xs
xsm
sm
md
lg

“ตู่-ป้อม” ใครดีใครได้ หรือจะแห้วทั้งคู่ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ - อนุทิน ชาญวีรกูล
เมืองไทย 360 องศา

ถือว่านาทีนี้เป็นการส่งสัญญาณกลับไปจาก “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่มีไปถึง “น้องตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ว่าถึงเวลาที่ต้อง “แข่งขันกันเต็มที่” แบบไม่ต้องออมมือกันแล้ว เพราะถึงขนาดกล่าวว่า “ใครดีใครได้” มันก็ไม่ต้องอ้อมค้อมกันอีกต่อไป แม้ว่าในคำพูดจะบอกว่ายังรักกันเหมือนเดิม ตัดกันไม่ขาดอะไรประมาณนั้นก็ตาม

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แยกไปอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่า ตรงนี้ไม่ทำให้การวางตัวและการทำงานลำบาก ยังไงก็เป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม เพราะอยู่กันมา 40-50 ปี เราก็ดูแลกันมา ส่วนเรื่องของการเมืองก็เป็นการเมือง เรื่องของส่วนตัวก็เป็นเรื่องของส่วนตัว เรื่องของพี่น้องก็เป็นเรื่องของพี่น้อง ไม่มีปัญหาอะไร ยังรักกันเหมือนเดิม ไม่มีความขัดแย้งอะไรกัน เพราะว่าพรรคพลังประชารัฐ เราต้องการก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหมด ไม่ให้มีความขัดแย้งเลย
“เรื่องความขัดแย้งจะเป็นหัวใจสำคัญในการเดินหน้าของพรรคพลังประชารัฐ เพราะพรรคต้องการก้าวผ่านความขัดแย้งทั้งหมด ผมจะไม่ขัดแย้งกับใคร และที่ผ่านมาก็ไม่เคยทะเลาะกับใคร” พล.อ.ประวิตร กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีที่ลูกพรรคออกมาหนุนให้หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น ถึงแม้จะมีสมาชิกพรรคเสนอชื่อให้เป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีก็ตาม เพราะต้องรอการประชุมพรรคก่อน

เมื่อถามย้ำว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเช่นกัน ตรงนี้จะถือว่าเป็นคู่แข่งหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวย้ำว่า “พล.อ.ประยุทธ์ ถือเป็นน้อง ไม่ถือว่าคู่แข่งกัน แต่ถ้าทางการเมือง ใครทางการเมืองดีกว่าคนนั้นก็เป็นไป ไม่มีปัญหา อีกทั้งส่วนตัวผมไม่ขอแสดงความเห็นหากจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะการเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านขั้นตอนการเลือกในสภา”

หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวยืนยันด้วยว่า สำหรับการย้ายพรรคของส.ส.ของพรรคนั้น ก็ไม่กังวลใจ ถือเป็นเรื่องธรรมดาของนักการเมือง ที่มีย้ายเข้า-ออก พรรคไหนที่ย้ายไปแล้วสะดวกใจกว่า ได้ผลประโยชน์มากกว่า ก็อยู่ที่นั่น ดังนั้น จึงถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่บังคับกันไม่ได้

คำพูดข้างต้นของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร มันก็เหมือนกับการส่งสัญญาณกลับไป หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ประกาศว่าจะไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในความหมาย “สร้างดาวคนละดวง” ไม่เดินร่วมทางเหมือนแต่ก่อนแล้ว และย้ำให้เห็นว่า“ในทางการเมือง ใครดีกว่า คนนั้นก็เป็นไป” ส่วนเรื่องพี่น้องก็ว่ากันไปอีกเรื่อง

ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากคำพูดและท่าทีของทั้งสองฝ่ายที่ต่างชัดเจน ทำให้เห็นถึงการเริ่มโหมดการแข่งขันกันอย่างเต็มตัวแล้ว ซึ่งอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าเป้าหมายของทั้งคู่คือ เก้าอี้นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดยพรรคพลังประชารัฐเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ชื่อเดียว ขณะที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็เสนอ “บิ๊กตู่” เพียงคนเดียวเช่นกัน แต่ตามกติกาการจะได้รับการเสนอชื่อได้ในเบื้องต้นพรรคการเมืองนั้นต้องมี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เสี่ยงด้วยกันทั้งคู่ เพราะอาจมีเหตุเหนือความคาดหมายก็ได้ในทางการเมือง ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

อย่างที่รับรู้กันก็คือ เวลานี้และในอนาคตข้างหน้าหากโฟกัสกันทั้งสองพรรคยังคาดเดายาก ว่าจะได้ หรือ “จะเหลือ” ส.ส.จำนวนเท่าไหร่ เริ่มจากพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เวลานี้มีแต่ไหลออกมากที่สุด และไหลออกไปหลายทิศทาง แม้ว่าจะไปทาง “ขั้วเดียวกัน” ก็ตามที แต่ก็ต้องบอกว่าไหลออก ซึ่งในอนาคตยังเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจตามไทม์ไลน์ที่บังคับ หลังวันที่ 7 กุมภาพันธ์ หรืออย่างน้อยหลังปีใหม่ จะได้เห็นการ “ไหล” ตามมาอีกระลอก

ขณะเดียวกัน ยังมีเงื่อนไขที่ต้องจับตา ก็คือ การเข้ามาของ “ผู้กองแป้ง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทยจะกลับมา หลังจาก ส.ส.ในกลุ่มย้ายกลับมาเกือบหมดแล้ว ซึ่งทุกคนก็รับรู้แล้วว่า “มาแน่” มันก็น่าจะทำให้ “บางก๊วน” ในพรรคต้องถอยออกไป โดยเฉพาะให้จับตา “กลุ่มสามมิตร” ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่าจะแยกย้ายออกไปหรือไม่

เมื่อจำนวน ส.ส.ที่ไหลออก มันก็ย่อมส่งผลไปถึงแนวโน้มผลการเลือกตั้งของพรรคในวันหน้า แม้ว่าจะบอกว่า สามารถตรึงระดับ “ตัวหลัก” เอาไว้ได้ในหลายจังหวัดเป็นการการันตีจำนวน ส.ส.เขต เอาไว้ได้ อย่างน้อยคาดหวังกันว่าจะรักษาความเป็น “พรรคขนาดกลาง” เอาไว้ให้ได้ แต่ในสนามจริงมันก็ยังไม่ชัวร์อยู่ดี เพราะต้องยอมรับว่า พรรคพลังประชารัฐ กระแสของ “ลุงป้อม” นั้นไม่แน่ใจว่าจะขายได้แค่ไหน

ขณะที่เมื่อหันมามองพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่แม้จะมองว่า บรรยากาศเริ่มคึกคักหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศมาเข้าร่วม และเชื่อมั่นใน “กระแสลุงตู่” มั่นใจในเสียงของภาคใต้ กรุงเทพมหานคร และภาคกลาง เพิ่มจำนวน ส.ส.เขต และแบบบัญชีรายชื่อ แต่ด้วยความเป็นพรรคใหม่ อีกทั้งสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โอกาสที่จะหลุดไปแบบเหนือความคาดหมายมันก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นไม่น้อยเหมือนกัน

เพราะในสนามต้องเจอกับการแข่งขันใน “กลุ่มเดียวกัน” อย่างน้อยที่เห็นในเวลานี้ ก็คือ พรรคภูมิใจไทยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่กำลังเนื้อหอม ซึ่งนาทีนี้เขาก็ย่อมมีเป้าหมายเก้าอี้นายกฯเช่นเดียวกัน ดังนั้น ก็ต้องมาแข่งกันที่จำนวน ส.ส.ว่าใครจะได้มากกว่ากัน และแน่นอนว่าหากภูมิใจไทยได้มากที่สุด เขาก็ต้องเสนอชื่อหัวหน้าพรรคตัวเอง แม้ว่าจะมีเสียง ส.ว.เป็นตัวแปร แต่ก็รู้กันอยู่แล้วว่าเสียงแตก และแบ่งข้าง และเชื่อว่าในสถานการณ์ใหม่ พวกเขาก็น่าจะโหวตไปตามกระแสในเวลานั้น เรื่อง “ใบสั่ง” คงทำได้ไม่เต็มร้อยแล้ว เพราะเป็นช่วงท้ายๆ ก่อนหมดบทเฉพาะกาล

ดังนั้น หากพิจารณาจากคำพูดที่ว่า “ใครดีใครได้ (นายกฯ)” มันก็เข้าสู่โหมดการแข่งขัน ในแบบที่ไม่มีใครยอมใคร เพราะเป้าหมายข้างหน้ามันเดิมพันครั้งสุดท้าย แต่ผลที่จะออกมาเป็นแบบไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้วด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อาจจะแห้วทั้งคู่ก็เป็นไปได้ไม่น้อยเหมือนกัน !!



กำลังโหลดความคิดเห็น