ถ้าถามว่าสถานการณ์พรรคการเมืองไหนน่าเป็นห่วงที่สุดก็ต้องบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ เพราะถึงวันนี้มีแต่คนไหลออก ทั้งๆ ที่หลายคนเป็นคนเก่าแก่ที่อยู่กับพรรคมายาวนาน สะท้อนว่าเป็นขาลงของพรรคอย่างแท้จริง
ชะตากรรมของพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดที่ยังอยู่บนสนามการเมืองมีทีท่าว่าจะถดถอยและมองไม่เห็นอนาคตเลยว่า พรรคการเมืองพรรคนี้จะกลับมารุ่งโรจน์ได้อีกหรือไม่ เพราะคนรุ่นใหม่เกือบทั้งเจเนเรชันแทบจะปฏิเสธพรรคการเมืองพรรคนี้อย่างสิ้นเชิง
พรรคประชาธิปัตย์เคยเป็นพรรคที่มีคนภักดีในแบรนด์มากที่สุดโดยเฉพาะคน กทม.และคนภาคใต้รุ่นก่อนที่เลือกพรรคนี้แบบสืบทอดสายเลือด บัดนี้ความรู้สึกเหล่านี้น่าจะหายไปหมดแล้ว
ในอดีตขุนพลของพรรคประชาธิปัตย์หลายคนมีภาพที่น่าเคารพนับถือ อุดมการณ์แกร่งกล้า เป็นคนมีฝีปากกล้าและกล้าที่จะท้าทายต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ บัดนี้ภาพเหล่านั้นก็หายไปจากพรรคเกือบจะหมดแล้วเช่นกัน
อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ลาออกแล้วคือ นายถาวร เสนเนียน นายวิทยา แก้วภราดัย นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นายวิฑูรย์ นามบุตร น.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นายถวิล ไพรสณฑ์ นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายกรณ์ จาติกวณิช นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู นางศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ นายอัครเดช วงศ์พิทักษ์โรจน์ นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ ฯลฯ ยังไม่นับอดีต ส.ส.หลายคนที่ลาออกไปก่อนหน้านี้
พูดได้ว่า อดีต ส.ส.ภาคอื่นของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ใช่ภาคใต้และ กทม.ชิงลาออกจากพรรคไปเกือบหมด
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 52 คน และได้รับคะแนนทั่วประเทศ 3.9 ล้านเสียงซึ่งน้อยลงกว่าในอดีตที่เคยได้ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ถึง 11.4 ล้านเสียง โดยครั้งนี้ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้แต่เก้าอี้เดียว และได้ ส.ส.ใต้เพียง 22 เสียงลดลงกว่าครึ่งหนึ่งแน่นอนคะแนนของพรรคหายไปอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐที่ได้คะแนนประมาณ 8 ล้านเสียง
เชื่อกันว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.น้อยลงกว่าเดิมอีก โดยเฉพาะ กทม.และภาคอื่นนอกเหนือจากภาคใต้อาจจะไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว ส่วนภาคใต้นั้นก็เชื่อกันว่าจะได้รับเลือกน้อยลงกว่าเดิม มีการคาดการณ์กันว่าพรรคเก่าแก่แห่งนี้น่าจะตกต่ำที่สุดในการเลือกตั้งครั้งหน้า
มีคนบอกว่า 3 พรรคการเมืองที่มีฐานทับซ้อนกันอย่างพรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐนั้น น่าจะมี ส.ส. 3 พรรครวมกันประมาณ 100 เสียงเท่านั้น และพรรคที่หนักหนาที่สุดใน 3 พรรคนี้น่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์เพราะอาจจะได้รับเลือกเพียง ส.ส.ภาคใต้จำนวนหนึ่งแต่จะน้อยลงกว่าครั้งที่แล้ว
การเลือกตั้งครั้งที่แล้วนั้นพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ต่อกระแสของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มวลชนฝั่งอนุรักษนิยมซึ่งเป็นฐานเสียงของพรรคนั้นต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงเทคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐที่เสนอพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.นั้น มวลชนทิ้งพรรคประชาธิปัตย์ไปเลือกพรรคพลังประชารัฐเกือบหมด ทำให้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนน้อยมากอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเป็นครั้งแรกของพรรคที่สอบตกทั้ง กทม.
การเข้าร่วมรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ ก็มีคนมองว่าเป็นความผิดพลาดเหมือนกัน เพราะทำให้คนที่เลือกพรรคประชาธิปัตย์ที่เหลืออยู่ 3.9 ล้านเสียง ผิดหวังเพราะคน 3.9 ล้านเสียงถือเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่ภักดีกับพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ทิ้งพรรคและเลือกเพราะพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะไม่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การเข้าร่วมรัฐบาลประยุทธ์ก็อาจเป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีทางเลือกมากกว่านี้ เพราะอย่างน้อยพรรคพลังประชารัฐก็มีจุดยืนทางการเมืองที่ไปกันได้กับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าจะไปเป็นพรรคฝ่ายค้านกับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ก็คงรู้ว่ามวลชนฝั่งอนุรักษนิยมที่เคยเลือกพรรคและทิ้งพรรคไปเลือกพรรคพลังประชารัฐนั้น วันหนึ่งอาจกลับมาเลือกพรรคอีกยังไงก็ต้องรักษาความสัมพันธ์กับมวลชนกลุ่มนี้ไว้ เพราะเชื่อว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจเท่านั้นเอง
เมื่อคราวนี้พล.อ.ประยุทธ์ แยกจากพรรคพลังประชารัฐมาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติก็เชื่อกันว่า มวลชนฝั่งอนุรักษนิยมจำนวนหนึ่งก็จะตามมาเลือกพรรครวมไทยสร้างชาติและทิ้งพรรคประชาธิปัตย์เหมือนเดิม
ไม่รู้หรอกว่าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บริหารพรรคอย่างไร ทำไมคนเก่าแก่ถึงพากันหนีออกจากพรรคไปเกือบหมด แม้คนในพรรคจะพยายามพูดว่า ถึงมีคนลาออกก็มีคนใหม่เข้ามาและพรรคหาคนทดแทนที่จะลง ส.ส.ไว้แล้ว แม้ว่าจำเป็นจะต้องพูดแบบนั้นเพื่อปลุกปลอบขวัญของคนในพรรค แต่ถ้าคนในพรรคไม่รู้ตัวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะตกต่ำลงกว่าเดิม ก็คิดว่าคงไม่ใช่คนที่มองการเมืองอย่างเข้าใจสถานการณ์อย่างแท้จริง
และคงต้องยอมรับนะครับว่า จุรินทร์นั้นไม่มีอะไรที่เป็นที่ดึงดูดเลย จำได้ว่าสาธิต ปิตุเดชะ เองก็เคยยอมรับว่าจุรินทร์เป็นคนไม่มีเสน่ห์ผลการสำรวจความนิยมบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของโพลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือจุรินทร์จึงอยู่ในอันดับท้ายมากๆ
ผมเห็นนะครับว่า คณะทำงานของพรรคพยายามสร้างความเคลื่อนไหวโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ หลายคนมีความกระตือรือร้น แต่กิจกรรมเหล่านั้นล้วนแต่ไม่น่าสนใจและไม่สามารถสร้างแรงกระเตื้องให้กับพรรคได้เลย ดังนั้นไม่ต้องถามว่าจะส่งผลอะไรต่อสังคมหรือไม่ ไม่รู้ว่าจริงไหมที่มีคนบอกว่าคนที่เคลื่อนไหวอยู่ในพรรคล้วนแล้วแต่เป็นคนที่หัวหน้าพรรคไว้วางใจทั้งสิ้น ถ้าอยู่นอกวงนี้ก็จะไม่มีบทบาทในพรรค
แม้พรรคการเมืองในฟากฝั่งเดียวกันที่อยู่บนฐานเสียงของฝ่ายอนุรักษนิยมด้วยกันจะเป็นเพียงพรรคเฉพาะกิจไม่ว่าพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ แต่พรรคประชาธิปัตย์อย่ามั่นใจเชียวว่าวันหนึ่งที่สองพรรคนี้ล่มสลายไปแล้วมวลชนเหล่านั้นจะกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์อีก เพราะเป็นไปได้ว่า มวลชนเหล่านั้นไปแล้วอาจไม่กลับมาอีกเลย เพราะอาจมีพรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นมาอีก และคนรุ่นใหม่มองว่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นเพียงจารึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่หมดอายุไปแล้ว
ในการเลือกตั้งที่มาถึงหากเป็นไปตามที่คาดการณ์กันหลังเลือกตั้งก็เชื่อว่าหัวหน้าพรรคอย่างจุรินทร์ และเลขาธิการพรรคอย่างเฉลิมชัย ศรีอ่อนจะต้องทบทวนตัวเอง แต่ก็ไม่น่าจะช่วยให้สถานการณ์ของพรรคดีขึ้น เพราะภาพของพรรคประชาธิปัตย์ที่คนมองเห็นนั้นหมดคุณค่าไปแล้ว อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังภักดีกับพรรคแต่ก็ไม่มากพอที่จะฉุดให้พรรคกลับขึ้นมาและคนเหล่านั้นก็ล้มหายตายจากไปทุกวัน
ผมเคยพูดว่า อนาคตของพรรคประชาธิปัตย์นั้นยากที่จะกอบกู้แล้วในเจเนเรชันนี้ แต่ก็ยังมองไม่ออกนะครับว่า ถ้าไม่สามารถอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่ได้จะกลับมาได้อย่างไรในเจเนเรชันต่อไป อย่าคิดนะว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังอยู่ต่อไปเพราะมีรากที่แข็งแกร่งและเป็นสถาบันการเมือง เพราะเราเคยเห็นแล้วว่าต้นไม้ใหญ่บางครั้งก็โค่นล้มได้เหมือนกัน
แต่จะกลับมาได้อย่างไรเป็นเรื่องที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ต้องคิดกันเอง
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan