xs
xsm
sm
md
lg

“วันนอร์” แนะเพื่อนพรรคร่วมเคลียร์หลังบ้านปมเก้าอี้ ปธ.สภา ชี้ ธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นโควตาพรรคคะแนนอันดับ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“วันนอร์” แนะเพื่อนพรรคร่วมเคลียร์หลังบ้านปมเก้าอี้ ปธ.สภา ชี้ ธรรมเนียมปฏิบัติ เป็นโควตาพรรคคะแนนอันดับ 1 ขออย่ามัวทะเลาะกัน กระทบความเชื่อมั่นประเทศและประชาชน เชื่อยังมีเวลาคุยกัน ไม่ควรเอาความขัดแย้ง ไปกระจายออกข้างนอก

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงคุณสมบัติของประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร และในฐานะประธานรัฐสภา ต้องทำหน้าที่ประสานงานกับสมาชิกทุกพรรคการเมือง เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม และเป็นตัวแทนของรัฐสภาทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องมีความเหมาะสมในหลายประการ เพราะเป็นเบอร์หนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ เรื่องประสบการณ์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ความตั้งใจย่อมสำคัญกว่า ไปจนถึงความเหมาะสม บุคลิกภาพการวางตัวก็สำคัญ ส่วนวัยวัยอายุนั้น ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับยุคสมัยนี้ เดี๋ยวนี้คนหนุ่มคนเก่งเยอะ อาจจะดีกว่าผู้สูงอายุด้วยซ้ำไป

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า อุปสรรคสำหรับเวลานี้คือพรรคเสียงข้างมากที่จะจัดตั้งเป็นรัฐบาล ต้องตกลงทำความเข้าใจกัน ว่าจะเสนอบุคคลใดเป็นประธานสภา เพราะไม่เช่นนั้นจะมีความขัดแย้งตั้งแต่ตอนต้นเมื่อเข้าไปโหวตในสภาก็จะมีปัญหา โดยทุกครั้งก็จะมีการตกลงชื่อบุคคลก่อนเข้าไปสู่การโหวต และตามธรรมเนียมส่วนมากก็เป็นพรรคอันดับ 1 ที่จะมานั่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ นอกจากในบางครั้งที่มีความจำเป็นเท่านั้นอาจจะไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ซึ่งเกิดขึ้นได้น้อย ส่วนพรรคอันดับ 2 ที่ร่วมรัฐบาลและไม่ได้เป็นประธานสภา จะได้โควตารองประธานสภา คนที่ 1 และพรรคอันดับ 3 จะถูกวางตัวเป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ตามลำดับ

เมื่อถามว่า การที่มีความพยายามต่อรองของพรรคอันดับ 2 จะทำอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนอยากให้คุยกัน ซึ่งยังมีเวลาจนกว่าจะมีการรับรอง ส.ส.ทั้ง 500 คน ควรจะคุยกันภายในให้ตกลงกันได้ระหว่างหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรคทั้งสองฝ่าย ไม่ควรจะเอาความขัดแย้ง ไปกระจายออกข้างนอก เพราะประชาชนมีความหวังว่ารัฐบาลใหม่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศและต่างประเทศได้ ถ้ามัวทะเลาะกันความเชื่อมั่นก็จะลดไป ดังนั้นไม่ควรเอาความขัดแย้งแสดงออกข้างนอก การสร้างความเข้าใจหาข้อตกลงที่ดี ควรทำเป็นการภายในจะดีกว่า

ส่วนพรรคเพื่อไทยควรจะยอมถอยหรือไม่นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงทั้งสองพรรค เพราะเป็นคนนอกพรรค พร้อมกับปฏิเสธที่จะให้ความเห็นกรณีความขัดแย้งระหว่างนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย มองว่าเป็นความเห็นแต่ละบุคคล ไม่ขอก้าวก่ายเช่นกัน

“ผมไม่ขอก้าวล่วงทั้ง 2 พรรค เพราะเราอยู่คนละพรรค มันไม่ดี แต่เชื่อว่าการนั่งในตำแหน่งนี้มีความเหมาะสมทั้งสองพรรค ขึ้นอยู่กับข้อตกลงและความจำเป็น ส่วนจะจะต้องให้เกียรติพรรคก้าวไกลเสียงข้างมากอันดับ 1 หรือไม่ ก็เป็นการตัดสินใจ เมื่อเขาเป็นพรรคใหญ่ควรจะตกลงกันได้ เขารู้ว่าอะไรควรจะทำ ผมคิดว่าทุกอย่างจะตกลงกันได้”

สำหรับกระแสรายชื่อแคนดิเดตประธานสภาฯของพรรคก้าวไกลอย่าง นายณัฐวุฒิ บัวประทุม และ นายธีรัจชัย พันธุมาศ นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวว่า ทั้งสองคนเชื่อว่าเป็นไปได้ ทั้งคู่มีความสนใจในบทบาทการประชุม ได้ข้อบังคับศึกษาไว้พอสมควร เชื่อว่าปรับปรุงอีกนิดหน่อยก็สามารถทำได้หากมาทำหน้าที่ประธานสภาฯจริง ตนเชื่อว่าทุกอย่างสามารถศึกษาและเรียนรู้ได้ ส่วนตัวมองว่านายณัฐวุฒิเองก็ทำหน้าที่ได้ ประการแรกมีความตั้งใจสูงและสนใจงานของรัฐสภา จากที่ตนได้สังเกตตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา เขามีความสนใจงานสภาอย่างมาก ทั้งบทบาทในกรรมาธิการรวมถึงการใช้ข้อบังคับให้เป็นไปอย่างมีประโยชน์ ต่อการที่จะอภิปรายต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ฝากทั้งสองพรรคเลือกคนที่เหมาะสมและทำหน้าที่ได้ดี เพราะไม่ใช่ตัวแทนของพรรคเพียงอย่างเดียวแต่จะเป็นตัวแทนของสมาชิกทั้ง 500 คน และตัวแทนในประเทศต่างประเทศที่จะต้องไปปรากฏตัว พูดคุย จึงต้องมีความสง่างามและทำหน้าที่ในสภาฯได้ดีพร้อมกัน ซึ่งงานแรกที่จะได้เห็นสำหรับบทบาทประธานสภาฯคนใหม่คือการทำหน้าที่ ประธานในที่ประชุมสำหรับการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ตัวเองได้รับการโปรดเกล้าฯแล้ว ซึ่งจะต้องนำกฎหมาย ข้อบังคับมาใช้ การดำเนินตามระเบียบวาระ ไปจนถึงการประชุมตลอด 4 ปีให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะถ้าทำหน้าที่ไม่คล่องตัวหรือไม่ได้รับความเชื่อถือ การประชุมก็จะขรุขระได้

ทั้งนี้ ใครเป็นประธานสภาฯตนก็ยินดีทั้งสิ้น พร้อมจะให้คำปรึกษาหากช่วยเหลือได้ รอบนี้ตนก็เป็นสมาชิกรัฐสภาเช่นกัน ยินดีที่จะให้ความร่วมมือ แนะนำ เพื่อให้สภาของเราปฏิรูปและเดินด้วยความเรียบร้อย เพราะฝ่ายอื่นปฏิรูปไปเยอะแล้ว สภาฯเราก็ควรจะปฏิรูป เช่น ไม่ให้การประชุมเสียเวลาเกินเหตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น