รัฐบาลขยายศักยภาพโครงข่ายขนส่งทางอากาศในท่าอากาศยานหลัก สุวรรณภูมิ ดอนเมือง อู่ตะเภา ภูเก็ต รองรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก พร้อมวางนโยบายการบินพลเรือนปี 65-80 เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน
วันนี้ (9 ก.พ.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวหลังโควิด-19 และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) คาดว่า จำนวนจะกลับไปเท่ากับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดได้ในปี 2567 แต่รัฐบาลยังคงเร่งขับเคลื่อนการลงทุนในโครงการขยายศักยภาพของท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (International Airport) หลักๆ ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้า-ออกจำนวนมาก เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต และอู่ตะเภา ตามแผนงาน
“ช่วงก่อนมีโควิด-19 ท่าอากาศยานแต่ละแห่งรองรับผู้โดยสารเกินศักยภาพอยู่มากทั้งสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต และตามคาดการณ์ของ กพท. ในปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนมีโควิด-19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมจึงให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการขยายศักยภาพท่าอากาศยานระหว่างประเทศต่อเนื่อง และมีเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมทางอากาศให้สามารถรองรับผู้เดินทางตามประมาณการของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ที่คาดว่า จะมีผู้เดินทางเข้าประเทศไทยแตะ 200 ล้านคนต่อปีในปี 2574” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงการขยายศักยภาพท่าอากาศยานระหว่างประเทศของรัฐบาลมีดังนี้ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 ประกอบไปด้วย การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงคมนาคมมีกำหนดจะเปิดให้บริการในปี 2566 นี้ ซึ่งอาคาร SAT-1 จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปีจากปัจจุบัน 45 ล้านคนต่อปี การพัฒนาทางวิ่งเส้นที่3 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จปี 2567 จะทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีศักยภาพรองรับเที่ยวบินเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง จากปัจจุบัน 2 ทางวิ่งรองรับได้อยู่ 68 เที่ยวบิน/ชั่วโมง
โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ได้รับอนุมัติจาก ครม. ไปเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 ดำเนินการก่อสร้างระหว่างปี 2566-72 ประกอบด้วยการก่อสร้างหลายส่วน อาทิ อาคารผู้โดยสารหลังที่3 อาคารเทียบเครื่อง ทางขับ หลุมจอด คลังสินค้า ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านงานสนับสนุน เช่น อาคารจอดรถ อาคารสำนักงาน ถนนภายในท่าอากาศยาน อาคารบำรุงรักษาและพื้นที่พักขยะ ระบบระบายน้ำ อาคารดับเพลิงและกู้ภัย เป็นต้น โดยโครงการนี้จะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคน จากปัจจุบันรองรับได้ 30 ล้านคน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีแผนการพัฒนารวม 4 ระยะ โดยจะสิ้นสุดระยะที่ 4 ที่รองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ในปี 2598 สำหรับระยะที่ 1 ที่มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2567 จะรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 15.9 ล้านคน และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะที่ 2 เพื่อขยายขีดความสามารถให้รองรับผู้โดยสารจากเดิม 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ประกอบไปด้วย การขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ขยายหลุมจอดอากาศยาน ลานจอด รวมถึงขีดความสามารถของระบบสาธารณูปโภค ขณะนี้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างเตรียมจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลยังได้จัดทำนโยบายด้านการบินพลเรือนของประเทศ พ.ศ. 2565-2580 เพื่อกรอบในการจัดทำแผนด้านการบินพลเรือนของประเทศที่มีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงาน นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการบินของประเทศ โดยร่างนโยบายได้ผ่านการอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยนโยบาย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจการบิน ด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านมาตรฐานการบิน