สธ.หารือคณะทำงานพัฒนาสวัสดิการลูกจ้างชั่วคราวและ พกส. หาทางออก 6 ข้อเรียกร้อง พอมีหวัง 2 เรื่อง "ทั้งค่าเสี่ยงภัย 3 จังหวัดชายแดนใต้ แบ่ง 2 ระดับ ปริญญาตรี 1 พันบาท ต่ำกว่าป.ตรี 500 บาท และค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ส่วนจ้าง พกส.ด้วยเงินงบประมาณและจ้างถึงอายุ 60 ปี ต้องหารือต่อ ทยอยปรับลูกจ้างเป็น พกส. มอบสมาพันธ์ฯ สำรวจภาระหนี้สินเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการ พกส.วางแนวทางแก้ไข
ความคืบหน้ากรณีสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย ที่นำพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) และลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน มาเรียกร้องสวัสดิการและความก้าวหน้าเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จำนวน 6 ข้อเรียกร้อง จนเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ได้ข้อสรุปในการจัดตั้งคณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและ พกส. โดยจะเริ่มประชุมนัดแรกวันที่ 2 มี.ค. 2566
ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะทำงานพัฒนาและปรับปรุงสวัสดิการของลูกจ้างชั่วคราวและ พกส. ได้เลื่อนการประชุมนัดแรกขึ้นมาเร็วขึ้นเป็นวันที่ 21 ก.พ. โดยมี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานคณะทำงานฯ นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) และผู้แทนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันมีมติทั้ง 6 ข้อ ดังนี้ ข้อ 1 การขอให้ พกส.สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง และข้อ 2 การให้ยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น 4 ปี และปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี ทั้ง 2 เรื่อง เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและเกินอำนาจการบริหารจัดการของ สธ. จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ข้อ 3 ขอให้ยกเลิกการจ้างลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการ (รายเดือน/รายวัน) และปรับเป็น พกส.ทั้งหมดทั่วประเทศ กรณีนี้ไม่สามารถดำเนินการยกเลิกได้ทันที แต่จะทยอยลดการจ้างงานและผลักดันให้เข้าสู่ระบบการจ้างเป็น พกส. ต่อไป ข้อ 4 ขอให้ พกส.และลูกจ้างที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการ ได้หารือกับกรมบัญชีกลางแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อผลักดันค่าตอบแทนพิเศษ โดยแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ปริญญาตรีค่าตอบแทน 1 พันบาท และต่ำกว่าปริญญาตรี 500 บาท โดยจ่ายจากเงินบำรุง ซึ่งจะได้รับทั้งข้าราชการและลูกจ้าง
ข้อ 5 ขอให้ พกส.และลูกจ้างทุกประเภท ได้รับค่าเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด ได้ดำเนินการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งสายวิชาชีพและสายสนับสนุนทั้งหมด เรื่องอยู่ที่สำนักงบประมาณ เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป และข้อ 6 ขอปรับค่าทำงานนอกเวลา (OT) ของพกส.และลูกจ้างชั่วคราว ให้ยึดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ ฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 ที่ผ่านมาก่อน โดยการเพิ่มอัตราค่าตอบแทนที่มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เป็นอำนาจของแต่ละจังหวัด/เขต ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะเงินบำรุงของ รพ. ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนของแต่ละพื้นที่ที่ไม่เท่ากัน ขอให้ทางสมาพันธ์ฯ รวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินการแก้ไขเป็นรายจังหวัดต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ให้ทางสมาพันธ์ฯ สำรวจข้อมูลภาระหนี้ของพนักงาน เพื่อให้คณะกรรมการ พกส.นำมาพิจารณาวางแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบและยั่งยืน หากบุคลากรในพื้นที่ใดไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม สามารถแจ้งมายังศูนย์บริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ สธ.ได้ตามระบบ
ด้านนายโอสถ กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีเพียง 2 ข้อ จาก 6 ข้อที่มองว่ายังพอมีหวัง คือ เงินค่าเสี่ยงภัยเหมือนข้าราชการอื่นๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และ 5 อำเภอ จ.สงขลา และค่าเสี่ยงภัยโควิด 19 ซึ่งทำเรื่องของบจากสำนักงบประมาณแล้วก็ต้องรอเช่นกัน ส่วนอีก 4 ข้อ อย่างปรับค่าโอทีให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยขอปรับเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศในส่วนของสายที่กำหนดวุฒิขอให้ปรับตามที่กระทรวงกำหนด ที่ประชุมบอกว่า เพิ่งขึ้นค่าโอทีไปไม่ถึง 1 เดือน หากจะขึ้นอีกอาจจะลำบาก ซึ่งเสนอว่า หากต้องการเพิ่มเติมสามารถเรียกร้องได้ที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดแทน ส่วนข้อเสนอให้ พกส.เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณผ่านกระทรวงการคลังโดยตรง มิใช่เงินบำรุง ยกเลิกสัญญาจ้างระยะสั้น 4 ปี ให้จ้างถึงอายุ 60 ปี เพื่อความมั่นคงในการทำงาน และยกเลิกการจ้างที่ไม่เป็นธรรม โดยให้จ้างเป็นลูกจ้างสายพันธุ์เดียว คือ พกส.นั้น หลังจากนี้ต้องขอหารือกับสมาชิกและคณะกรรมการฯ ว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป เพราะจากการประชุมทางผู้บริหารระบุว่า ส่วนใหญ่ยังต้องรอสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางพิจารณา