พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นขอใช้ ม.152 อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่ลงมติ ปฏิบัติการ “ถอดหน้ากากคนดี” มุ่งเป้าบริหารบกพร่อง ชิงเกมการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนให้ ปชช.ตัดสิน ยันไม่มีเว้น “บิ๊กป้อม”
วันนี้ (28 ธ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมแกนนำพรรคร่วมฝายค้าน ร่วมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา152 มี นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร รับญัตติจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลโดยไม่ลงมติ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 152 ภายใต้ยุทธการ “ถอดหน้ากากคนดี” เนื้อหาที่จะอภิปราย จะชี้ให้เห็นถึงการบริหารงานราชการแผ่นดินที่บกพร่อง ไม่ได้ทำตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“ตามที่สื่อมวลชนมอบฉายาให้รัฐบาลหน้ากากคนดี ฝ่ายค้านจะขอกระชากหน้ากาก อภิปรายเจาะลึกทุกประเด็นให้เห็นว่าภายใต้หน้ากากคนดีที่อยู่มา 8 ปี เนื้อแท้ของคนดีที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองนั้นเป็นอย่างไร ถือเป็นปีสุดท้ายของรัฐบาลก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า การอภิปรายครั้งนี้ ส.ส.ลงมติไม่ได้ แต่ประชาชนจะได้ร่วมตรวจสอบได้ดูว่า คนดีนั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปตัดสินใจในการเลือกตั้งปี 2566” นพ.ชลน่าน กล่าว
ด้าน นายพิธา กล่าวว่า การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เป็นการอภิปรายในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ถึงแม้ ส.ส.จะโหวตไม่ได้ แต่ประชาชนสามารถนำไปตัดสินใจโหวตแทน ส.ส.ได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ด้าน นายชวน กล่าวภายหลังรับญัตติจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ช่วงเวลาการอภิปราย น่าจะหลังจากกลางเดือน ม.ค. 66 ไปแล้ว เพราะต้องไปหารือฝ่ายรัฐบาลว่ามีความพร้อมทางเวลาเมื่อไหร่ ถึงจะมีการบรรจุญัตติเข้าสภา นอกจากนี้ ก่อนกลางเดือน ม.ค. 66 จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาตามที่ฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ และการโหวตเลือกนายกฯ ให้มาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมา หรือมาจาก ส.ส.ในสภาเท่านั้น
เมื่อถามว่า ในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 จะเจาะจงรัฐมนตรีท่านใดเป็นพิเศษบ้าง นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เป็นการสอบถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกสามารถเจาะรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลในเรื่องของพฤติการณ์ พฤติกรรม หรือหน้าที่ความรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินได้
เมื่อถามต่อว่า การันตีได้หรือไม่ว่าเนื้อหาจะเน้นการอภิปรายเจาะไปที่รัฐมนตรีที่เป็นหัวหน้าพรรค นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ขึ้นกับเนื้อหาสาระที่สมาชิกเราที่เตรียมไว้ตามกรอบญัตติที่เราเตรียมไว้ เกี่ยวข้องกับผู้ใด ผู้นั้นก็จะถูกซักถามหรือสอบถาม เป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีท่านนั้นที่จะต้องตอบ
เมื่อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการละเว้นการอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เนื้อหาในญัตติที่เราเขียนคลุมถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านนี้ด้วย ในฐานะรองนายกฯ มีอยู่ในกรอบของญัตติ ทั้งนี้ เราพูดในนามคณะรัฐมนตรี เป้าหมายหลักอยู่ที่คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 164 แต่สิ่งที่จะหยิบยกมา ชี้ให้เห็นที่เป็นภาพเด่นชัดหรือนูนขึ้นมา ก็อาจจะเจาะรัฐมนตรีเป็นบางท่าน บางคน ทั้งนี้ การอภิปรายครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นจำเลยหมายเลข 1 พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่อยากเป็นเครื่องซักล้างให้ใคร แต่เรามีความเป็นต้องล้างสิ่งที่แปดเปื้อนออก ที่แปดเปื้อนในระบบรัฐสภา แปดเปื้อนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แปดเปื้อนโอกาสของประชาชน เราต้องซักล้างให้ได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์คือเป้าหลักเพราะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ทุกพรรคพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์
“แม้ไม่มีการลงมติในสภา แต่เราหวังให้ประชาชนเป็นผู้ลงคะแนน ตัดสินว่ารัฐบาลชุดนี้มีอะไรให้ประชาชนไว้วางใจสืบทอดอำนาจต่อหรือไม่ และพรรคร่วมฝ่ายค้านมีอะไรที่จะให้ประชาชนไว้ใจให้เข้ามาทำหน้าที่แทนพี่น้องประชาชนหรือไม่” นพ.ชลน่าน กล่าว