เมืองไทย 360 องศา
ผ่านไปแล้วสำหรับฉายารัฐบาลและบรรดารัฐมนตรี รวมไปถึงพรรคการเมืองประจำปีของสื่อทำเนียบรัฐบาล แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งบางอย่างตามมา ทำนองว่า บางฉายาอาจ “ไม่ตรงปก” บ้าง อะไรบ้าง แต่ก็อย่าไปซีเรียสกันมาก มองเป็นเรื่องขำๆ และปล่อยวางในช่วงสิ้นปีก็แล้วกัน
อย่างไรก็ดี หากโฟกัสไปที่บางพรรคการเมืองที่อยู่ในข่าย มีฉายาในคราวนี้ก็มีพรรคภูมิใจไทย ที่ว่า “ภูมิใจดูด พูดแล้วดอย” ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรค อารมณ์เสียแต่อย่างใด แต่กลับกล่าวอย่างอารมณ์ดีว่า อยู่บนดอยก็อยู่บนที่สูง ปลอดภัย แต่ก็ได้ปฏิเสธถึงเรื่อง “พลังดูด”
“เราไม่ได้ดูด เราเป็นพรรคการเมือง ถ้าเห็นว่า นโยบายของเรา ที่หาเสียงแล้ว เกิดเป็นผลงาน ทำได้ ก็มาหาเรา เราไม่เคยปิดกั้น”
ถามถึง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่ค้างอยู่ในสภา นายอนุทิน ตอบว่า ติดเพราะคนอื่น ไม่ได้ติดที่พรรคภูมิใจไทย ทางภูมิใจไทยส่งกฎหมายเข้าสภาเรียบร้อยแล้ว ผ่านกรรมาธิการเรียบร้อย ภูมิใจไทยเราทำทุกอย่างแล้ว ไม่มีอะไรที่ควรทำแล้วไม่ได้ทำ ถ้ามีอุปสรรคคนที่ทำให้เกิดอุปสรรคก็ต้องรับผิดชอบ
นายภราดร ปริศนานันทกุล โฆษกพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงกรณีที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาล ตั้งฉายา “ภูมิใจดูด พูดแล้วดอย” ว่า เป็นเชิงสัพยอกกันมากกว่า แต่อยากให้พิจารณาในแง่ข้อเท็จจริงด้วย โดยเฉพาะคำว่า “ดูด” โดยพรรคภูมิใจไทยวันนี้ คือ ไต้ฝุ่น ใช้เวลา4 ปี เพิ่มกำลังจากหย่อมความกดอากาศต่ำเล็กๆ โดยสะสมผลงาน ผ่านคำว่าพูดแล้วทำ หลากหลายนโยบาย ฟังดูเหมือนขายฝัน แต่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงภายในเวลาไม่ถึง 4 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเกิดแรงดึงดูดขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความสนใจและมั่นใจจากเพื่อน ส.ส. และนักการเมือง ว่า พรรคการเมืองนี้แหละ คือ พรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชน สัญญากับประชาชนแล้วสามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตามสภาพความเป็นจริง มันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เวลานี้มีรายการ “ไหลเข้า” พรรคภูมิใจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเรียกว่าเป็นเพราะ “พลังดูด” หรือไม่นั้นก็แล้วแต่ หรือ “ดูด” กันแบบไหน หรือมีข้อแลกเปลี่ยนกันหรือไม่ เชื่อว่าสำหรับคอการเมืองย่อมรู้กันดีอยู่แล้ว หรือบางคนที่เรียกว่าเป็น “บ้านใหญ่” ในบางจังหวัดก็บอกมาเองหรือ แม้แต่หัวหน้าพรรคขึ้นเวทีก็ประกาศเสียงดังฟังชัดมาให้ได้ยินมาในทำนองว่า “หากยกมาได้ทั้งจังหวัดก็เอาไปเลย ตำแหน่งรัฐมนตรี” อะไรประมาณนี้
สำหรับพรรคภูมิใจไทย ถูกมองว่า กำลังเนื้อหอมที่มีการไหลเข้ามากมาย และทำท่าจะเปลี่ยนแปลงสภาพจากพรรคขนาดกลางกลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็ประกาศความพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น มันก็เป็นไปได้ทั้งสองทาง นั่นคือ เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล หรือไม่ก็ต้องเป็น “พรรคตัวแปร” เทไปทางไหนก็ได้เป็นรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมา นายเนวิน ชิดชอบ หนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค และเรียกว่า เป็น “ครูใหญ่” ของพรรค ก็ได้พูดเปิดทางเอาไว้แล้วทำนองว่า “การเมืองไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร และให้ลืมเรื่องราวในอดีต และมุ่งไปข้างหน้า” ความหมายก็คือ “เปิดทางกับทุกฝ่าย” นั่นแหละ
แต่ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของพรรคภูมิใจไทย ยังมีผลกระทบโดยตรงกับพรรคเพื่อไทย และเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ในภาคอีสานอีกด้วย เพราะมียุทธศาสตร์หลักในพื้นที่เดียวกัน
ขณะเดียวกัน อีกพรรคหนึ่งที่ต้องโฟกัสกันเพิ่มเติม ก็คือ พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้ว่าเวลานี้จะมีรายการ “ไหลออก” กันแทบรายวันเหมือนกัน และมีการคาดการณ์กันว่า หลังการเลือกตั้งน่าจะ “ลดขนาด” ลงมากลายเป็น “พรรคขนาดกลาง” ซึ่งก็ต้องจับตาเหมือนกันว่าจะเป็น “พรรคตัวแปร” อีกพรรคหนึ่งและการันตีการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เพราะได้เห็นร่องรอยการเชื่อมโยงไปถึง “อีกขั้วหนึ่ง” นั่นคือ ฝั่งพรรคเพื่อไทยของ “ครอบครัวชินวัตร” ให้เห็นเป็นระยะ
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากกายภาพของพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องบอกว่า หากไม่ใช่เป็น “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เป็นหัวหน้าพรรค รับรองว่า “เละ” ยิ่งกว่านี้หลายเท่า ในปัจจุบันถือว่ารักษาทรงได้ในระดับดี สามารถควบคุมบรรดา “เขี้ยวลากดิน” เอาไว้ได้อยู่หมัด ประเภทที่เรียกว่า “บารมีเหนือชั้น” สมาชิกพรรคทุกระดับให้ความนับถือ หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าไม่มีใครที่กล้าพูด “แรงๆ” กับเขาเลย มีแต่บอกว่าให้ความเคารพ นั่นหมายความว่าเขาเอาอยู่
แม้ว่าในทางการเมือง บางโอกาสจำเป็นต้องแยกทาง แต่ทุกคนก็มักจะบอกว่าจากกันด้วยดี และยังให้ความเคารพ “ลุงป้อม” แต่ไม่ว่าจะเอาอยู่ หรือว่าบารมีล้นแค่ไหนก็ตาม ในความเป็นจริงก็คือมีการไหลออกจำนวนมาก แต่ขณะเดียวกัน ด้วยบารมีและด้วย “พลังดึง” ก็เชื่อว่า ยังสามารถกล่อม “บ้านใหญ่” หรือตัวหลักเอาไว้ได้ในบางจังหวัด ซึ่งสามารถเป็นหลักประกันจำนวน ส.ส.เขต เพื่อรักษาขนาด “พรรคขนาดกลาง” เอาไว้ให้ได้
แน่นอนว่า การจะ “ตรึง” หรือดึงบรรดาบ้านใหญ่ หรือระดับตัวหลักในบางจังหวัดที่จัดว่า “เขี้ยว” เอาไว้ได้ นอกเหนือจากเรื่องของบารมีและความเชื่อถือแล้วยังต้องพ่วงด้วย “หลักประกัน” แบบการันตีเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่า “ต้องเป็นรัฐบาล” ซึ่งอย่างที่บอกสำหรับพรรคพลังประชารัฐของ “บิ๊กป้อม” มีโอกาสสวิงไปได้ทุกขั้ว และที่สำคัญไปกว่านั้น ยังมี “พรรค ส.ว.” อยู่ในมืออีกจำนวนหนึ่งซึ่งปฏิเสธความจริงข้อนี้ไปไม่ได้เลย
ดังนั้น เมื่อพิจารณาตามรูปการณ์แล้ว ยังเชื่อว่า ไม่มีพรรคไหนจะได้เสียงข้างมากแบบเบ็ดเสร็จ จนตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ ยังต้องเป็นรัฐบาลผสมต่อไป และยังมั่นใจอีกว่าสองพรรคนี้ คือ ภูมิใจไทย กับ พลังประชารัฐ จะกลายเป็นพรรคตัวแปร ที่เทไปทางไหนก็ได้เป็นรัฐบาล !!