เมืองไทย 360 องศา
หากมองกันตามหลักการประชาธิปไตยแบบนิติบัญญัติที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ถือว่าเป็นกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลแบบหนึ่ง รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติตาม มาตรา152 ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งทุกครั้งหลายคนพยามมองว่า เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่ละครั้งจะดูยิ่งใหญ่อลังการ โดยหากพิจารณาย้อนกลับไปในอดีตที่บรรยากาศคึกคัก การอภิปรายบางครั้งถึงขั้นที่ว่าท้องถนนในกรุงเทพมหานครโล่งกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะใน “ช่วงเวลาทอง” หรือช่วงเวลาที่มีคนชมทีวีมากที่สุด เพราะชาวบ้านรู้สึกตื่นเต้น ต้องรอฟังการอภิปรายจากทั้งสองฝ่ายที่เข้มข้น ดุเดือด
แม้ว่าหากบอกว่าเวลา ยุคสมัย เทคโนโลยี ที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ก็อาจพูดได้ แต่สำหรับเนื้อหาสาระ หรือหลักฐานการทุจริต ที่เรียกว่า “หมัดน็อก โป้งเดียวจอด” รวมไปถึง “ใบเสร็จ” มันย่อมต้องมีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นยุคใด ซึ่งหากพิจารณามความเป็นจริง และให้คะแนนแบบตรงไปตรงมาก็ต้องบอกว่า “ฝ่ายค้าน” ในยุคปัจจุบันทำหน้าที่ “ไม่สมราคาคุย” ได้เลยสักครั้งเดียว
โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจในแต่ละครั้ง และที่ผ่านมาฝ่ายค้านก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในทุกสมัยประชุม ทั้งประเภทที่มีการลงมติหากกฎหมายเปิดช่อง และ อภิปรายโดยไม่มีการลงมติ หากเป็นการอภิปรายครบโควตาจนไม่อาจใช้วิธีแบบลงมติได้อีกแล้ว เรียกว่า ใช้กันจบ “เต็มแม็ก” เต็มที่ก็แล้วกัน
แต่สิ่งที่ได้เห็นแทบทุกครั้งก็คือ เป็นการอภิปรายที่เหมือนกับการใช้ข้อมูล “ตัดแปะ” จากสื่อมวลชนประจำวัน จนทุกครั้งหากพูดกันแบบไม่ไว้หน้า ตรงไปตรงมาก็คือ “ไม่มีน้ำหนัก” และไม่ต่างจากการอภิปรายญัตติ “กระทู้ถาม” ปากเปล่าเสียมากกว่า ซึ่งก็อย่าได้แปลกใจที่ไม่สามารถสร้างอารมณ์ร่วมจากสังคมเป็นแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล หรือเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาลได้เลย
คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน จะขอปรามาสไว้ล่วงหน้าเลยว่า คงไม่ได้แตกต่างกัน รวมไปถึงเชื่อว่าเป็นข้อมูลไม่ได้ต่างไปจากข้อมูลที่มีของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หากมีการพูดถึง “ทุนจีนสีเทา” ในการอภิปราย
สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เป้าหมายหลักอย่างที่รับรู้กันล่วงหน้าก็คือ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และในฐานะ“คู่แข่ง” ทางการเมือง และต้องเจอกันในสนามเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นานข้างหน้า รวมไปถึงรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ซึ่งจะหนักหน่วงรุนแรงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมีผลกับเป้าหมายการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ดีสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา152 ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการยุบสภา เลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ทำให้มองออกได้ไม่ยากว่านี่คือ “มหกรรมหาเสียง” กันแบบฟรีๆ ซึ่งก็เป็นแบบเดียวกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ว่าใครจะสามารถ“ช่วงชิง” ได้ดีกว่ากันและ “เนียน” กว่ากันเท่านั้นเอง
ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้ว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้น่าจะเต็มไปด้วยความชุลมุน และมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่อีกฝ่ายโดยเฉพาะคือ ฝ่ายรัฐบาล ที่เน้นว่าอาจจะมาจาก “บางพรรค” เช่น ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ รวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ที่มีบางประเด็นที่มีการพาดพิงไปถึงหัวหน้าพรรค และแกนนำพรรค เช่น นายอนุทิน ชาญวีรกูล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นต้น ที่จะมีเจตนาทำให้เกิด “สภาล่ม” หรือทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ซึ่งก็เป็นไปได้สูงที่จะเป็นลักษณะ“เอาคืน” แต่หากเกิดขึ้นมันก็อาจจะเป็นการสร้างเงื่อนไขให้อีกฝ่ายนำไปโจมตีในการเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่าชาวบ้านจะสนใจฟังหรือไม่
แต่สำหรับ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่เคยผ่านเกมในสภามามากมายก็มองออกได้ไม่ยาก โดยเตือนให้เห็นภาพที่จะเกิดขึ้นทั้งเกมที่ทำให้ “สภาล่ม” และความชุลมุนในห้องประชุมที่ต่างฝ่ายมีเจตนาหาเสียง
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงองค์ประชุมในอภิปรายไม่ไว้วางใจทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 วันที่ 15-16 ก.พ. ว่า ขณะนี้ตัวเลขส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รวมทั้งหมด 419 คน โดยแบ่งเป็นฝ่ายค้าน 186 คน รัฐบาล 233 คน โดยรวมถือว่ารัฐบาลยังมีเสียงข้างมากอยู่พอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีใครสามารถคุมองค์ประชุมได้ ดังนั้นองค์ประชุมจึงไม่ค่อยมีความแน่นอน ทำให้เกิดมีความรู้สึกว่าการประชุมในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ องค์ประชุมจะพร้อมหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครตอบได้ แต่การประชุมดังกล่าวเป็นการตกลงทั้งสองฝ่าย
นอกจากนี้ จะมีการถ่ายทอดเสียงให้ประชาชนได้รับรู้ผ่านทางโทรทัศน์รัฐสภา และสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ซึ่งประชาชนสามารถติดตามการประชุมได้ จึงหวังว่าองค์ประชุมจะครบ และหากไม่มีปัญหาการอภิปรายก็ใช้เวลา 2 วันตามที่ตกลงกันทั้งสองฝ่าย
"การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม มาตรา 152 เป็นการประชุมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะ ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่การประชุมตามมาตรา152 ในปีก่อนๆส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งประเด็นกล่าวหา แต่ครั้งนี้เป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะสามารถชี้แจงให้ประชาชนรับทราบได้"
เมื่อถามว่าหากการประชุมวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ไม่สามารถเปิดได้ ขั้นตอนจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป นายชวน กล่าวว่า เรายังมองในแง่ดีว่าการประชุมในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ดูแล้วไม่น่ามีเหตุผลอะไรที่องค์ประชุมจะไม่ครบ เพราะเป็นเรื่องที่รัฐบาลกำหนดมาเอง แต่อาจจะมีบางพรรคการเมืองที่เกรงว่าจะอภิปรายนอกประเด็น แต่ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลจะมีโอกาสชี้แจงได้
"แต่หากสมมติว่าการประชุมไม่ได้ก็ให้นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ คนที่ 1 หารือกับวิปสองฝ่ายอีกครั้ง เพราะเราไม่มีเวลามากไปกว่านี้แล้ว เพราะเป็นการประชุมสัปดาห์สุดท้ายของสมัยประชุม จะพยายามทำให้เรื่องที่ค้างไว้ได้พิจารณาให้หมด เพราะในกมธ.เขาทำงานกันมา 1-3 ปี บางคณะใช้เบี้ยประชุมไปเป็นล้านบาท บางคณะใช้ 2-3 ล้านบาท จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะให้เรื่องเหล่านั้นเสียไป ผมจึงบอกให้ทุกคนร่วมมือกันเพราะเป็นผลงานของสมาชิก"
นายชวน กล่าวว่า ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ไม่เหมือนในช่วงก่อนๆ ที่เมื่อก่อนจะสิ้นวาระสภาก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร พรรคการเมืองก็ยังคงเป็นพรรคการเมืองเหล่านั้นอยู่ การเปลี่ยนแปลงย้ายพรรคไม่ได้เป็นเหมือนในปัจจุบันนี้ แต่ปัจจุบันนี้เหมือนสถานการณ์ไม่ปกติ เพราะมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นหลายพรรค และมีการย้ายพรรคอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างที่เราเห็นอยู่ ดังนั้นเราจึงเห็นส.ส.ที่ไม่รู้ว่าจะอยู่พรรคไหน หรือบางคนอภิปรายในสภาฯ ก็ไม่กล้าเอ่ยชื่อพรรค เพราะมีแนวโน้มว่าจะย้ายพรรค แต่ที่สำคัญคือไม่มาประชุมและไม่กดบัตร ซึ่งตนเข้าใจว่าส่วนหนึ่งยังไม่แน่ใจว่าจะอยู่พรรคไหน ฉะนั้น ในช่วงปลายสมัยสภาฯ เราจึงเห็นความไม่พร้อมในการประชุมที่ครบองค์ประชุม ซึ่งรายชื่อเราไม่ได้ปกปิด สามารถมาขอดูได้และสมาชิกที่อยากแข่งขันก็สามารถมาดูได้ว่ามาประชุมกี่ครั้ง ก็เอาไปใช้ประโยชน์ว่าคนเหล่านั้นเลือกไปแล้วรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งคู่แข่งสามารถนำไปใช้ได้
“ผมย้ำเตือนเสมอว่าอย่าประมาท และเตือนส.ส.ที่มีความมั่นใจว่าอย่าไปมั่นใจเพราะปัจจุบันประชาชนเขาติดตามการประชุม และระบบการสื่อสารปัจจุบันสามารถเจาะได้ลึก ซึ่งประชาชนก็อาจจะรู้หรือคู่แข่งขันรู้แล้วเอาตัวเลขไปบอกประชาชนว่าไม่มาประชุมบ่อย ก็อาจจะเกิดผลกระทบได้” นายชวน กล่าว
ดังนั้นหากมองกันแบบตามหลักการประชาธิปไตยมองกันแบบอลังการ บางทีมันก็ชวนตื่นเต้นเหมือนกัน แต่หากมองกันแบบรู้ทันก็อาจต้อง “มองผ่าน” ไม่ให้ราคา เพราะมันเป็นแค่เกมหาเสียง ใช้น้ำไฟสภาฟรี ใช้ทีวีหาเสียงฟรีๆ เพราะเชื่อว่าหลักฐานที่นำออกมามันก็แค่ข้อมูล “ตัดแปะ” จากสื่อ หรือหากเป็นเรื่อง “ทุนจีนสีเทา” ก็คงไม่ได้มีอะไรลึกไปกว่าของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ จอมแฉแน่นอน และที่สำคัญคงไม่กล้าลงลึกมากนัก เพราะอาจเจอ“คนในครอบครัวใหญ่”ก็ได้ !!