เมืองไทย 360 องศา
ก็คงเป็นไปตามรายงานข่าวก่อนหน้านี้ หลังจากเมื่อวันก่อนได้ทราบข่าวการลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของ นายดิสทัต โหตระกิตย์ แล้วได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ถัดมาในวันรุ่งขึ้น ก็มีประกาศรับทราบการลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามคาด ว่า เขาจะได้เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่สืบแทน โดยจะเสนอชื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบในวันอังคารที่ 20 ธันวาคมนี้ อย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน การตั้ง นายพีระพันธุ์ เสรีรัฐวิภาค ที่เวลานี้เป็นหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มาดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองแบบที่ไม่ต้องอธิบายกันอีกแล้ว อีกทั้งการแต่งตั้งในช่วงเวลานี้ แบบนี้ ย่อมมีความหมายในทางการเมืองหลายอย่างตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังเหลือวาระของรัฐบาล และสภาเพียงแค่สามเดือนเศษเท่านั้น
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยยอมรับแล้วว่า “จะไปต่อ” ในวาระที่เหลืออยู่จนถึงปี 2568
“ก็ 2 ปี ก็จะทำทุกอย่างให้มันดีที่สุด และจากนั้นต่อมาก็จะมีคนใหม่ที่เหมาะสม ที่ประชาชนยอมรับและทำต่อแค่นั้นเอง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ข่าวที่จะไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ ชัดเจนแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็เดี๋ยว ผมยังไม่ได้พูดเท่านั้นเอง เดี๋ยวค่อยพูด”
นั่นเป็นคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เคยกล่าวแสดงความชัดเจนเป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุผลที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนที่พรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทำให้ไม่อาจแสดงท่าทีให้ชัดเจนในเวลานี้ได้ว่ากำลังจะไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ด้วยเหตุผลในเรื่อง “มารยาท” ที่ค้ำคออยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะรับรู้กันในทางการเมือง หรือแม้แต่คำพูดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศไปแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่แรกแล้วก็ตาม เป็นแค่คนที่พรรคสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น หลังจากถูกถามเรื่องการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติก่อนหน้านี้ พร้อมกับย้ำว่า ไม่มีปัญหาต่อกัน ความผูกพันที่เคยมีมานาน ก็ยังเหมือนเดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
ทั้งท่าทีและคำพูดดังกล่าว ระหว่าง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต่างฝ่ายต่างพูดออกมาในแบบรักษาน้ำใจ ไม่ออกมาในโทนขัดแย้ง ทำให้ “คอการเมือง” มองออกว่า แม้ว่าทั้งสองคน คือ “สอง ป.” จะแยกพรรค แต่ก็คงไม่แตกกัน ยังต้องร่วมมือกัน จับมือเป็นพันธมิตรทางการเมือง จัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ซึ่งพิจารณาจากแนวโน้มก็คือ ยังเป็นการ “รวมกลุ่มจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิม” ส่วนใครจะได้เป็นนายกฯ เชื่อว่า น่าจะชัดเจนหลังทราบผลการเลือกตั้ง
เมื่อวกกลับมาที่การตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรีคนใหม่ คาดว่า จะเสนอชื่อให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ในวันที่ 20 ธันวาคม ในทางการเมืองมันก็เหมือนเป็น “คำตอบ” ที่ชัดเจนโดยไม่ต้องอธิบายหรือแถลงใดๆ ตามมาอีกแล้ว ว่านี่คือคำตอบที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ และที่ผ่านมาด้วยเหตุผลความไม่เหมาะสมจากการที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐมาก่อน ดังนั้น การที่จะโยกไปสังกัดหรือร่วมงานกับอีกพรรคหนึ่ง โดยที่ยังเป็นรัฐบาลมันก็ดูกระไรอยู่
ขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาจากระยะเวลาที่อายุรัฐบาลเหลืออยู่ประมาณ 3 เดือนเศษ ถือว่าสั้นมาก แต่หากมองด้วยเหตุผลทางการเมือง มันย่อมมีความหมาย อย่างน้อยมันก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติแน่นอน และอีกด้านหนึ่ง ยังเป็นการ “ตรึง” ให้บรรดาส.ส.และนักการเมืองที่ยัง “ลังเล” ไม่แน่ใจว่าจะมาหรือไม่ จะได้ตัดสินใจเสียที โดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการตัดสินใจย้ายพรรค
ที่ต้องบอกว่าการ “ตัดสินใจย้ายพรรค” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับบรรดา ส.ส.ในเวลานี้ เพราะหากไม่ชัดเจนจะมีผลในเรื่องข้อกำหนดในเรื่องการสังกัดพรรคใน 90 วัน หากนายกรัฐมนตรีอยู่ครบเทอม แต่หากมีการยุบสภา ก็แค่สังกัดพรรคไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยให้นับถึงวันเลือกตั้ง
ดังนั้น สิ่งที่ต้องพิจารณากันต่อจากประเด็นหลัง ก็คือ เมื่อรูปการณ์เป็นอย่างที่เห็น ก็ทำให้มั่นใจได้เลยว่าจะต้อง “ยุบสภา” แน่นอน เพียงแต่ว่า จะยังไม่เกิดขึ้นภายในเดือนนี้ เชื่อว่า การยุบสภาน่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ หรือหลังจากนั้นไม่นาน ทางหนึ่งก็เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้ทำหน้าที่ หรืออยู่ในสภาต่อไป อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าเวลานี้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เพิ่งเสนอทูลเกล้าฯขึ้นไปไม่กี่วัน ซึ่งในขั้นตอนนี้มีเวลาไม่เกิน 90 วัน และคาดเดาไม่ได้ ซึ่งคนที่กดดันให้ยุบสภา ถือว่าเป็นแค่ “พูดเอาเท่” เท่านั้น
โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านบางพรรค เพราะในความเป็นจริงหากยุบสภาตอนนี้ จะเกิดปัญหายุ่งยากในการใช้กฎหมายรองรับการเลือกตั้ง ที่ถือว่าเป็น “สุญญากาศ” ที่เขาไม่ต้องการ เพราะตัวเองเสียเปรียบ
ขณะเดียวกัน สำหรับกรณีที่ตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในช่วงเวลาสั้นๆ แบบนี้ อีกด้านหนึ่งมันก็สามารถทำหน้าที่ “ประสานงาน” สร้างความเชื่อมั่นให้กับ ส.ส.ไม่ให้เปลี่ยนใจ อย่างน้อยการเจรจาย่อม “มีน้ำหนัก” มากกว่าเดิม และที่สำคัญ ยังใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เพราะต้องไม่ลืมว่าในอดีตตำแหน่งนี้เคยสำคัญไม่ต่างจาก “นายกฯ น้อย” มาแล้ว ซึ่งหากในอนาคตต้องจับตาดูกันอีกว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ นอกจากเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” เป็นแคนดิเดตนายกฯ แล้วยังจะมีการเสนอชื่อคนอื่นขึ้นมาเป็นอันดับสองหรือไม่ หากเป็นนายพีระพันธุ์ ก็ถือว่าชัดเจน
และอาจจะสอดคล้องกับคำพูดก่อนหน้านี้ที่ว่า “จะมีคนที่เหมาะสมมาทำต่อ” ในวาระที่เหลือในสองปีหลังหรือไม่ แต่ตอนนี้ถือว่าชัดเจนจนไม่ต้องอธิบายออกมาแล้ว!!