3 วาระ “ก้าวไกล” โจมตีประธานสภา-สภา เสียหาย ยันประธานมีอำนาจตามกรอบ รธน.-ข้อบังคับฯ ไม่มีเอี่ยวร่าง กม.ผ่าน-ตก เหตุ ส.ส.มีเอกสิทธิ์อิสระ ใครชี้นำไม่ได้ ระบุ เก้าอี้ประธานไม่ถือเป็นโควตาพรรคอันดับ 1 ขึ้นอยู่กับที่ประชุมเลือก แจงสภาชุดก่อนโปร่งใส-ตรวจสอบได้ ห่วงศึกแย่งเก้าอี้ประธาน ทำตั้ง รบ.ล่าช้า รับมีคนเชียร์ขึ้น “ประมุขนิติบัญญัติ” แต่มองสภาได้เริ่มทำงานเร็วสำคัญกว่า
จากกรณีที่ พรรคก้าวไกล ออกแถลงการณ์ถึง 3 วาระสำคัญซึ่งเป็นเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเสนอบุคคลจากพรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพาดพิงการทำงานของสภาชุดที่ผ่านมา ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่า การทำหน้าที่ของประธานสภาฯมีส่วนทำให้ร่างกฎหมายจำนวนมากตกไป ตลอดจนการทำงานของสภาไม่มีประสิทธิภาพ และมีความไม่โปร่งใสนั้น
วันนี้ (27 พ.ค.) นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรองประธานสภา คนที่ 1 ในสภาชุดที่ผ่านมา กล่าวว่า แถลงการณ์ของพรรคก้าวไกล และคำให้สัมภาษณ์ของแกนนำพรรคก้าวไกล ซึ่งก็เป็นอดีต ส.ส.ในสภาชุดที่ผ่านมา อาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดได้ว่า ประธานสภา และนายกรัฐมนตรี สามารถใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส.ที่เป็นตัวแทนของประชาชนทั้งสภา และอาจทำให้ผู้ได้รับข้อมูลเกิดความเข้าใจในทางที่เสียหายต่อผู้ที่ทำหน้าที่ประธานสภาชุดที่แล้ว นอกจากนั้น การอ้างว่า เป็นประเพณีที่พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ในสภา จะได้รับตำแหน่งประธานสภาด้วย ก็ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงเสียทีเดียว เพราะหากย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะพบว่า มีหลายครั้งที่ประธานสภาฯ ก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุด
“ที่ผ่านมา ทุกสมัย ประธานสภาจะมาจากการเลือกของเพื่อน ส.ส.ในสภา ไม่ใช่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นผู้เลือก และการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางตามกรอบที่รัฐธรรมนูญ ตลอดจนข้อบังคับการประชุมสภาฯกำหนด จะไปใช้อำนาจหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคการเมืองพรรคใดไม่ได้ แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่ตนสังกัดอยู่ก็ตาม” นายสุชาติ ระบุ
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่างๆ รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน ก็ต้องให้นายกฯในฐานะฝ่ายบริหารรับรองเสียก่อน จึงจะเสนอได้ เพราะมีผลผูกพันกับการหารายได้ และการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นที่สงสัยว่าร่าง พ.ร.บ.ใดจะเกี่ยวกับการเงินหรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมประธานคณะกรรมาธิการในสภาฯทั้ง 35 คณะ ซึ่งมีจำนวนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภา โดยประธานสภาไม่มีอำนาจที่จะวินิจฉัยโดยพลการ การกล่าวว่า ประธานสภาฯ และนายกฯมีอำนาจในการใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับการตรากฎหมายยิ่งกว่าเจตจำนงของ ส.ส. จึงไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
ในส่วนของการบรรจุวาการประชุมสภา รวมไปถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ นั้น นายสุชาติ ชี้แจงว่า ประธานสภา ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุมสภา การจะบรรจุร่าง พ.ร.บ.ของพรรคที่ตนเองสังกัดก็ต้องบรรจุตามลำดับ ประธานสภา ไม่มีสิทธิที่จะเลือกบรรจุตามอำเภอใจได้ และไม่มีสิทธิที่จะเลื่อนร่าง พ.ร.บ.ที่บรรจุไปแล้วขึ้นมาพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องของที่ประชุมสภาต้องตกลงกัน นอกจากนั้น การพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือตราร่าง พ.ร.บ.จะสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการลงมติของ ส.ส.ในสภา ซึ่งเป็นเอกสิทธิ์ที่ใครจะไปควบคุมบังคับไม่ได้ แม้แต่พรรคการเมืองที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัด ดังนั้น ประธานสภา ไม่ได้มีอำนาจ หรือบทบาทที่จะชี้นำที่จะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ หรือทำให้ร่าง พ.ร.บ.ใดผ่าน หรือตกไป
“ประธานสภา ไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของ ส.ส. ที่จะชี้นำการลงมติของ ส.ส.ได้ เพราะ ส.ส.ทุกท่านล้วนเป็นผู้มีวุฒิภาวะ และมีเอกสิทธิ์ในการทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรอย่างอิสระเท่าเทียมกันทุกคน ส่วนการบรรจุเรื่องต่างๆ เข้าระเบียบวาระการประชุม ก็ต้องบรรจุไปเป็นตามลำดับก่อนหลัง และการกำหนดวันประชุม หรือการจะให้ใครเป็นผู้อภิปราย ก็ต้องเป็นไปตามลำดับ หรือตามที่วิป (คณะกรรมการประสานงาน) ซึ่งเป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมืองร่วมกันกำหนด และต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาด้วย” นายสุชาติ ระบุ
นายสุชาติ ยังได้กล่าวถึงวาระของพรรคก้าวไกล ที่ต้องการทำให้สภามีความโปร่งใส เปิดเผย ตรวจสอบได้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยว่า ในสภาฯชุดที่ผ่านมา การประชุมสภาฯ จะมีการถ่ายทอดสดการประชุมทุกครั้งทางสถานีวิทยุรัฐสภาคลื่น FM 87.5 เมกะเฮิรตช์ และถ่ายทอดทางโทรทัศน์รัฐสภา TPTV ช่อง 10 รวมทั้งผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆตลอด 4 ปีที่มีการประชุมสภา ซึ่งก็ทราบว่ามีประชาชนสนใจติดตามเป็นจำนวนมาก ส่วนการประชุมของคณะกรรมาธิการนั้น เนื่องจากเป็นการพิจารณามีรายละเอียด และมีหน่วยงานจำนวนมากมาให้ข้อมูล จะมีทั้งข้อมูลที่เปิดเผยได้ และเปิดเผยไม่ได้ เช่น ข้อมูลที่อาจกระทบกระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้เป็นความลับเสมอไป เพราะข้อบังคับการประชุมสภา กำหนดให้คณะกรรมาธิการที่ประชุมอยู่นั้น สามารถมีมติให้เปิดเผยการประชุมได้ ดังนั้นการประชุมคณะกรรมาธิการใดจะเป็นการลับ หรือเป็นการเปิดเผยจึงขึ้นอยู่กับมติของสมาชิกคณะกรรมาธิการนั้นเองว่าจะให้เปิดเผยหรือไม่ โดยคำนึงถึงความละเอียดอ่อนของข้อมูลที่พิจารณาเป็นสำคัญ
นายสุชาติ ยังได้กล่าวถึงวาระของพรรคก้าวไกลในส่วนของการส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา และการจัดตั้งสภาเยาวชนด้วยว่า ทั้ง 2 เรื่อง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการศึกษา และเตรียมการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยได้ยกระดับหน่วยงานจัดทำงบประมาณขึ้นเป็นหน่วยงานระดับสำนักในปัจจุบัน และให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณ การฝึกอบรม และบุคลากรให้กับการทำงานของหน่วยงานนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวคิดการจัดตั้งสภาเยาวชนนั้น ก็มีการส่งเสริมการมีส่วนของเยาวชนตลอดมา แต่การเสนอให้ตั้งสภาเยาวชน และรัฐสภาต้องนำวาระที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ บรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัตินั้น ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พรรคการเมืองใดจะกระทำได้โดยลำพัง แต่เป็นเรื่องที่จะต้องจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและความเห็นชอบด้วยของสภา และวุฒิสภา
เมื่อถามว่า ตามกระแสข่าวหากพรรคเพื่อไทยได้โควตาประธานสภาจริง นายสุชาติ เองก็อาจได้รับการเสนอชื่อให้ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วย เรื่องนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า อย่างที่เรียนข้างต้น การลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภา ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส.ทั้งสภา ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน จึงเป็นเรื่องที่ที่ประชุมสภาฯจะพิจารณาร่วมกัน ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าออกไป เพราะปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ เช่นเดียวกับสภาที่ไม่ใช่เพียงฝ่ายนิติบัญญัติตราร่าง พ.ร.บ. แต่ยังเป็นพื้นที่ในการถกเถียงแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน หากได้เริ่มทำหน้าที่เร็วเท่าไรก็จะยิ่งเป็นประโยชน์กับประชาชน จึงอยากฝากไปถึงให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เร่งพิจารณาประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อให้สภาเดินหน้าการทำงานได้โดยเร็ว
“เข้าใจว่า ขณะนี้มีความพยายามในการแย่งชิงตำแหน่งประธานสภาฯกันระหว่างพรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ซึ่งเป็นเรื่องการเจรจาต่อรองกันทางการเมืองที่เจรจากันเป็นการภายใน และ พรรคก้าวไกล เองก็มีอดีต ส.ส.ร่วมทำหน้าที่ในสภาชุดที่แล้วหลายท่าน การกล่าวหาสภาในทางเสียหาย ก็เหมือนกับตำหนิการทำหน้าที่ของตัวเองด้วย จึงอยากให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสภา หรืออำนาจหน้าที่ของประธานสภา ส่วนตัวผมก็มีคนเชียร์ ว่า จะเสนอชื่อเป็นประธานสภา ในสภาชุดนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาด้วยว่า จะลงมติเลือกหรือไม่ แต่สาระสำคัญไม่ใช่อยู่ใครได้เป็นประธานสภา เพราะความสำคัญอยู่ที่การที่สภาฯได้เริ่มทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาได้เมื่อใดมากกว่า” นายสุชาติ ระบุ.