xs
xsm
sm
md
lg

คลังเผยผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 27-29 มกราคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี จังหวัดสงขลา ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกับการจัดงานทั้ง 4 ครั้งที่ผ่านมา โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการภายในงานมากกว่า 5,700 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 5,000 ล้านบาท”

การจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 5 จังหวัดสงขลา ได้รับเกียรติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นประธานเปิดงานและเยี่ยมชมงาน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กล่าวปาฐกถาถึงปัญหาที่ประชาชนและผู้ประกอบการต้องประสบในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้ที่ลดลงจนไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ รัฐบาลซึ่งนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนและผู้ประกอบการ และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชนเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อนโยบายดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงกำหนดให้เป็นภารกิจของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 7 แห่ง และธนาคารพาณิชย์ที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขหนี้อย่างครอบคลุมและตรงจุด เพื่อให้ประชาชนสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้สินได้ในระยะยาว

ผลของการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” สัญจร รวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยมีจำนวนรายการที่ขอรับบริการมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท ประกอบด้วยการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ จำนวนมากที่สุดกว่า 13,000 รายการ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะส่งผลให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนประสบความสำเร็จในระยะยาว รองลงมา คือ การขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมกว่า 10,000 รายการ การขอสินเชื่อเพิ่มเติมกว่า 4,000 รายการ และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด การจำหน่ายทรัพย์ NPA จากทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น ประมาณ 7,000 รายการ

นอกเหนือจากการจัดมหกรรมรูปแบบสัญจรแล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่างๆ และผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน จัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้รูปแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นการลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์ และได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน โดย ณ วันที่ 30 มกราคม 2566 มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ผ่านระบบออนไลน์มากกว่า 185,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 407,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลร้อยละ 35 ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 30 และภาคอื่นๆ ร้อยละ 35 ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด และประเภทสินเชื่อที่มีการลงทะเบียนสูงสุด คือ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลร้อยละ 75 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ร้อยละ 6 สินเชื่อรายย่อยอื่นร้อยละ 5 สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยร้อยละ 4 สินเชื่อจำนำทะเบียนรถร้อยละ 4 และสินเชื่อประเภทอื่นๆ ร้อยละ 6

นอกจากนี้ แม้ว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายที่จะขยายผลการแก้หนี้ลงไปเฉพาะกลุ่ม โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อแก้หนี้สินครูและกระทรวงแรงงานเพื่อช่วยเหลือหนี้ให้กลุ่มแรงงาน

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า “กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผลักดันให้สถาบันการเงินทุกแห่งให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเร่งรัดให้สถาบันการเงินปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ตามแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถเข้าร่วม “โครงการคลินิกแก้หนี้” ทางเว็บไซต์ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือ www.debtclinicbysam.com ทาง Line @debtclinicbysam หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 1443 ซึ่งช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่เป็นหนี้ค้างชำระบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน ให้ได้รับสิทธิลดดอกเบี้ยและไม่เสียประวัติในฐานข้อมูลเครดิตหากจ่ายค่างวดไม่ได้เต็มจำนวน หรือ “โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน” ทางเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/app/doctordebt/ ทาง Line @doctordebt หรือทางหมายเลขโทรศัพท์ 1213 เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้รายย่อยและธุรกิจ ดังนั้น ประชาชนและผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาหนี้สินสามารถติดต่อขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ที่สาขาของสถาบันการเงินทุกแห่งทั่วประเทศหรือเข้าร่วมโครงการต่างๆ ได้เช่นกัน”

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
1.สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ โทร.0-2202-1868 หรือ 0-2202-1961
2.ธนาคารออมสิน โทร.0-2299-8000 หรือสายด่วน 1115
3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร.0-2555-0555
4.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร.0-2645-9000
5.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย โทร.0-2265-3000 หรือสายด่วน 1357
6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย โทร.0-2-169-9999
7.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โทร.0-2650-6999 หรือสายด่วน 1302
8.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม โทร.0-2890-9999
9.โครงการคลินิกแก้หนี้ โทร.1443
10.โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน โทร.1213


กำลังโหลดความคิดเห็น