เมืองไทย 360 องศา
หากประเมินจากคำพูดทั้งจากตัว “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ถือว่ามีอำนาจยุบสภา ที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ ว่า “ยังไม่ยุบสภา ให้เวลา กกต.ได้ทำงานก่อน” จากนั้นเมื่อฟังจากปากของ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ระบุว่า น่าจะใช้เวลาในการแบ่งเขตเลือกตั้งประมาณ 1 เดือน เนื่องจากต้องรอรับฟังความเห็นจากทางจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดกลับมาก่อน
นายแสวง กล่าวถึงแผนการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า ได้สั่งการไปยังทางจังหวัดแล้วว่าจะสามารถประกาศเขตเลือกตั้งได้เมื่อไหร่ ซึ่งมีอยู่ 4 ขั้นตอน ไม่สามารถลดขั้นตอนได้ โดยใช้เวลาประมาณ 20 กว่าวัน แต่สามารถเร่งขั้นตอนให้เร็วขึ้นได้ ซึ่งตามแผนของ กกต. จะพิจารณาวันที่ 20 ถึงวันที่ 28 ก.พ.ใช้เวลาประมาณ 7-8 วัน อย่างไรก็ตาม หากสำนักงานทำมาทั้ง 77 จังหวัด กกต. ก็พร้อมจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ยืนยันกกต.ทำตามกฎหมายและระเบียบ ไม่เข้าข้างพรรคใด
“ผมเองก็เห็นใจจังหวัด เพราะเมื่อต้องรับฟังความคิดเห็น10 วัน กกต.จังหวัดมีเวลา 3 วัน ในการรวบรวมความเห็น พร้อมรูปแบบแต่ละแบบส่งมาที่ส่วนกลาง ส่วนกลางก็ต้องยอมรับงานหนัก ต้องทำบันทึกเสนอให้กกต.พิจารณา 77 จังหวัด โดยมีเวลาเพียงวันเดียว ก่อนที่จะเสนอเข้าที่ประชุมกกต. ในวันที่ 20 ก.พ. ให้พิจารณา หาก 77 จังหวัดส่งมาพร้อมกันก็ถือเป็นเรื่องดี ส่วนกลางก็ต้องทำให้ได้หากจะเข้าพิจารณาวันที่ 20 หรือ 22 ก.พ. หากทำได้ก็เป็นเรื่องดี กับประชาชนและพรรคการเมือง ที่จะได้เขตไปก่อน เพราะ กกต. จะต้องนำเขตไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศพร้อมกันทั่วประเทศ” นายแสวง กล่าวและว่า คาดว่า น่าจะเป็นไปตามแผนคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์
นายแสวง ยังกล่าวว่า ไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้เดินเร็วกว่าแผนงาน เช่น ระเบียบ เกี่ยวกับการเลือกตั้ง กกต.ออกครบทั้ง 5 ระเบียบ ส่งไปประกาศราชกิจจา โดยประกาศเผยแพร่ไปแล้ว 2 ฉบับ ที่เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง วันนี้ ราชกิจจานุเบกษา จะประกาศระเบียบ กกต.เกี่ยวกับพรรคการเมือง ที่เกี่ยวกับการทำไพรมารี จำนวน 2 ฉบับ เหลืออีกเพียง 1 ฉบับระเบียบใหญ่ กกต.ตรวจทานเพราะมีการแก้ไขระเบียบทั้งฉบับ และพิจารณาแล้วเสร็จในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี หลายคนลงความเห็นตรงกัน ก็คือ การยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นหลังการปิดสมัยประชุมสภาสมัยสามัญนัดสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ คือวันที่ 28 กุมาพันธ์ โดยก่อนหน้านั้นในช่วงกลางเดือน คือวันที่ 15-16 ก.พ.ก็มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลแบบไม่ต้องลงมติ ซึ่งจะว่าไปแล้ว หากเอากันตามจริงมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะมันเป็นเวทีใช้สภาหาเสียงกันทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลอยู่แล้ว ออกไปทางไร้ประโยชน์ เปลืองน้ำเปลืองไฟสภาเสียมากกว่า แต่เอาเป็นว่าเมื่ออ้างประชาธิปไตยทุกลมหายใจเข้าออก ก็ว่ากันไป
ดังนั้น เมื่อเห็นแนวโน้มออกมาแบบนั้น นั่นคือ เหตุผลที่มาจากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อ้างเวลาสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งนานประมาณหนึ่งเดือน เนื่องจากต้องมีขั้นตอนรับฟังความเห็นจากทางจังหวัดทั่วประเทศกลับมาเสียก่อน ขณะเดียวกัน ทั้งฝ่ายค้านก็ต้องการใช้เวทีสภาในช่วงโค้งสุดท้ายด่ารัฐบาลเพื่อหาเสียง ซึ่งไม่ต่างจากฝ่ายรัฐบาล ซึ่งกรณีนี้หากมีการยุบสภาก่อน ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจในการยุบ ก็จะโดนฝ่ายค้านถล่มเละแน่นอน ทำนองว่า “ยุบสภาหนีซักฟอก” อะไรประมาณนั้น และนี่คือ สองเหตุผลหลักว่า น่าจะไม่มีการยุบสภาก่อนปิดสมัยประชุม
ขณะที่อีกเหตุผลหนึ่งที่ถือว่าสำคัญ ก็คือ ยิ่ง “ยื้อเวลา” ออกไปนานเท่าใด มันก็ยิ่งส่งผลดีกับฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด ที่หมายถึง บรรดาพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะฉวยโอกาสนี้หาเสียง ในแบบใช้วิธีเดินสายตรวจราชการไปตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งหากสังเกตในช่วงนี้ตารางการตรวจราชการล้วนเป็นจังหวัดสำคัญที่มีผลต่อเก้าอี้ ส.ส. และการตัดสินใจของ ส.ส.ในพื้นที่ ยังลังเลว่าจะย้ายพรรคหรือไม่ หรือย้ายไปพรรคไหนดี
ตามกำหนดการล่าสุดที่เพิ่งออกมาในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดเดินทางไปตรวจราชการที่ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อตรวจติดตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยจะรับฟังรายงานสรุปเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟเชื่อมต่อสมุทรสงคราม และรับฟังรายงานสรุปเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก และระบบป้องกันน้ำท่วม ชุมชนเมืองสมุทรสงคราม อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ระยะที่ 1 พร้อมตรวจเยี่ยมวิถีเศรษฐกิจชุมชนสถานีรถไฟแม่กลอง ต่อจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินไปยัง วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เพื่อสักการะหลวงพ่อบ้านแหลม และนมัสการพระสมุทรวชิรโสภณ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสงคราม และเจ้าอาวาสวัดเพชรสมุทรวรวิหาร ณ พระอุโบสถวัดเพชรสมุทรวิหาร
จากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรี จะพบปะกับประชาชนเพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างมูลค่าและการยกระดับรายได้ของประชาชนชาวสมุทรสงคราม ณ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ต.ลาดใหญ่ อ.เมืองสมุทรสงคราม ก่อนจะเดินทางกลับ
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสนามเลือกตั้งจังหวัดสมุทรสงคราม ถึงแม้ว่าจะมีเพียง หนึ่งเก้าอี้ส.ส. โดยปัจจุบันมี นางรังสิมา รอดรัศมี ที่สามารถครองแชมป์ ส.ส.เมืองแม่กลองแห่งนี้มาได้ถึง 5 สมัย โดยที่ผ่านมา เธอสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่คราวนี้ เลือกย้ายค่ายไป “ซบพรรคลุงตู่” รวมไทยสร้างชาติ ก็ทำท่าเจอศึกหนักเหมือนเช่นเคย และเพื่อการันตีความชัวร์ “ลุงตู่” ถึงได้จัดให้หรือเปล่า
เหมือนกับก่อนหน้านี้ ที่ภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ประเดิมหาเสียงที่จังหวัดชุมพร แบบ “เปิดประตูภาคใต้” ที่ถูกมองว่าเพื่อสร้างกระแสความมั่นใจ เริ่มจากพื้นที่ฐานเสียงแน่นเอาไว้ก่อน เป็นการเอาฤกษ์เอาชัย เพราะหลังจากนั้น ในคิวหาเสียงก็จะมีการเปิดเวทีที่ “โคราชบ้านเกิด” ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตามแผน “เปิดประตูภาคอีสาน” จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับสองของประเทศ คือ 16 คนรองจากกรุงเทพฯ เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ลักษณะการหาเสียงทั้งในแบบโดยตรงและแอบแฝงแบบนั้นก็ทำกันทุกพรรคร่วมรัฐบาลนั่นแหละ ทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำในลักษณะเดียวกัน
ถึงได้บอกว่า ยิ่งยื้อเวลในการยุบสภาออกไปนานเท่าใด มันก็ยิ่งส่งผลในทางบวกกับฝ่ายรัฐบาลทุกพรรค และหากโฟกัสไปที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหลัก นาทีนี้ถือว่าน่าจะเป็นผลดี ทั้งในเรื่องของ “พลังดูด” ส.ส.ที่ต้องย้ายพรรคโดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน นับถึงวันเลือกตั้งทำให้พวกเขาไม่มีปัญหาในการตัดสินใจ ขณะเดียวกัน เวลาที่เหลืออยู่แบบนี้การเดินสายในฐานะนายกฯ ย่อมได้เปรียบ อีกทั้งเมื่อมองไปอีกด้านคือฝ่ายเพื่อไทยที่เวลานี้กำลังยืน “ตัวลีบ” ไม่กล้าออกไปไหน หลังจากเจอถล่มเข้าไปถึงเนื้อยังหาทางออกไม่เจออยู่ในเวลานี้ !!