xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์-ผบ.ตร.” แจงสภาไม่พร้อมใช้ กม.อุ้มหาย ก้าวไกลปลุกขวางเลื่อน ชี้จะเกิดกับใครเมื่อไหร่ก็ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาถก กม.อุ้มหาย “สมศักดิ์” แจง สภาออก พ.ร.ก.เลื่อนบังคับใช้ 7 เดือน เหตุ สตช.ไม่พร้อม ผบ.ตร.แจงเตรียมการไม่ทัน พบปัญหาทางปฏิบัติกระทบกระบวนการยุติธรรม “พิธา” ชวนโหวตคว่ำห้ามยื้อ ถามนายกฯปล่อยล่าช้าไม่ใส่ใจหรือเลือดเย็น ชี้ อุ้มหายเกิดกับใครเมื่อไรก็ได้ ย้ำจุดยืนยุติวัฒนธรรมลอยนวล ปฏิรูปกองทัพ-ตร.

วันนี้ (28 ก.พ.) มีการประชุมสภาผู้แทนราษฏร นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอต่อสภา เพื่อให้ลงมติว่าาจะอนุมัติหรือไม่อนุมัติการบังคับใช้ พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งมีเนื้อหาต่อการชะลอใช้ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 หลังจากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้แล้ว และกำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐที่รับผิดชอบต่อการควบคุมตัว รวมถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามมการทรมานฯ กำหนดมาตรการและกลไกที่เหมาะและมีความพร้อมต่อการปฏิบัติงานให้เสร็จ ภายในวันที่ 30 กันยายน 2566

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ชี้แจงในนาม ครม.โดยยืนยันว่า กระทรวงยุติธรรม มีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ทั้งการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนกฎหมาย การจัดทำคู่มือปฎิบัติงาน การสร้างการรับรู้ แต่กระทรวงยุติธรรม ได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 ซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง คือ 1. ขาดงบประมาณและอุปกรณ์ 2. ขาดความพร้อมของบุคลากร และ 3. ขาดมาตรฐานกลางในการปฎิบัติงาน

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า จึงได้มีการพิจารณาเหตุขัดข้องของตำรวจ ถึงผลร้ายหากปล่อยให้เจ้าหน้าที่ปฎิบัติงานด้วยความไม่พร้อม อาจส่งผลต่อชีวิตร่างกายของประชาชนโดยตรง รวมถึงจะส่งผลไม่ปลอดภัยต่อสาธารณะ ที่ทำได้ไม่สมบูรณ์ อาจเกิดการโต้แย้งในการดำเนินคดีได้ โดยจากข้อเท็จจริง ถือเป็นกรณีฉุกเฉิน ที่ไม่อาจเลี่ยงได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 จึงขอเสนอ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยมีสาระสำคัญ คือ การเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย จำนวน 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ออกไปให้บังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมในการปฎิบัติตามกฎหมายฉบับนี้

“ผมขอเรียนสภาว่า การตราพระราชกำหนดนั้น เป็นการขยายเวลากำหนดบังคับใช้มาตรา 22-25 เป็นการชั่วคราว หรือ ประมาณ 7 เดือน ส่วนฐานความผิด การกระทำทรมาน หรือ อุ้มหาย ยังคงมีอยู่ และยังบังคับใช้อย่างเต็มที่ โดยหากเจ้าหน้าที่ กระทำผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ก็จะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ไม่ได้เว้นการลงโทษแต่อย่างใด รวมถึงปัจจุบัน หน่วยงานต่างๆก็ได้เร่งขับเคลื่อน เพื่อให้ปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ขณะที่การอภิปรายของ ส.ส. นั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่านค้านแสดงความไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นการละเมิดหลักการคุ้มครองประชาชน และการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่เข้าข่ายเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดพร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าการไม่เตรียมพร้อมของหน่วยงานเพื่อเตรียมตัวการทำงานให้เป้นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเป็นการละเลยของหน่วยงาน ดังนั้น การตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาให้กับหน่วยงานรัฐ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายที่อาจจะมีผลกระทบต่อการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนที่ถูกจับกุม ดำเนินคดีหรือไม่

ทั้งนี้ สมาชิกได้อภิปรายอย่างต่อเนื่อง โดย ส.ส.ฝ่ายค้าน ลุกสอบถามถึงความชัดเจนต่อกรณีที่ ส.ส. ลงชื่อเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความตามการตรา พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะถือว่าจงใจต้องการให้ พ.ร.ก.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย และเพื่อให้รอการพิจารณาและลงมติ พ.ร.ก.ดังกล่าวตามขั้นตอน

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ไม่น่าเชื่อว่า แม้แต่ พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหายฯ ยังโดนอุ้มหายจากสภา ทั้งที่เรื่องนี้น่าจะเป็นฉันทามติเดียวระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับพรรคฝ่ายรัฐบาล และระหว่าง ส.ส. กับ ส.ว. แต่กลับมาตกม้าตายเพราะเรื่องวัสดุอุปกรณ์อย่างกล้อง

ทั้งที่กฎหมายนี้ผ่านสภา เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาในเดือนตุลาคม 2565 กำหนดให้เวลา 120 วัน ในการเตรียมตัว แต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาถึง 81 วัน ในการยื่นขอรับสนับสนุนงบประมาณ กว่าเรื่องจะไปถึง ครม. คือ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เหลือเวลาก่อนกฎหมายบังคับใช้เพียง 12 วัน

“คนที่ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่ถูกซ้อมทรมานและอุ้มหาย คงไม่เข้าใจว่าช้าไปเพียงหนึ่งนาทีหรือหนึ่งวันเป็นอย่างไร รัฐบาลมีเวลาในการเตรียมตัว แต่กลับไม่เตรียม ผมไม่รู้ว่าสาเหตุ คือ ความประมาทเลินเล่อ ความไม่ใส่ใจ หรือความเลือดเย็นทางการเมือง นี่คือ สาเหตุที่ผมและพรรคก้าวไกลไม่สามารถผ่าน พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้”

ทั้งนี้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา คนที่สอง ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยื่นเรื่องต่อประธานสภา หากมีการยื่นแล้วจะต้องพิจารณาในรายละเอียดต่อไป พร้อมขอให้ ส.ส.อภิปรายเนื้อหาต่อไป

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ชี้แจงต่อที่ประชุมสภา โดยย้ำว่า การตรา พ.ร.ก.ดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อให้หน่วยงานได้เตรียมความพร้อมต่อการปฏิบัติงานที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ทั้ง 3 มาตราดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและตำรวจ ต้องบันทึกภาพและเสียงตลอดการจับกกุมในทุกคดี จากเดิมที่ในการปฏิบัติจะมีการบันทึกภาพและเสียง ในคดีที่มีบทลงโทษสูงเท่านั้น

“แม้ขณะนี้ ครม. จะอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ในการทำงาน แต่ยังมีปัญหา ซึ่งทุกหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายพบปัญหาเช่นเดียวกัน ทั้งอุปกรณ์บันทึกภาพ การจัดเก็บข้อมูลและการเชื่่อมโยงข้อมูลในการจับกุม เพื่อขยายผล หากการจับกุมต้องเดินทางระยะไกล หรือโดยสารเครื่องบินพาณิชย์ และที่สำคัญ ยังมีระเบียบกลางที่จะให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เพราะหน่วยงานมีมาตรฐานของหน่วยงานไม่เหมือนกัน ซึ่งหากทำไม่เร็จอาจกระทบต่อความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมได้ อีกทั้งยังมีประเด็นการซักซ้อม การจับกุม การรับแจ้งที่หลายหน่วยงานมีปัญหาเช่นเดียวกัน และมีปัญหาในทาางปฏิบัติ” ผบ.ตร. ชี้แจง

ผบ.ตร. ชี้แจงด้วยว่า ตามที่ ส.ส.อภิปรายด้วยว่า ทำไมไม่ใช้โทรศัพท์มือถือไปพรางก่อน เป็นเพราะว่าการจับกุมทันท่วงทีต้องใช้สองมือในการจับกุมควบคุม หากมีอาวุธ ผู้ต้องหาต่อสู้ต้องใส่กุญแจมือ ขอให้นึกถึงการปฏิบัติงาน ว่า มือหนึ่งถือโทรศัพท์ เพื่อบันทึกภาพ อีกมือต้องจับกุม รวมถึงกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยโทรศัพท์มือถือหากมีสายเข้า หรือแจ้งเตือนของโปรแกรม อาจทำให้ทำให้การบันทึกเสียงเสียไป ขณะที่การเก็บข้อมูลที่ต้องเก็บไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุดหรือ หมดอายุความ อาจมีปัญหาและต้องใช้งบประมาณ

“สำหรับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ของประชาชน ยังได้รับความคุ้มครอง สตช. ไม่นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉย ต่อการทำงานให้โปร่งใส” ผบ.ตร. กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น