ทอท.จ้างที่ปรึกษาออกแบบ "ดอนเมืองเฟส 3" คาด 10 เดือนเสร็จ เร่งประมูลปลายปี 66 ลุยทุบอาคารหลังเก่าด้านใต้ สร้างใหม่รับผู้โดยสารระหว่างประเทศ คาดเสร็จปี 70 รับ 40-50 ล้านคน/ปี เตรียมหารือกรมทางหลวง จ่อผุดแลมป์เข้า-ออกเชื่อมตรง "โทลล์เวย์"
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829.499 ล้านบาท แล้วนั้น ขณะนี้ ทอท.ได้ทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียด (Detailed Design) วงเงินกว่า 600 ล้านบาทแล้ว โดยมีระยะเวลาศึกษา 10 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จปลายปี 2566 จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ขออนุมัติ เปิดประกวดราคาหาผู้รับจ้างในปลายปี 2566 และเริ่มการก่อสร้างในต้นปี 2567 ได้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี แล้วเสร็จ เปิดให้บริการในปี 2570
ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีศักยภาพรองรับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ผู้โดยสารมีจำนวนมากกว่าขีดความสามารถแล้ว ขณะที่กายภาพของสนามบินดอนเมืองที่มีจำนวน 2 รันเวย์ ความสามารถรองรับได้ 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง มีศักยภาพของรันเวย์รองรับสูงสุด 60 ล้านคน/ปี แต่เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เมือง และเป็นการใช้งานรันเวย์ร่วมกันกับกองทัพอากาศด้วย ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 50 ล้านคน/ปี ทั้งนี้ ยังต้องขึ้นกับขนาดเครื่องบินด้วย หากเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่จะได้จำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น แต่หากเป็นเครื่องบินขนาดกลาง ขนาดเล็กมาก จำนวนผู้โดยสารที่รองรับจะน้อยลงไปด้วย
ซึ่งการพัฒนาสนามบินดอนเมืองระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มศักยภาพและสิ่งอำนวยความสะดวก และเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคนต่อปี แต่สามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ) บริเวณด้านใต้ของสนามบิน โดยจะรื้ออาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่าที่ไม่ได้ใช้งานมานานแล้วก่อสร้างอาคารใหม่
หลังจากก่อสร้างอาคารหลังที่ 3 เสร็จ จะเปิดบริการรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีขีดความสามารถที่ 18 ล้านคนต่อปี ส่วนอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 (ปัจจุบัน รองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ) จะดำเนินการปรับปรุงใหม่ และปรับการให้บริการรองรับผู้โดยสารภายในประเทศร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 มี ขีดความสามารถรองรับได้ประมาณ 22 ล้านคนต่อปี รวมไปถึงพื้นที่อาคาร Service Hall ที่อนาคตจะปรับเป็นบริการผู้โดยสารในประเทศแทนการให้บริการกรุ๊ปทัวร์
นายกีรติกล่าวว่า ในแผนพัฒนายังมีงานปรับปรุงระบบการจราจร โดยขยายช่องทางจราจรหน้าอาคารผู้โดยสาร จาก 4 ช่องจราจรเป็น 6 ช่องจราจร และจะมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์กับถนนภายในสนามบิน ทั้ง ขาเข้าและขาออก เพิ่มเติม 2 จุด เพื่อแก้ปัญหาจราจรภายในสนามบิน ซึ่งประเด็นการสร้างทางเชื่อมกับดอนเมืองโทลล์เวย์นั้น จะต้องมีการหารือกับกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะเจ้าของโครงการ และ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) คู่สัญญาร่วมลงทุนฯ ของกรมทางหลวง ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในแผนจะประมูลก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ก่อน เพื่อเร่งก่อสร้างเสร็จในปี 2569 ขณะที่แผนงานพัฒนาดอนเมืองระยะที่ 3 มีระยะเวลาก่อสร้างรวมทั้งสิ้น7 ปี (2566-2572)