xs
xsm
sm
md
lg

มิตรแท้ไม่มีจริง โดดเดี่ยวบิ๊กตู่-รวมไทยฯ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

เริ่มปีใหม่ ปี2566 เป็นต้นไป ก็ได้เห็นสัญญาณการเมืองในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนรัฐบาลและสภาจะหมดวาระครบ 4 ปี ขณะเดียวกัน เมื่อนับจากวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ นั่นคือ กฎหมายที่ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ในอีกไม่นานนี้ นั่นก็จะถือว่าเป็นการนับถอยหลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งทันที ซึ่งแนวโน้มเป็นไปได้สูง ที่จะเกิดแรงกดดันให้ยุบสภา ส่วนจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ หรือจะยุบกันวันไหน ก็ต้องลุ้นกันตลอดเวลา

อย่างไรก็ดี แม้ว่านาทีนี้ยังถือว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้ “คุมเกม” สูงสุด เนื่องจากมีอำนาจในการ “ยุบสภา” เพียงผู้เดียว สามารถกดปุ่มเลือกวันยุบวันไหน ซึ่งก็ต้องเลือกจังหวะที่ทำให้ฝ่ายตัวเองได้เปรียบ โดยในที่นี้ย่อมหมายรวมถึง พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เขาจะเข้าไปสังกัดในอีกไม่กี่วันข้างหน้าอีกด้วย ตามที่มีการส่งสัญญาณออกมาแล้วว่าจะสมัครเป็นสมาชิกพรรค หลังปีใหม่

แม้ว่าการที่ “บิ๊กตู่” เปิดตัวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จะทำให้พรรคนี้มีสีสัน มีความคึกคักขึ้นมาทันตา เนื่องจากมีการ “ไหลเข้า” ของ ส.ส. นักการเมืองระดับ “บิ๊กเนม” รวมไปถึงพวก “เก๋าเกม” จำนวนมากที่เชื่อว่าจะทยอยตามมาหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ รวมไปถึงในช่วงภายในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ครบกำหนดเส้นตายของกฎเหล็ก สมาชิกพรรค 90 วัน ทำให้ต้องสร้างหลักประกันความชัวร์เอาไว้ก่อน ทำให้ช่วงเวลานั้น จะมีส.ส.ตัดสินใจลาออก และย้ายพรรคกันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนั้นก็น่าจะไหลมาที่พรรครวมไทยสร้างชาติ จำนวนหนึ่งแน่นอน

ขณะเดียวกัน อย่างที่รู้กันดีว่าสำหรับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป้าหมายคือต้องการ “ไปต่อ” ต้องการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในโควต้าที่เหลืออีก 2 ปี จึงต้องทำทุกทางเพื่อเดินให้ถึงจุดหมายดังกล่าว แต่หนทางข้างหน้ามันไม่ง่าย ด้วยสถานการณ์เปลี่ยน และที่สำคัญ “คน” ก็เปลี่ยน ทำให้ทุกอย่างยากขึ้นไปอีก

เงื่อนไขหรืออุปสรรคแรกที่ต้องผ่านให้ได้ก่อน ก็คือ พรรครวมไทยสร้างชาติต้องได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน เพื่อมีสิทธิเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ต้องดูว่า ความเป็นพรรคใหม่ และ “กระแส” ประยุทธ์ ยังใช้ได้อยู่มากแค่ไหน ขณะเดียวกันคราวนี้ที่ว่าทั้งสถานการณ์ และคนเปลี่ยนไป ก็คือ “คู่แข่ง” เยอะกว่าเดิม อย่างน้อยในระดับคนกันเองทั้งนั้น อย่างที่รู้กันแล้วก็คือ ในการเลือกตั้งคราวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยเสนอชื่อเขาเป็นนายกฯ จะดัน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดต ซึ่งก็ต้องจับตาในเรื่องของเสียงโหวตจาก ส.ว.ที่มาจากแหล่งเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาหากไม่ยอมถอยให้กัน มันก็ต้องแบ่งข้างประชันกัน

นอกเหนือจากนี้ ยังมีพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพันธมิตรกันมานาน แต่เมื่อถึงเวลาลงสนามมันก็ต้องกลายเป็นคู่แข่ง ที่ต้องโฟกัสกัน ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่นาทีนี้ประกาศความพร้อมเต็มที่เช่นเดียวกัน ประกอบกับความที่ “รักษาทรง” เอาไว้ได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นพรรคเนื้อหอม มีการ “ดูดบ้านใหญ่” เข้ามาหลายจังหวัด ทำให้การันตีถึงจำนวน ส.ส.จนเป็นที่คาดการณ์กันว่าจะกลายเป็นพรรคขนาดกลางค่อนไปทางพรรคขนาดใหญ่ได้เลยทีเดียว เพราะเป้าหมายนอกจากภาคอีสานที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดแล้ว ยังขยายลงไปภาคใต้ ที่มีการสร้างฐานเสียงเอาไว้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง เรียกว่า “แน่นปึ้ก” โดยเฉพาะ “กระสุน”

ก่อนหน้านี้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคคนสำคัญอีกคนหนึ่งนอกจากประกาศเป้าหมาย ส.ส.จำนวน 120 คนแล้ว ต่อมาเขายังแสดงท่าทีชัดเจนว่า “พร้อมเข้าร่วมทุกขั้ว” โดยให้ลืมเรื่องราวความเลวร้ายในอดีต และกล่าวย้ำว่า “การเมืองไม่มีศัตรูถาวร” ความหมายรวมๆ ก็คือ พรรคภูมิใจไทยพร้อมร่วมรัฐบาลกับทุกพรรค โดยอาจมีเงื่อนไขปิดกั้นเฉพาะพรรคก้าวไกล ที่หากยังหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการแก้ไข มาตรา112 และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ร่วมงานกันไม่ได้

เน้นย้ำด้วยคำพูดของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงเสถียรภาพรัฐบาลใหม่ที่ต้องรวบรวมเสียงให้ได้อย่างน้อย 251 เสียง เพื่อให้ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ โดยย้ำว่าแม้ ส.ว.ยังมีส่วนในช่วงขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรี หากได้นายกฯมาแล้ว หลังจากนั้นการดำเนินการใดๆ ในสภา จะเป็นเรื่องของรัฐบาล โดยตัวนายกฯ กับ สภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญหลักการนั้นจะอยู่กับจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคการเมืองรวบรวมได้ ว่าจะเกินกึ่งหนึ่ง หรือ จำนวน 251 เสียง จาก 500 เสียง ได้หรือไม่ ซึ่งเราต้องเชื่อการตัดสินใจของประชาชน ต้องให้เกียรติประชาชนเป็นสำคัญ และมองว่าในระบอบประชาธิปไตย มันก็เป็นหลักการที่แฟร์ๆ กับประชาธิปไตยรัฐบาลต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง ถึงจะเป็นรัฐบาล ทำงานได้ และมั่นคง เพราะถ้าไม่เกินกึ่งหนึ่ง เมื่อเปิดสภาแถลงนโยบาย หรือหากมีการออกกฎหมายสำคัญ ซึ่งดูแล้วในรัฐบาลชุดหน้าอาจจะมีกฎหมายสำคัญ กฎหมายการเงิน เช่น ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เข้าสู่การพิจารณาก็ได้ในช่วงเดือน ส.ค.- ก.ย. ปีหน้า ถ้ารัฐบาลมีเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง ก็อาจจะจอดตั้งแต่ตรงนั้นแล้ว ไม่ต้องรอไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“ผมมั่นใจว่า ส.ว.ก็ต้องมีกระบวนการความคิดว่าเขาจะสนับสนุนใครเป็นนายกฯ ถ้าความต้องการของประชาชนอย่างชัดเจน เขาคงต้องทำตามความต้องการของประชาชน นี่เป็นหลักที่คนที่เป็นนักการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับงานการเมืองต้องยึดถืออยู่แล้ว” นายอนุทิน กล่าวและว่า ยกตัวอย่างในสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งปี 2562 ท่านนายกฯเข้ามาด้วยเสียง 253 เสียง ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตาม ท่านมีความชอบธรรม เพราะท่านได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง และรัฐบาลก็อยู่มาได้จนครบสมัย แต่รัฐบาลก็ต้องมีความสามารถในการบริหารบ้านเมืองด้วย จนอยู่พ้นมาได้เกือบ 4 ปีแล้ว

คำพูดดังกล่าวของ นายอนุทิน เป็นการชี้ให้เห็นว่า แม้จะมี ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯก็ตาม แต่ความหมายก็คือ พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งรัฐบาล ต้องรวบรวมเสียง ส.ส.ให้ได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งหรือต้องไม่น้อยกว่า 251 เสียง และมั่นใจว่า ส.ว.ก็จะโหวตตามความต้องการของประชาชน ซึ่งหากพิจารณาให้ลึกลงไปอีก ความหมายก็คือต้องเคารพเสียงของประชาชนที่เลือก ส.ส. หากใครได้ ส.ส.มากกว่าก็ได้สิทธิ์ในการรวบรวมเสียง ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็มีสิทธิ

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อพิจารณากันถึงเส้นทางของ “บิ๊กตู่” และพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้ว่านาทีนี้จะเริ่มคึกคัก ยังมีโอกาสโตตาม “กระแส” แต่เมื่อมองกันตามความเป็นจริงถือว่า เขามีข้อจำกัด “มีทางเลือกในการจับขั้วไม่มาก” นั่นคือ ฟากเดียวคือ พันธมิตรพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ต้องมาแข่งขันกันเอง หากมาอันดับหนึ่งก็ยังมีลุ้น แต่หากได้ ส.ส.ลำดับรองลงมา มันก็ต้องเจรจากันหนักหน่อย

ขณะที่อีกสองพรรคที่เหลือ ไม่ว่าภูมิใจไทย หรือแม้แต่พรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม” ที่ตามรายงานที่ออกมาเป็นระยะว่า มีโอกาสที่จะพลิกขั้วไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย มันทำให้พวกเขาเปิดกว้าง และไม่มีข้อจำกัดในเงื่อนไขนี้เหมือนกับ “บิ๊กตู่” ที่ต้องเป็นนายกฯ เท่านั้น รวมถึงไม่อาจร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ มันถึงบอกว่าเป็นงานหิน อีกทั้งมันก็ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่า เมื่อถึงเวลามิตรแท้ทางการเมืองมันไม่มีจริง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น