xs
xsm
sm
md
lg

“พนิต” โพสต์ “พรรครุ่นใหม่” เดินแบบไหนให้อยู่รอด แนะ แก้ภาพลักษณ์ถูกมองสุดโต่ง ลดโทนทะลุเพดาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (23 ก.พ.) นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภา โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์ เรื่อง “(พรรคการเมือง) พลังใหม่
เดินแบบไหน...ให้อยู่รอด ?” โดยมีรายละเอียดว่า สถานการณ์การเมืองอยู่ในช่วงใกล้ สิ้นสุดวาระสภาในวันที่ 23 มี.ค.นี้ โดยนายกฯเตรียมยุบสภาในช่วงเดือน มี.ค.นี้ ก่อนคืนอำนาจให้แก่ประชาชนและจัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.นี้

ตลอดระยะเวลา 20 ปี ตนอยู่ในสนามการเมืองไทย มีบทเรียนมานับไม่ถ้วน ทั้งเรื่องความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ผ่านการบริหารราชการแผ่นดินระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ และ รัฐมนตรีต่างๆ ขณะเดียวกัน ก็มีสายสัมพันธ์กับผู้คนทุกระดับ ทุกชั้นวรรณะ ซึ่งบทเรียนเหล่านี้ได้สร้างประสบการณ์ให้กับตนมากมาย
เมื่อไม่นานนี้ มีเพื่อนนักการเมืองต่างขั้ว ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น “…การเลือกตั้งที่จะมาถึงในไม่กี่เดือนข้างหน้าว่ามันไม่ใช่การต่อสู้ระหว่าง “ฝ่าย non ประยุทธ์” vs “ฝ่ายประยุทธ์” ไม่ใช่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” vs “ฝ่ายเผด็จการ” แบบเดิมๆ

แต่เป็นการสู้กันระหว่าง “พลังเก่า” vs “พลังใหม่”

ตนได้รับฟังและมีข้อเสนอพร้อมความเห็นประกอบว่า “กลุ่มพลังเก่า” (คนรุ่นเก่า) และ “กลุ่มพลังใหม่” (คนรุ่นใหม่) ในสังคมไทยมีมากขึ้นทุกวัน และสิ่งที่พรรคการเมืองต้องยอมรับก่อน คือ สังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ก็คือ ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากขึ้นกว่าในอดีต และต้องการเปลี่ยนประเทศชาติให้ดีขึ้น ไม่ใช่ผูกขาดการครองอำนาจให้แก่คนในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หรือ ระบอบสืบทอดอำนาจ
อะไรที่เคยคิดว่าแน่นอน วันนี้กลับไม่มีความแน่นอน อะไรที่คิดว่ามั่นคง วันนี้อาจจะไม่มั่นคงแล้วก็ได้ ถึงเวลาที่ทุกพรรคการเมืองไม่ว่าเก่าหรือใหม่จะต้องปรับตัวโดยด่วน
โดยเฉพาะพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ ที่ผ่านมา 4 ปี ถือว่าทำหน้าที่ได้อย่างโดดเด่น และมีโอกาสจะเป็นความหวังของคนไทย ทั้งนโยบายเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศ ชัดเจนเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยเฉพาะบทบาทฝ่ายค้านที่ขึ้นชกสมศักดิ์ศรี ไม่มีมวยล้มต้มคนดู

แต่ด้วยท่าทีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประกอบกับแนวร่วมต่างๆ ที่ผ่านมา จึงถูกผลักไปอยู่ฝ่ายสุดโต่งถึงขนาดบอกว่าเป็นซ้ายจัด

จึงกลายเป็นเหยื่ออันโอชะให้ผู้ไม่หวังดีนำไปบิดเบือน จนเลยเถิดเป็นทำงานการเมืองแบบทะลุเพดาน นำไปสู่ความไม่สบายใจ และความหวาดระแวง ที่จะเปลี่ยนแปลง จนเกินกติกา และกฎหมายที่กำหนดไว้
ฉะนั้น หากไม่ต้องการเป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา โจทย์สำคัญข้อแรก คือ ต้องชัดเจน เรื่องยุทธศาสตร์ ว่ากำลังต่อสู้ และทำอะไร พร้อมแก้ไขจุดอ่อน ด้วยการทำอะไรที่เป็นสัญลักษณ์และต้องประจักษ์ชัดว่าเลือกพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่จะไม่มีพฤติกรรมเช่นนั้น หรืออย่างน้อยมีอะไรเข้ามาถ่วงดุล

ต่อมา ต้องแก้ปัญหาความไม่เชื่อมั่น หลังถูกปรามาส ว่า หากมีโอกาสเป็นรัฐบาลแล้ว จะบริหารประเทศไม่ได้ หรือบริหารไม่เป็น เนื่องจากเป็นคนรุ่นใหม่ยังขาดประสบการณ์ นโยบายต่างๆ ที่ประกาศไว้ช่วงหาเสียงอาจเป็นเพียงวาทกรรม หรือ ขายฝันเพื่อเรียกคะแนนเท่านั้น
.
นอกจากต่อสู้กับนักการเมืองด้วยกัน ยังต้องฝ่าด่านหิน คือ ระบบข้าราชการ ที่เข้มแข็ง ซึ่งต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ขอความร่วมมือให้เขาช่วยทำงาน เพราะหากเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่เอาด้วย ก็เตรียมนับเวลาถอยหลัง ม้วนเสื่อกลับบ้านได้เลย อย่างเช่นบางรัฐบาลในอดีต ที่ได้ความไว้วางใจจากประชาชนจำนวนมาก แต่ก็ไปไม่รอด

จึงจำเป็นต้องเสริมบุคลากร ที่มีประสบการณ์จริง ด้านบริหารประเทศ และประสานภารกิจการเมืองได้ และยังถือโอกาสใช้บุคลากรดังกล่าว เป็นพี่เลี้ยง หรือ โค้ช สนับสนุนคนรุ่นใหม่ต่อสู้ในเส้นทางระยะยาวพลิกโฉมบ้านเมือง ขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะเป้าหมายแรกคือปิดสวิตช์ระบอบพี่น้อง 3 ป.

การเสนอประเด็นนี้ ด้วยความปรารถนาดี อยากเห็นพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ (กลุ่มพลังใหม่) เติบโตที่จะเรียนรู้และอยู่รอดบนเส้นทางการเมือง และไม่ตกม้าตายไปเสียก่อน อีกทั้งหากทำตามข้อเสนอนี้อาจเปลี่ยนทัศนคติของ “กลุ่มพลังเก่า” ที่กำลังมองหาพรรคการเมืองแบบใหม่เพื่อฝากความหวัง หลังเบื่อหน่ายกับการเมืองเก่า


กำลังโหลดความคิดเห็น