xs
xsm
sm
md
lg

"แอมเนสตี้" ยื่น ยธ. ค้านเลื่อน ม.22-25 พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ปม จนท.รัฐ ถ่ายคลิประหว่างจับกุม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



MGR Online - ก.ยุติธรรม รับเรื่อง “แอมเนสตี้” ขอไม่เลื่อน มาตรา 22-25 พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหายฯ ให้บังคับใช้ทั้งฉบับ ป้องกัน จนท.รัฐ ละเมิดสิทธิประชาชน

วันนี้ (21 ก.พ.) เวลา 10.30 น. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อม นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และอดีตจำเลยในคดีอาญามาตรา 112 รวมถึง ตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหาย เข้าเรียกร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อให้ยุติการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาการบังคับใช้ มาตรา 22-25 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 โดยมี นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้แทนรับเรื่อง

นางปิยนุช กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ.66 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ในมาตรา 22-25 ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค.66 คือ มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง ในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว , มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว , มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว และ มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน โดยระบุเหตุผลถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ระดับหน่วยปฏิบัติและข้อขัดข้องเรื่องการจัดซื้อกล้อง และต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่ต้องฝึกในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ

นางปิยนุช กล่าวอีกว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ติดตามความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่จะมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.66 มาโดยตลอด แต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งการที่ ครม. มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ. ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ

“สำหรับการเรียกร้องในวันนี้มี 3 ข้อ ดังนี้ 1.ประกาศการใช้ พ.ร.บ.ทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา 2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่างๆ และ 3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทำความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน” นางปิยนุช กล่าว

ด้าน นายเกิดโชค ระบุว่า ในนามของกระทรวงยุติธรรม ตนร่วมกับ แอมเนสตี้ ขับเคลื่อนผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้มากกว่า 10 ปี กว่าจะได้ออกมาบังคับใช้ โดยจะนำข้อเรียกร้องไปเสนอต่อ รมว.ยุติธรรม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้ยกเลิกทั้งฉบับ ยังบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.เช่นเดิม แค่เว้นการบังคับใช้มาตรา 22-25 ออกไปก่อน ซึ่งเป็นเรื่องของการบันทึกภาพของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจจับกุม ควบคุมตัว โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์บันทึกภาพ เสียง และข้อมูล จนคดีถึงที่สุด แต่ในวันที่ 1 ต.ค. พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีการบังคับใช้อย่างสมบูรณ์

นายเกิดโชค ระบุอีกว่า หากระหว่างจนถึงวันที่ 1 ต.ค. เจ้าหน้าที่มีการกระทำทรมาน กระทำให้สูญหาย ก็จะมีความผิดตามอาญาอยู่แล้ว อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมจะมีการตั้งจุดรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อให้ประชาชนสามารถยื่นเรื่อง ติดตามเรื่อง เสนอเรื่องได้ อย่างไรก็ตาม หากในช่วงระหว่างจนถึงวันที่ 1 ต.ค.นี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอำนาจในการจับกุมตัว ควบคุมตัวผู้ต้องหาก็สามารถใช้โทรศัพท์มือถือในการบันทึกภาพและบันทึกเสียงได้ แต่เพียงแค่ว่าหากไม่ดำเนินการก็ไม่ได้มีความผิด ยืนยันว่าการละเว้นมาตรา 22-25 ไม่ได้กระทบต่อเนื้อหาหลักภายใน พ.ร.บ.ฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น