เมืองไทย 360 องศา
ใกล้ถึงกำหนดวันอภิปรายทั่วไปตาม มาตรา 152 นั่นคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่มีการลงมติ โดยวันอภิปรายจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ ดังนั้น ก็เหลือเวลาอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่า นับจากนี้จะมีการที่เรียกว่า “โหมโรง” มีการข่มขู่ ข่มขวัญกันแบบหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แบบว่าจะมีการออกมาทั้งสองฝ่าย ทั้งฝ่ายค้านที่เป็นผู้ยื่นญัตติดังกล่าวนี้ กับฝ่ายรัฐบาลที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากหลักการตามแบบประชาธิปไตย ถือว่าเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลทางนิติบัญญัติระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล เบื้องต้นฟังดูแล้วยิ่งใหญ่มีเกียรติอลังการ ขลังชวนติดตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องบอกตามตรงว่านี่คือ “เกม” หรืออาจจะพูดไม่แบบไม่ต้องเกรงใจกัน ก็คือ ลักษณะอาจจะออกมาในแบบ “เกมน้ำเน่า” ชวนน่ารำคาญเสียมากกว่า
อย่างที่รับรู้กัน ก็คือ ญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจตาม มาตรา 152 นั้น จะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ และครั้งนี้จะเป็นญัตติอภิปรายครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ และเป็นสมัยประชุมสภาผู้แทนฯ สมัยสามัญครั้งสุดท้ายที่กำลังจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ หลังจากนั้นก็มีการคาดว่าจะมีการยุบสภาตามมา
ล่าสุด มีรายงานค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า จะมีการยุบสภาหลังจากนั้น โดยอ้างอิงจากคำพูดของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์ที่แล้วว่า ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งมาว่า การแบ่งเขตการเลือกตั้งน่าจะเสร็จเรียบร้อยภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการ “ส่งสัญญาณยุบสภา” หลังจากนั้น ความหมายก็คือ น่าจะยุบสภาในเดือนมีนาคม เชื่อว่าหลายคนก็พอจะรับรู้ถึงสัญญาณดังกล่าวที่มีออกมาให้เห็นก่อนหน้านี้มาแล้ว
เมื่อย้อนกลับมาที่ “เกมซักฟอก” ที่จะเริ่มในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ เพราะที่ต้องเรียกว่าเป็น “เกม” เนื่องจากใครๆ ก็มองว่าทั้งสองฝ่ายเตรียมเวทีสภาสำหรับโจมตีอีกฝ่าย หรือหากเรียกให้กระชับความหมาย ก็คือ หวังใช้เวทีสภาสำหรับการ “หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง” เท่านั้น ซึ่งหลายคนกำลังจับตามองว่า ฝ่ายค้านจะมีหลักฐานเด็ดอะไรหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่ “อภิปรายกระทู้ถาม” เท่านั้น เหมือนกับผลการประเมินญัตติซักฟอกครั้งที่ผ่านๆมาทุกครั้ง ในช่วงอายุสภาเกือบสี่ปีที่ผ่านมา
สังเกตได้จากการอภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลผ่านมาหลายครั้งแทบในทุกสมัยประชุม ที่มีทั้งญัตติแบบลงมติและแบบไม่มีการลงมติ ทุกครั้ง “ไม่ระคายผิว” ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเป็นเป้าหมายหลักทุกครั้ง และที่น่าสังเกต ก็คือ ฝ่ายค้านไม่มีหลักฐานแบบหนักแน่นเลย มักถูกค่อนขอดประเภท “น้ำท่วมทุ่ง”
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันเริ่มมีการส่งสัญญาณเล่นเกมออกมาทั้งสองฝ่ายออกมาให้เห็นเรื่อยๆ ที่น่าจับตาก็คือ คราวนี้เป็นเกมจากฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็น พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย หรืออาจรวมไปถึงพรรคพลังประชารัฐ ด้วยก็ได้ แต่ล่าสุดให้จับตาระหว่างสองพรรคแรก เนื่องจากเป็นผลต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งในเรื่องของกฎหมายบางฉบับที่เข้าสู่สภา และมีผลทางการเมือง มีผลต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น
ที่ผ่านมา ที่มีการถกเถียงกันหนัก ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติ กัญชา กัญชง ที่ยังค้างคาอยู่ในสภา มีการลงมติผ่านไปไม่กี่มาตราเท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่มีทางผ่านในสมัยประชุมนี้ และในวาระสภาชุดนี้แน่นอน ซึ่งกรณีร่างกฎหมายดังกล่าวพรรคภูมิใจไทย เป็นโต้โผหลัก และกำลังถูกบางพรรคการเมืองเกรงว่าจะเสียคะแนนเสียงจากนโยบายนี้ จึงต้องหาทางขัดขวางทุกวิถีทาง และกรณีนี้ก็ทำให้สภาล่ม สร้างความไม่พอใจกับพรรคภูมิใจไทย เป็นอย่างยิ่ง
และผลต่อเนื่องจากร่างกฎหมายดังกล่าว ก็มีการส่งสัญญาณจากพรรคภูมิใจไทยออกมาในทำนองว่า จะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมในระหว่างการอภิปรายญัตติซักฟอกดังกล่าว ในวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งความหมายก็คือ “เกมโต้กลับ” เอาคืนกลับไปบ้าง
อย่างไรก็ดี สำหรับ “องค์ประชุม” ถือว่าสำคัญ และเป็น “เกม” ระหว่างกัน ทั้งกับฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้าน หรือระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เพราะที่ผ่านมาจะเห็นพรรคฝ่ายค้าน ไม่กดบัตรแสดงตนมีเจตนาให้องค์ประชุมล่ม เพื่อเล่นงานฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นคราวนี้ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ฝ่ายรัฐบาลจะทำให้องค์ประชุมล่มบ้าง ซึ่งก็อาจจะมีผลทำให้การ “อภิปรายซักฟอก” เกิดขึ้นไม่ได้
หรืออีกด้านหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากพรรคฝ่ายค้าน หลังจากที่มีการอภิปรายฝ่ายรัฐบาล หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเสร็จแล้ว หรือเรียกว่า “หลอกด่า” แล้วก็จะทำให้องค์ประชุมล่ม ปิดทางการชี้แจงจากอีกฝ่าย อะไรประมาณนี้
เพื่อให้เห็นภาพ ก็มีคำแนะนำจาก “ผู้เชี่ยวชาญ” อย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่อธิบายถึงหลักการว่า ฝ่ายค้านเป็นฝ่ายยื่นญัตติ ฝ่ายค้านก็ต้องเป็นผู้มีสิทธิ์อภิปราย ฝ่ายรัฐบาลอาจจะพูดบ้างก็ได้ แต่เขาเอาเวลาของ ส.ส.มารวมกับเวลาของรัฐมนตรี ซึ่งมีทั้งหมด 8 ชั่วโมง ดังนั้น หาก ส.ส. เอาเวลาไปพูดเสียเยอะ รัฐมนตรีก็จะเหลือเวลาที่จะชี้แจงน้อย แต่ถ้าประท้วงกันไปมา ก็ถือว่าทำได้ อย่างที่เคยบอกเรื่องนี้ไม่มีการลงมติ เพราะฉะนั้นจะไม่มีการกดออดเรียกมาให้นั่ง เรียกมาให้นับ ครบองค์ประชุมแล้วลงมติ เวลาสภาล่ม มันก็จะล่มทุกครั้งเวลาที่ลงมติ แต่ครั้งนี้ไม่มีการลงมติ ถ้าไม่มีคนขอนับองค์ประชุม มันก็ไปของมันเรื่อย สมาชิกก็เดินเข้าเดินออก มองไปก็อาจจะโหรงเหรง แต่ก็ไม่ถือว่าองค์ประชุมล่ม จนกระทั่งเมื่อไหร่มีคนขอนับองค์ประชุม แล้วองค์ประชุมไม่ครบ
ถามว่า โดยมารยาทแล้วเป็นพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรไปนั่งในสภาเป็นองค์ประชุมไม่ใช่หรือ นายวิษณุ กล่าวว่า บางทีก็มีเบื่อ มีเหนื่อยหน่าย เพราะการนั่งฟังโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะพูดถึง 2 วัน 2 คืน ก็เบื่อเหมือนกันนะ ก็เห็นใจแต่กติกาสภาเป็นแบบนั้น
เมื่อถามว่า หากองค์ประชุมไม่ครบการอภิปรายก็ไม่ต้องมีเลยก็ได้ ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ถือว่าจบแค่ไหนก็แค่นั้น แต่คงไม่ใช่ว่า เริ่มเปิดประชุมปั๊บแล้วล่มเลย น่าจะอภิปรายไปกันสักพักหนึ่ง แต่ที่ตนกลัวคือ กลัวว่าองค์ประชุมไม่ครบในช่วงรัฐบาลชี้แจงตอบนี่แหละ อาจเห็นว่าเขาด่ากันมาสองวันแล้ว พอเราจะพูด องค์ประชุมก็ไม่ครบ เลยอดพูด แต่ที่จริงฝ่ายค้านอยู่ให้ครบ มันก็จะเป็นองค์ประชุมได้ ฝ่ายค้านเองก็ต้องอยู่ให้ครบด้วย ไม่ใช่ฝ่ายค้านไม่อยู่ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่อยู่ องค์ประชุมก็ล่ม แล้วมาโทษฝ่ายรัฐบาล อย่างนี้มันก็พูดยาก ดังนั้น ต้องช่วยกันอยู่ให้ครบ เพราะรัฐบาลก็ไม่ได้อยาก กระตือรือร้นที่จะตอบ แต่เมื่อฝ่ายค้านถาม รัฐบาลก็ยินดีตอบ
เมื่อถามว่า เท่าที่ประเมินเป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายค้านจะเปิดประชุมเพื่อด่า แล้วก็หายไป โดยไม่เป็นองค์ประชุม นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะฉะนั้นรัฐมนตรี ก็ไม่ควรรอเอาไว้ตอบในช่วงสุดท้าย เมื่อถูกฝ่ายค้านว่าปั๊บ รัฐมนตรีก็ต้องตอบเลยทันที ไม่เช่นนั้นฝ่ายค้านอาจจะลุกขึ้นมาอภิปรายต่อว่า แล้วก็กลับบ้านเลย มันก็ต้องทันกันด้วย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงเรื่ององค์ประชุมว่า กฎหมายเขาว่ากันอย่างไรล่ะ ถ้าระบุว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ก็ต้องเป็นเอกสิทธิ์ของเขา เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ตามไหนก็ตามนั้น
“กระบวนการผมไม่ได้ไปขัดแย้งนี่ เขามีสิทธิ์ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เชิญ ผมก็มีหน้าที่ในการชี้แจงเท่านั้น อะไรที่เป็นไปตามกฎระเบียบ หรือกฎหมายของสภาก็เป็นเรื่องของสภา”
ดังนั้น หากพิจารณากันตามรูปการณ์แล้ว ก็ต้องฟันธงว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่มีการลงมติในครั้งนี้ น่าจะออกมาในแบบไม่ได้เรื่องได้ราว เปลืองน้ำเปลืองไฟสภาเสียมากกว่า เพราะมันเป็นเพียงแค่ “เกม” ที่ต่างฝ่ายจ้องใช้เวทีสภาหาเสียง และ “หลอกด่า” อีกฝ่ายเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรน่าติดตาม!!