xs
xsm
sm
md
lg

“สมศักดิ์” แจง พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีผลแล้ว เลื่อนแค่ 4 มาตรา รอความพร้อม สตช.เท่านั้น ยัน รบ.ไม่คิดเตะถ่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมศักดิ์” ตอบกระทู้สภา ยัน รบ.ไม่ได้ถ่วงเวลาใช้ กม.อุ้มหายฯ ชี้ ทั้งฉบับยังใช้ได้ เลื่อนแค่ 4 มาตรา ห่วงดึงดันใช้แบบไม่พร้อมส่งผลเสียต่อสังคมมากกว่า “ณัฐวุฒิ” หวั่นส่งผลกระทบไปถึงระดับสากล ชี้ เหมือนฟาดดวงใจคนทั้งประเทศ

วันนี้ (23 ก.พ.) เมื่อเวลา 12.00 น. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในการประชุม วาระพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา โดย นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ถาม นายกรัฐมนตรี ถึงการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้แทน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีบุคคลถูกทรมานและทำให้สูญหายจำนวนมาก ถือเป็น 16 ปีแห่งความหลังที่ชอกซ้ำ วันนี้ประเทศไทยต้องคืนความยุติธรรมให้บุคคลที่ถูกทรมานและสูญหาย และต้องไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก แต่เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้เลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป 4 มาตราด้วยกัน เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์และบุคลากร

“การเลือกการบังคับใช้กฎหมาย ถือเป็นการฟาดดวงใจกับคนทั้งประเทศ ส่งผลไปถึงระดับสากล จึงอยากฟังเหตุผลถึงความจำเป็นดังกล่าว นอกจากนี้ การเลื่อนนี้จะส่งผลถึงความปลอดภัยของสาธารณชนมากกว่า การไม่เลื่อนออกไปหรือไม่” นายณัฐวุฒิ ถาม

นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ปกติการทำบันทึกการจับกุมมีกระบวนการบันทึกข้อมูลอยู่แล้ว ซึ่งในที่ประชุมของ กมธ.กฎหมาย ทางผู้ใหญ่ของ สตช. ได้มาให้ข้อมูลว่า สตช.มีความพร้อม และตนยังพบรายงาน เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 64 ว่า มีการจัดหากล้องติดหมวกเจ้าหน้าที่ 120,500 ชุด รวมถึงกล้องวงจรปิด กล้องบันทึกแบบเคลื่อนไหวไปแล้วอีกหลายพันชุด ดังนั้น อะไรคือหลักประกันว่านี่คือการเลื่อนระยะสั้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น และยืนยันได้หรือไม่ว่าในระหว่างที่ยังไม่มีกล้องบันทึกจะไม่มีการทรมานและการอุ้มหายอีก และการออกพรราะช (พ.ร.ก.) นั้น จะส่งมาให้สภาพิจารณาได้เร็วที่สุดเมื่อใด

ด้าน นายสมศักดิ์ ชี้แจงว่า ขณะนี้ พ.ร.บ.ยังดำเนินการต่อไป มีแค่ 4 มาตราเท่านั้นที่รอความพร้อม ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม หรือกระทรวงอื่นๆ ที่มีลักษณะการจับกุมมีความพร้อม เพราะมีภาระหน้าที่ คดีความน้อยกว่า สตช. เพราะมาตรา 22 ต้องมีการบันทึกเทป ทั้งกระบวนการ อาจจะส่งความผิดพลาด โดยขณะนี้ ครม.อนุมัติงบประมาณ 444.81 ล้านบาท ให้ สตช.จัดหากล้องบันทึกภาพและเสียง 48,568 ชุด 3 รายการ ได้แก่ 1. กล้องชนิดติดตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ 37,624 ชุด งบประมาณ 338.62 ล้านบาท 2. กล้องบันทึกพร้อมอุปกรณ์ ใช้ในห้องสอบสวนและควบคุม 9,366 ชุด งบประมาณ 93.57 ล้านบาท และ 3. กล้องชนิดติดตั้งในรถยนต์ 1,578 ชุด งบประมาณ 12.62 ล้านบาท

“การเลื่อน 4 มาตรา ไป 7 เดือน ดูแล้วความสมบูรณ์ตรงนี้หากเราดำเนินไปตามนี้ ความไม่พร้อมทั้งหมดจะเรียบร้อยไปได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การออกกฎหมายบางฉบับเป็นประโยชน์มาก หากเราได้ออกกฎหมายอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ในตอนแรก สตช.ขอเลื่อนแบบไม่มีกำหนด แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วเห็นว่าควรให้แค่ 7 เดือนเท่านั้น หากเราไม่เลื่อนให้เลยอาจจะมีผลเสียตามมา อาจจะทำให้การเก็บรวมรวมหลักฐานตามกระบวนการไม่สมบูรณ์ เกิดการโต้แย้งในระหว่างดำเนินคดี ส่งผลเสียต่อสังคมอย่างมาก รวมถึงอาจทำให้เจ้าหน้าที่เสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางอาญาและวินัยอีกด้วย จึงเป็นเหตุให้ต้องมีการเลื่อนในมาตราที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ซึ่งกระทรวงยุติธรรมก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการเลื่อน แต่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเราจึงกำหนดกรอบไว้แค่ 7 เดือน

รมว.ยุติธรรม กล่าวย้ำว่า การดำเนินการตรงนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ไปดึงดันอะไรทั้งสิ้น ส่วนไหนที่ไม่สมบูรณ์ งบประมาณที่ขาดอยู่ก็เติมให้ ซึ่งในมาตราอื่นที่อยู่ในกฎหมายนั้นก็ยังใช้ได้ สำหรับมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า การจัดทำ พ.ร.ก. ต้องส่งเข้าสภาโดยเร่งด่วน ตนได้ถามไปที่สำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ทราบว่า หนังสือกำลังจะส่งอยู่นายกฯแล้ว หากมีโอกาสเปิดสภาก็คงมีโอกาสได้พิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจของประธานสภาในการพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น