xs
xsm
sm
md
lg

“อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา” เมินบัญชี ส.ส.ตบหน้าตัวเองฉาดใหญ่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทองธาร ชินวัตร - เศรษฐา ทวีสิน
เมืองไทย 360 องศา

เห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ สำหรับบทบาทของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หลังจากที่พวกเขาไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อของพรรค จำนวน 100 คน ที่ส่งไปทำไพรมารีโหวตตามขั้นตอนกฎหมาย ก่อนที่จะส่งกลับมาแล้วจัดเรียงลำดับรายชื่อในภายหลัง แต่เอาเป็นว่าทราบกันแล้วว่า ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง และ นายเศรษฐา” ไม่ลงสมัคร ส.ส.ในแบบบัญชีรายชื่อ แน่นอนแล้ว

โดยพวกเขาทั้งสองคนเป็นเพียงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และตามรายงานข่าวน่าจะมี นายชัยเกษม นิติสิริ อยู่ในบัญชีแคนดิเดตอันดับสาม ซึ่งหากเป็นพรรคการเมืองอื่น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดเอาไว้ทุกอย่าง นั่นคือ คนที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องลงบัญชีรายชื่อควบคู่ไปด้วย แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย อาจจะพิเศษกว่าใครตรงที่ “เคลมประชาธิปไตย” แปะหน้าผากเอาไว้ตลอดเวลา แม้ว่าสำหรับคนรู้ทันและติดตามมานาน มันอาจจะมองเห็นกันคนละเรื่องก็ตาม

เมื่อแอบอ้างตัวเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยจ๋า” มาตลอด แต่ทำไมคราวนี้ถึงได้เมิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ อย่างไรก็ดี อย่าได้แปลกใจที่โดนพรรคก้าวไกลแขวะทันควัน เรียกร้องให้นายกฯต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ตามหลักการประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น นายกฯต้องเป็น ส.ส. ระบุรายละเอียด ว่า ระบบรัฐสภา ไม่ได้บังคับเสมอไปว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. บางประเทศบังคับ บางประเทศก็ไม่บังคับ แต่โดยทั่วไปแล้ว เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ก็มักเลือกคนที่เป็น ส.ส. และเป็นคนที่พรรคเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ที่แน่ๆ ประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภา ล้วน แล้วแต่ให้สภาผู้แทนราษฎร ลงมติเลือกบุคคลไปดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกวุฒิสภาไม่มีอำนาจในเรื่องนี้

แม้ว่าเขาจะอ้างหลักการประชาธิปไตยยาวเหยียดตามสไตล์ของเขา แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขายังได้ยกตัวอย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เคยเสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และเป็นอดีตผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้แก้ไขมาตรา 159 ที่ให้เปลี่ยนที่มาของนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ บังคับให้เป็น ส.ส.

ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ ว่า “ช่วงนี้มีคนถามเยอะ เรื่องสถานะของผมกับการตัดสินใจไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ จึงขอใช้พื้นที่นี้ในการสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน จุดยืนของผม
ผมตั้งใจที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหาร โดยนำนโยบายที่ได้หาเสียงร่วมกับการออกกฎหมายจากฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ประกอบไปด้วย ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย และพวกเราทุกคนมีจุดยืนที่จะทำหน้าที่ในสภาอย่างเต็มความสามารถ ไม่ให้ขาดตกบกพร่องในฐานะผู้แทนประชาชนแต่ประการใด

“หากผมถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ซึ่งผ่านขั้นตอนการสรรหาจากกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค นั่นคือ สิ่งแสดงว่าผมยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้ประชาชนร่วมกันตัดสินใจว่า หากต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาจากพรรคเพื่อไทย จึงต้องเลือก ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยครับ “ผมไม่ได้ลอยมาจากไหน และทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดขึ้นครับ”

แน่นอนว่า หากเป็นพรรคการเมืองอื่น ก็คงไม่น่าจะมีเรื่องราวให้พูดถึงมากนัก เพราะไม่ได้ผิดกติกาอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญเปิดกว้างเอาไว้ แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ถือว่าต้องถูกวิจารณ์เป็นพิเศษสักหน่อย เพราะที่ผ่านมา มักแอบอ้างเป็น “นักประชาธิปไตย” แบบเข้าสายเลือด อ้างตัวเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แต่เมื่อคนสำคัญของพรรค เช่น “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร และ นายเศรษฐา ทวีสิน รวมไปถึง นายชัยเกษม นิติสิริ ที่เชื่อว่า พวกเขาทั้งสามคนจะเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรคเท่านั้น เพราะไม่มีรายชื่อในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ ที่พรรคเพื่อไทยจำนวน 100 ชื่อ ที่ส่งไปให้ทำไพรมารีโหวตตามกฎหมายก่อนหน้านี้

แม้ว่า ที่ผ่านมา ในบางมุมจะมีคำอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมถึงพรรคเพื่อไทยถึงไม่รายชื่อทั้งสามคนดังกล่าวในบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะมุมมองของ นายจตุพร พรหมพันธุ์ เจ้าเก่า และที่ต้องนำเหตุผลของเขาเน้นย้ำให้ทราบ เนื่องจากความเห็นของเขาในเรื่องที่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย น่าจะพอรับฟังได้ไม่น้อย เพราะถือว่าเคยเป็นคนใน และเป็นคำพูดที่มีเหตุผลรองรับเหมือนกัน

นายจตุพร กล่าวว่า ภายใต้หลักการต่อสู้ให้นายกฯมาจากการเลือกตั้ง หรือมาจาก ส.ส. นั้น เป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อเพื่อไทยประกาศตัวเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้มข้นเหนือพรรคการเมืองอื่น แต่ทั้ง อุ๊งอิ๊ง-เศรษฐา-ชัยเกษม กลับไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี ส.ส.ของพรรค ซึ่งวิธีคิดของคนเหล่านี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากไม่เข้าไปอยู่ในโครงสร้างกรรมการบริหารพรรค ตาม พ.ร.บ.ประกอบ  รธน.ว่า ด้วยพรรคการเมืองและว่าด้วยการเลือกตั้ง จึงต้องมาอยู่ในองค์กรที่ไม่ได้อยู่ใน รธน. คือ “ครอบครัวเพื่อไทย” และไม่เข้าเงื่อนไขการยุบพรรค ดังนั้น ปัจจุบัน ส.ส.เพื่อไทย เป็นกรรมการบริหารพรรค 2 คนเท่านั้น คือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรค และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค

นายจตุพร กล่าวว่า กรณีแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ทั้ง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน และ นายชัยเกษม นิติสิริ ไม่ลงบัญชีรายชื่อ ส.ส.นั้น เพราะไม่ต้องการเอาตัวเองไปเสี่ยงเข้าไปอยู่ในแดนจริยธรรมทางการเมือง โดยเป็นเพียงแคนดิเดตนายกฯ และไม่ได้เป็น ส.ส.แล้ว จริยธรรมย่อมเข้าไปควบคุม ตรวจสอบไม่ถึง

อีกทั้งยกกรณีศึกษาบทเรียนจาก ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พลังประชารัฐ (พปชร.) และ กนกวรรณ วิลาวัลย์ ส.ส.ภูมิใจไทย ที่ครอบครองที่ดิน ส.ป.ก.และรุกป่าสงวน ได้กระทำความผิดก่อนเป็น ส.ส. และก่อนมี รธน. 2560 ด้วย แต่นักการเมืองทั้งสองคน ยังถูกเล่นงานด้วยความผิดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต รวมถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคสาม วรรคสี่ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

นายจตุพร กล่าวว่า ปูมหลังการทำธุรกิจของ อุ๊งอิ๊ง และ เศรษฐา เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งหากเป็น ส.ส.จะถูกรื้อค้นมาตรวจสอบได้ตามมาตรฐานจริยธรรมทางการเมืองของคนเป็น ส.ส. ทันที ไม่ว่าที่ดินสร้างหมู่บ้านจัดสรร ธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ หลักธรรมาภิบาล เป็นต้น จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้กับการไม่มีชื่อในระบบบัญชี ส.ส.ของพรรค นอกจากความจำเป็นไม่ต้องการรีบเสี่ยงไปเผชิญหน้ากับมาตรฐานจริยธรรมทางการเมือง ดังนั้น จึงเลือกเอาแต่แคนดิเดตนายกฯ อย่างเดียว จึงสะท้อนถึงพฤติกรรมตัดตอนความเสี่ยงเป็นช่วงๆ ของสถานกาณ์การเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมากไปกว่านี้

อย่างไรก็ดี แม้ว่า หากพิจารณากันแบบหลักการทั่วไป ถือว่าการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สำหรับพรรคการเมืองอื่น ก็คงไม่ต้องกล่าวถึงกันเป็นพิเศษ แต่เมื่อตัวเองชอบอ้างว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตยจ๋า” แบบนี้ โดยมีลักษณะเหยียดอีกฝ่ายว่าเป็นพวกเผด็จการ บ้างล่ะ สารพัด หรือแม้กระทั่งพวกย้ายออกจากพรรคตัวเองต้องตามขยี้ แต่พอคนที่ย้ายเข้ามากลับถูกฟอกทันที ว่าเป็นประชาธิปไตยหน้าตาเฉย

ดังนั้น งานนี้สำหรับเพื่อไทยมันก็เหมือนทุกอย่างกำลังเข้าตัว หากกล่าวหาว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากพรรครวมไทยสร้างชาติ หรือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นเผด็จการสืบทอดอำนาจ แต่กลายเป็นว่าทุกอย่างทำท่ากลับตาลปัตร เพราะล่าสุดพวกเขากำลังเข้าสู่ระบบมากขึ้น โดยเฉพาะ “ลุงป้อม” ที่ข้ามไปไกล ควบบัญชีรายชื่ออันดับหนึ่ง ถือว่าตบหน้านักประชาธิปไตยฉาดใหญ่ !!



กำลังโหลดความคิดเห็น