xs
xsm
sm
md
lg

ครม.รับทราบสรุปผลมหกรรมแก้หนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ผ่านออนไลน์ สัญจร กทม.ทุกภูมิภาคทั่วไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานสรุปผลดำเนินการมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านออนไลน์ พร้อมมหกรรมสัญจรฯ กทม.และ 4 ภูมิภาคทั่วไทย เร่งแก้ปัญหาหนี้ปชช.- ผู้ประกอบการไทยต่อเนื่อง เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม

วันนี้ (7 ก.พ.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 พร้อมมอบหมายให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในการกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและการปรับโครงสร้างหนี้เป็นวาระของประเทศ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs)

โดยกระทรวงการคลังได้ร่วมกับ ธปท. จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ในรูปแบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น 188,739 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสม 413,780 รายการ และการจัดงานรูปแบบสัญจรทั้งในกรุงเทพมหานครและ 4 ภูมิภาค รวม 5 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสงขลา มีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการภายในงานจำนวน 33,859 รายการ จำนวนเงินประมาณ 23,286 ล้านบาท โดยมีการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม รวมทั้งการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนด้วยการส่งเสริมทักษะการประกอบอาชีพเพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอและมั่นคง พร้อมสร้างความตระหนักรู้การบริหารจัดการด้านการเงินอย่างถูกต้องด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง และ ธปท. มีแนวทางเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นรูปธรรม โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยมีระยะเวลาดำเนินมาตรการถึงสิ้นปี 2566 การจัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ 2) หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครบวงจร และ 3) คลินิกแก้หนี้ ที่เป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน นอกจากนี้ ธปท.จะเผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรียังได้กำชับในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ขับเคลื่อนการทำงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนต่อไป เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนการแก้ไขและโครงสร้างหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการไทยเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม รวมทั้งพิจารณาแนวทางการสร้างรายได้เพิ่มเติมและการสร้างความรู้ทางการเงินให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเกิดผลอย่างยั่งยืน บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น