กสม. ชี้ สายการบินปฏิเสธไม่ให้คนพิการนำรถเข็นไฟฟ้าขึ้นเครื่อง เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ก.คมนาคม แก้ กม.ให้ให้คนพิการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานสากล
วันนี้ (9 ก.พ.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวกรณีตัวแทนผู้เสียหายสัญชาติอิสราเอล ซึ่งเป็นคนพิการ ร้องเรียนการกระทำของสายการบิน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม จากการปฏิเสธไม่ให้นำรถเข็นไฟฟ้าโดยสารไปกับอากาศยาน ว่า จากการตรวจสอบพบว่า มาตรฐานความจุและกำลังไฟของแบตเตอรีลิเธียมของสายการบินมีความแตกต่างจากมาตรฐานตามที่บัญญัติในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรีลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 ซึ่งให้ข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแบตเตอรี่ของรถเข็นไฟฟ้า ทั้งนี้ แม้จะปรากฏว่าสายการบินได้ชดใช้ค่าเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริงให้แก่ผู้เสียหายแล้ว และชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา ว่าจะทบทวนปรับปรุงนโยบายเกี่ยวกับการอนุญาตให้นำแบตเตอรีของรถเข็นไฟฟ้าขึ้นอากาศยานได้ แต่จนถึง ธ.ค. 65 สายการบินดังกล่าวยังคงเป็นสายการบินเดียวที่ห้ามนำแบตเตอรีของรถเข็นไฟฟ้าขึ้นอากาศยาน จึงทำให้เห็นว่าสายการบินดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงเงื่อนไขการให้บริการ และยังทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้โดยสารพิการอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ส่วนที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ใช้ระยะเวลาตรวจสอบแบตเตอรีรถเข็นไฟฟ้าของผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้เกิดความล่าช้า เพื่อรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารอากาศยาน และกระทำต่อบุคคลทุกคน ณ จุดรักษาความปลอดภัยนั้น กสม.ยังเห็นว่า เป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ภายใต้กรอบอำนาจของตน จึงไม่เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้เสียหาย แต่กรณีผู้เสียหายเกือบตกจากสะพานเทียบเครื่องบิน หลังจากถูกปฏิเสธการโดยสาร ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เห็นได้ว่า ท่าอากาศยานเชียงใหม่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังที่เพียงพอกับการให้ความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร อันเป็นภารกิจหลักของการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินได้ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากเหตุดังกล่าวที่ประชุมกสม.เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่าน จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสายการบิน ให้พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้นำแบตเตอรีลิเธียมสำหรับรถเข็นไฟฟ้าของคนพิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ไปกับอากาศยาน ให้เป็นไปตามปรากฏในประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 และตามมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) และให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่กำกับการให้บริการต่อผู้โดยสารพิการ โดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนการจัดการสะพานเทียบเครื่องบิน เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับอันตรายหรือบาดเจ็บ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะ ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยเคร่งครัดในการกำกับ ติดตามและประเมินผลการให้บริการของสายการบินให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากพบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้โดยสาร จะต้องดำเนินการสอบสวนและนำผลไปประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตหรือการอนุญาตให้บริการ จนกว่าจะมีมาตรการในการปรับปรุง และให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กรมท่าอากาศยาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการเกี่ยวกับท่าอากาศยาน ให้ดำเนินการพิจารณาปรับปรุงสนามบิน รวมถึงจัดอุปกรณ์ให้บริการที่รองรับผู้โดยสารพิการทุกประเภท และผู้สูงอายุ โดยระยะสั้น ให้ปรับปรุงนโยบายการจัดอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารพิการ และงดจัดเก็บค่าใช้อุปกรณ์ เช่น ลิฟต์ยก จากสายการบินหรือผู้โดยสาร ระยะยาว ควรดำเนินการปรับปรุงอาคารสถานที่ โดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) และจัดซื้ออุปกรณ์ในการช่วยขนส่งผู้โดยสารพิการขึ้นเครื่องบินให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ และรองรับสภาพสังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี ให้กระทรวงคมนาคมทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางทางอากาศยานของผู้โดยสารพิการให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 และมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) โดยเฉพาะประเด็นการปฏิเสธการรับขนผู้โดยสารและปฏิเสธการรับขนคนพิการ และประเด็นมาตรฐานสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่สายการบิน และท่าอากาศยานต้องจัดให้ผู้โดยสารพิการ รวมทั้ง ให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พิจารณายกระดับประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับอุปกรณ์ต้องห้าม และหลักเกณฑ์การพาแบตเตอรี่ลิเธียมไปกับอากาศยาน พ.ศ. 2559 ให้มีสถานะเป็นกฎหมาย เพื่อให้สามารถบังคับใช้กับทุกสายการบินที่ดำเนินกิจการในประเทศไทย