“รสนา” ตั้งคำถาม นายกฯ ยุบสภาโดยไม่มีเหตุขัดแย้ง ระหว่างฝ่ายบริหาร กับ นิติบัญญัติ แต่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ให้บางพรรคหาคนมาสมัครสมาชิกให้ทันเวลา เข้าข่ายคอร์รัปชันเชิงอำนาจหรือไม่
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแสดงความเห็นกรณีการยุบสภา ว่า การยุบสภาโดยปราศจากเงื่อนไขข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร เป็นการคอร์รัปชันเชิงอำนาจหรือไม่!?
บนพื้นฐานการบริหารแบบประชาธิปไตย ใช้หลักการแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายสภานิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ การบริหารงานระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร คือ การถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน โดยที่สภาผู้แทนราษฎรสามารถตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลด้วยการควบคุมการใช้งบประมาณ โหวตคว่ำกฎหมายสำคัญของรัฐบาล การตั้งกระทู้ถามไปจนถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส่วนรัฐบาลก็มีเครื่องมือตอบโต้ฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร คือ การยุบสภา เมื่อไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างกัน
วัตถุประสงค์หลักที่สําคัญของการยุบสภามี 2 ประการ คือ ประการแรก เป็นการถ่วงดุล หรือควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหาร ประการที่สอง เป็นการนำเสนอข้อขัดแย้งต่อประชาชน เพื่อให้ประชาชนตัดสินว่าจะแก้ปัญหาตามแนวทางใดโดยแสดงออกผ่านการใช้สิทธิเลือกต้ัง
แม้ภายหลังจะมีการเพิ่มสาเหตุที่มีการยุบสภาไว้ประมาณ 9 กรณี ได้แก่
1) ความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายบริหาร คือ รัฐบาล กับฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา
2) ความขัดแย้งระหว่างวุฒิสภากับสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณากฎหมายสําคัญ
3) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่ และยังไม่แน่ใจว่าประชาชนจะเห็นด้วยกับฝ่ายที่ขอแก้ไขหรือไม่
4) ต้องการเร่งการเลือกต้ังให้เร็วขึ้น
5) ต้องการให้มีการเลือกตั้งในขณะที่ฝ่ายบริหารหรือพรรคที่เป็นรัฐบาลกําลังได้รับ ความนิยมจากประชาชน
6) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกําลังจะเข้าชื่อเสนอญัตติขออภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี
7) เกิดปัญหารัฐบาลที่จัดตั้งมีลักษณะเป็นรัฐบาลผสม นายกรัฐมนตรีไม่อาจควบคุมการทํางานของพรรคร่วมรัฐบาลได้
8)เกิดปัญหาในการบริหารประเทศอย่างร้ายแรงจนสภาไม่อาจทํางานต่อไปได้
9) ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องให้มีการยุบสภา เพราะต้องการให้มีการเลือกตั้งทั่วไป
ช่วงนี้สังคมกำลังจับตาดูว่า นายกฯ จะประกาศยุบสภาวันไหนและดูเหมือนจะมีข่าวว่า นายกฯ อาจจะประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม ทั้งๆ ที่สภาจะครบกำหนดในวันที่ 23 มีนาคม 2566 โดยที่ กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปว่าจะเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ถ้าวันพรุ่งนี้ นายกฯ ประกาศยุบสภาจริง ก็ต้องถือว่าการยุบสภาในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ใน 9 กรณีของสาเหตุการยุบสภาที่ผ่านมา
แต่สาเหตุการยุบสภาในครั้งนี้ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเกิดใหม่ของนายกฯ ใช่หรือไม่ ที่จะมีเวลาหาคนมาสมัคร สมาชิกพรรคภายใน 30 วัน แทนที่ต้องเป็นสมาชิกพรรค 90 วัน ถ้ารัฐสภาสิ้นสุดตามวาระ ตามบทบัญญัติ รธน.มาตรา 97(3)
การยุบสภาก่อนสภาหมดวาระเพียงไม่กี่วัน โดยไม่เข้าเกณฑ์ 9 เงื่อนไขดังกล่าว ถือเป็นกรณีที่ไม่ชอบมาพากล แต่ผลได้คือการมีเวลาในการเจรจาหาคนมาเข้าพรรค ดังที่มีคำกล่าวว่า “ตกปลาในบ่อคนอื่น” เพื่อมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคของตนได้ภายใน 30 วัน อย่างน้อยก็หวังว่าจะได้ ส.ส ในจำนวนที่พอจะเสนอท่านนายกฯ เป็นคู่ชิงนายกฯ รอบใหม่ ใช่หรือไม่ หากไม่ทำเช่นนี้ ปล่อยให้สภาหมดวาระตามปกติ วันที่เลือกตั้งทั่วไปตามที่ กกต.กำหนดไว้คือวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 ดังนั้น ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องสมัครเป็นสมาชิกภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งพรรคเกิดใหม่ของท่านนายกฯ น่าจะไม่สามารถหาคนมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ทันเวลา จึงต้องใช้การยุบสภา เพื่อเอื้อประโยชน์ในกรณีนี้ ใช่หรือไม่
การบิดเบือนธรรมเนียมปฏิบัติของยุบสภาที่เป็นการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินั้น มาเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองเกิดใหม่บางพรรคนั้น เป็นการกระทำที่มีความซื่อตรงหรือไม่ เป็นการทุจริตเชิงอำนาจหรือไม่
หลักการประชาธิปไตย คือ การแยกอำนาจและการถ่วงดุลอำนาจทั้ง 3 ฝ่าย หลักการดังกล่าวกลับบิดเบี้ยวเมื่อเจอศรีธนญชัยทางการเมืองแบบไทยๆ