xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยวืดแก้ รธน.ปิดทาง “บิ๊กตู่” รีเทิร์น!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
เมืองไทย 360 องศา

จะเรียกว่าเป็นความพยายามอีกเฮือกหนึ่งก็ว่าได้ สำหรับพรรคเพื่อไทยกับการจะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งเป้าหมายก็มองได้ไม่ยาก นั่นคือ ขจัดขวากหนามที่ทำให้ตัวเองไม่ได้เป็นรัฐบาล รวมไปถึงกำจัดคู่แข่งทางการเมืองคนสำคัญไปในคราวเดียวกันด้วย

ก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน มีความพยายามเคลื่อนไหวจากพรรคเพื่อไทย มีการขยับยื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ว่าด้วยเรื่องการให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และมาตรา 272 ยกเลิกมิให้สมาชิกวุฒิสภา ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยประเด็นการเสนอชื่อบุคคลให้สภาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯได้ ว่า ยังไม่เห็นรายละเอียด และยังไม่ได้คุยกันในเรื่องนี้ ซึ่งระยะเวลาเหลืออยู่ 2-3 เดือนก่อนสภาจะครบวาระ ไม่ทราบว่าจะทันหรือไม่ แต่ในส่วนของพรรคภูมิใจไทย ยังไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องนี้ ตอนนี้พรรคภูมิใจไทยวุ่นวายกับการเตรียมการเลือกตั้งมากกว่า

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยประเด็นการเสนอชื่อบุคคลให้สภาเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี และตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ ว่า หากทันเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ตนพร้อมจะลงมติสนับสนุน แต่ตนกังวลว่า จะทำได้เพียงเสนอ แต่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญทำให้แก้ไขได้ยาก ต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ร่วมเห็นชอบด้วย

สำหรับประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ พรรคชาติไทยพัฒนากำหนดไว้เป็นนโยบายที่จะหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชน เพื่อให้เป็นพลังในการสนับสนุนให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้สำเร็จ เหมือนสมัยที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกฯ และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย เคยดำเนินการ ซึ่งเริ่มจากการหาเสียงกับประชาชน เพื่อให้เป็นพลังสนับสนุน จากนั้นหลังเลือกตั้งจึงขับเคลื่อนแก้ไข และได้มาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยประเด็นที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะขับเคลื่อน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีส่วนร่วมยกร่าง และประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องแก้ไขด้วยเช่นกัน

“ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเสนอนั้น อาจจะเสนอเพื่อให้บอกกับประชาชนไว้ในช่วงเลือกตั้ง แต่อาจหวังผลไม่ได้ สู้ประกาศกับประชาชนและให้ประชาชนสนับสนุน เพื่อเป็นพลังที่นำไปสู่การแก้ไขทั้งฉบับ” นายนิกร กล่าว

เช่นเดียวกับการเปิดเผยของ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ที่กล่าวถึงเรื่องดังกล่าว ว่า จนถึงขณะนี้พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาแต่อย่างใด

นั่นคือ ความเคลื่อนไหวในความพยายามในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราของพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงปฏิกิริยาและความเป็นไปได้ถึงความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขด้านเวลาของสภาที่เหลือวาระแค่สองสามเดือน และที่สำคัญก็คือรัฐธรรมนูญนั้น “แก้ไขยากมาก” โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งสองมาตราดังกล่าวที่เสนอแก้ไขเข้ามานั้น ล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจของ ส.ว. แต่ตามเงื่อนไขทางกฎหมายการแก้ไขจะสำเร็จกลับต้องใช้เสียงของ ส.ว.ไม่น้อยกว่า หนึ่งในสาม หรือ ไม่น้อยกว่า 84 เสียง เพียงแค่นี้ก็พอหลับตาได้แล้วว่าจะผ่านหรือไม่ ซึ่งนั่นว่ากันในกรณีที่มีเวลาอายุสภานานนับปี แต่นี่แค่สามเดือนเลิกคุยได้เลย

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในมุมการเมืองสำหรับคนที่ติดตามก็ย่อมมองเกมแบบนี้ได้ไม่ยากว่าน่าจะเป็นความพยายามในการ “สร้างกระแส” หวังผลในด้านการเลือกตั้ง เนื่องจากรับรู้กันดีอยู่แล้วว่า เงื่อนไขเวลามีจำกัด ไม่มีทางดำเนินการได้ทัน อีกทั้งหากพิจารณากันให้ละเอียดก็จะพบว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ออกไปในทาง “ส่วนตัว” มากกว่าเหตุผลความจำเป็นของส่วนรวม เพราะเป็นเรื่องของความพยายามในการขึ้นอยู่อำนาจ ต้องการเป็นรัฐบาล เป็นความพยายามกลับมามีอำนาจของบางคนและบางครอบครัวเท่านั้น ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับชาวบ้านโดยรวมเท่าใดนัก

ขณะเดียวกัน หากพิจารณากันอีกด้านหนึ่งมันก็ยังมองเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทย และเครือข่ายยังหวาดผวากับกลุ่ม “สาม ป.” ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นแกนหลักอยู่วันยังค่ำ แม้ว่าเวลานี้ทั้งคู่จะทำกิจกรรมทางการเมืองแบบแยกพรรคกันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าเป็น “พันธมิตร” กัน โดยเฉพาะยังเชื่อว่าต้องมารวมกันจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งอย่างแน่

มองจากเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ทางหนึ่งที่หวังผลในการสร้างกระแสหวังในการเลือกตั้ง รวมไปถึงปูทางสำหรับการแก้ไขทั้งฉบับหลังการเลือกตั้งแล้ว อีกทางหนึ่งยังเป็นการ “สร้างกระแสสกัดกั้นบิ๊กตู่” เอาไว้ล่วงหน้า เนื่องจากยังเห็นว่า มีช่องทางของ ส.ว.สนับสนุนอยู่ตามบทเฉพาะกาลที่ยังเหลือเวลาอีก 1 ปี หรือโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับส.ส.ในที่ประชุมรัฐสภาได้อีกหนึ่งครั้ง

แม้ว่าเสียงโหวตของ ส.ว.จำนวน 250 คน ก็อาจจะไม่มีความหมาย หากไม่อาจรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เสียงข้างมาก ในอนาคตก็จะกลายเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็บริหารไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม การได้เสียงโหวตนายกฯจาก ส.ว.มันก็ถือว่าเป็นพลังต่อรองที่มีความหมายมาก และแม้ว่าจะเสียงแย้งว่า ส.ว.ในตอนนั้นอาจไม่เป็นเอกภาพ ไม่เหมือนเดิมแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีพลัง และที่สำคัญก็ยัง “เป็นพวก” กันอยู่ดี

ดังนั้น นาทีนี้หากจะให้ย้ำกันอีกทีกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจของ ส.ว.ในการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในครั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากเงื่อนไขเวลา และปฏิกิริยาตอบรับแล้วถือว่า “วืด” แน่นอน อีกทั้งยังต้องพึ่งเสียงของ ส.ว.อีกไม่น้อยกว่า 84 เสียง ในการโหวตให้ตัดอำนาจตัวเองเพียงแค่นี้ก็ย่อมมองได้ไม่ยากแล้วว่าผลจะออกมาแบบไหน นี่ยังไม่นับเรื่องที่จะถูกมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเปิดทางให้ตัวเองได้เป็นรัฐบาล ขณะเดียวกัน พูดไปพูดมาในที่สุดแล้วก็ยังต้องถือว่า “บิ๊กตู่” ยังกลายเป็น “ภาพหลอน” ตลอดกาล จึงต้องสกัดกั้นกันทุกทาง!!



กำลังโหลดความคิดเห็น