วันนี้ (28 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร นางสาวภคอร จันทรคณา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้กล่าวอภิปรายพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ว่า จาก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ในมาตราที่ 22, 24 และมาตรา 25 นั้น ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดเวลาที่เข้าตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและขัง พร้อมกับแจ้งให้ฝ่ายปกครองของอำเภอ และ อัยการทราบ ทำบันทึกการจับกุม สภาพร่างกายและจิตใจของผู้ถูกจับและควบคุมตัวโดยละเอียดเพื่อให้ญาติและทนายความสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการซ้อมทรมาน การอุ้มหาย อุ้มฆ่า และการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบโดยเจ้าหน้าที่ โดย ครม. มีมติให้ชะลอการบังคับใช้ออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2566 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอโดยให้เหตุผลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติการตามกฎหมายแจ้งว่า “ยังมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับความพร้อมด้านงบประมาณการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานในการบังคับใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนซับซ้อนและมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนโดยตรง หากมีการใช้บังคับกฎหมายขณะที่หน่วยงานยังไม่มีความพร้อมอาจเกิดผลร้ายต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง” ดังนั้น ตนในฐานะผู้แทนประชาชน ไม่เห็นด้วยกับการออกพระราชกำหนดดังกล่าว เพียงเพื่อให้ชะลอการบังคับใช้เป็นสิ่งที่ไม่สมควร เพราะถือได้ว่า การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจ ใช้กำลังกับประชาชน ยิ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรงในท้องที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุม คุมขัง จัดแต่งรูปคดี ซ้อมผู้ต้องหา ทรมาน ได้ตามอำเภอใจ รีดทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็มีมากพอสมควร และยากมากที่ประชาชนตาดำๆ จะต่อกรกับรัฐได้ ทั้งๆ ที่เป็นผู้จ่ายภาษี เงินเดือนราชการ สวัสดิการอื่นๆ ให้จนตาย เพราะฉะนั้น ตนขอย้ำว่า ประชาชน ก็คือ เจ้านายของข้าราชการ ซึ่งหากข้าราชการ ทำอะไรไม่ถูกต้องแล้ว ประชาชนก็สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายได้
“ดิฉันได้ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงสั้นๆ โดยในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เสนอแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.....เพื่อปฏิรูปตำรวจให้ยึดระบบอาวุโส 85% สมรรถนะ 15% เพื่อลดการคอร์รัปชันในระบบการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อจะได้มีเวลาทำงานให้ประชาชน และ แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ....เพื่อปกป้องธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไม่ให้ธุรกิจเจ้าสัวผูกขาด เกิน 30% ของตลาด ถ้าเกินมีโทษจำคุก 5-10 ปี สุดท้ายนี้ ดิฉันจึงขอกราบขอบคุณ ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร-รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง 2 ท่าน ที่ให้โอกาสในการทำหน้าที่ รวมทั้งขอบคุณเพื่อนสมาชิก ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในรัฐสภาแห่งนี้ สิ่งสำคัญคือ ดิฉันขอกราบขอบคุณประชาชนคนไทยที่เลือกพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่ชอบ และที่รักพรรคไทยศรีวิไลย์ในปัจจุบัน ที่ให้มาทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน ซึ่งดิฉันก็ทำหน้าที่เต็มความสามารถ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น ประชาชนยิ้มได้ ตามปณิธานของ ท่านมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ซึ่งเป็นคนของประชาชนทั้ง 66 ล้านคน ขอบคุณค่ะ” นางสาวภคอร กล่าว
นอกจากนี้ นางสาวภคอร ยังได้กล่าวภายหลังด้วยว่า จากการทำหน้าที่ ส.ส. ที่ผ่านมา ในการประชุมทั้ง 3 ครั้ง ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะได้แสดงให้คนทั้งประเทศเห็นว่า พรรคไทยศรีวิไลย์ ไม่ได้มีแค่นายมงคลกิตติ์ คนเดียว ที่สามารถทำหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น ยังมีตน และคนอีกมากมายในพรรคที่สามารถ เป็น ส.ส.ที่ดีตามที่ประชาชนคาดหวังได้ ดังที่ตนได้อภิปรายเกี่ยวกับ พ.ร.ก. ฉบับนี้ เพราะตนมองว่า นอกจากเป็นการซื้อเวลาแล้ว ยังมีเจตนาที่จะปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทรมานผู้ต้องหา เพื่อให้รับสารภาพ โดยไม่ต้องรับผิด และอาจจะเป็นช่องทางหนึ่ง ในการทุจริตงบประมาณแผ่นดินจากการอ้างว่าเครื่องมือยังไม่พร้อมอีกด้วย ดังนั้น ในสภาชุดต่อไป ทางพรรคไทยศรีวิไลย์ จะได้มีการยื่นกระทู้ถามถึงเรื่องดังกล่าว เพราะยังมีหลายประเด็นที่ยังคลางแคลงใจว่า มีความไม่ชอบมาพากลในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ รวมทั้ง พรรคไทยศรีวิไลย์เอง ก็มีนโยบายปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อทำให้คนไทยทุกคนสามารถเชื่อมั่นและมั่นใจได้ โดยมีเป้าหมายเพื่อลบล้างวลี “คุกมีไว้ขังคนจน” ให้หมดไปจากสังคมไทย เพราะฉะนั้น หากประชาชนสนับสนุนพรรคไทยศรีวิไลย์ ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้งที่ถึงนี้แล้ว ก็จะได้ นายมงคลกิตติ์ ตนเอง และคนอื่นๆ ในพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่จะสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย