ผู้ประกอบกการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ วอน “บิ๊กตู่” ยกเลิก Tor สำนักงานกองทุนหมู่บ้าน ส่อเอื้อบริษัทต่างชาติ ผุดโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ผลิตน้ำประปา 17 โครงการ มูลค่ากว่า 700 ล้าน ซัดกองทุนหมู่บ้าน แหก พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง-ระเบียบกรมบัญชีกลาง เมินใช้วัสดุในประเทศ ซ้ำเติมผู้ประกอบการไทย ทำชาติเสียดุลการค้าต่างชาติ
จากกรณี สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ประกาศประกวดราคาซื้อโครงการซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่ให้บริการน้ำประปาหรือระบบน้ำอุปโภค บริโภคสำหรับประชาชนและโครงการซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ รวม 17 โครงการ มูลค่า 712.5 ล้านบาท ปรากฏว่า มีการเขียนข้อกำหนด (TOR) ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และหนังสือด่วนที่สุด กค (กวจ) 0405.2/ว78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 นั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรี อีกทั้งยังเป็นการทำลายเอสเอ็มอีที่อยู่ในภาวะยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และทำให้ประเทศต้องเสียดุลการค้าให้กับต่างชาติ
เมื่อวันที 19 ธ.ค. 65 นายสมบุญ แซ่ฉั่น เลขาธิการชมรมผู้ประกอบการผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการไทยได้รับผลกระทบจากการร่าง tor ของสำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ได้ไปร้องเรียนขอความเป็นธรรมเพื่อให้แก้ไขข้อกำหนดโครงการฯ ต่อคณะกรรมการ, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำหนังสือผ่านไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแล กทบ. เพื่อให้มีบัญชาไปยังกทบ. ทบทวนข้อกำหนดโครงการฯ ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และกค (กวจ) 0405.2/ว78
ทั้งนี้ นายสมบุญ ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของโครงการ ซื้ออุปกรณ์พร้อมติดตั้งระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกองทุนหมู่บ้านที่ให้บริการน้ำประปาหรือระบบน้ำอุปโภค บริโภคสำหรับประชาชนฯ ว่า กทบ.เขียนข้อกำหนดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์เปิดโอกาสให้มีการนำเข้าแผงเซลล์แสงอาทิตย์จากต่างประเทศโดยกำหนด หรือ Tier1 ทำให้ผู้ผลิตในประเทศขาดรายได้และขาดดุลการค้าประมาณ 160 ล้านบาท ไม่สนับสนุนการใช้พัสดุที่ผลิตในประเทศตามหนังสือด่วนที่สุดที่ กค(กวจ0405.2/ว78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 ข้อ 1.1.1.1 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำร่างขอบเขตของงานหรือกำหนดรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุ ตามวัตถุประสงค์การใช้งานและเป็นพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ โดยแผงเซลล์แสงอาทิตย์มีผลิตในประเทศ 5 ราย ที่ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีกำลังผลิตต่อปี 2250 MW โครงการดังกล่าวข้างต้นใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์เพียง 8 MW
นอกจากนี้ ยังมีการเขียนข้อกำหนดของโครงสร้างรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มบริษัทต่างชาติหรือไม่ โดยระบุว่า ต้องออกหนังสือรับรองจากผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กมีการทดสอบไอเกลือ 4,000 ชั่วโมง ซึ่งไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 8 (2) ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบต่อผู้เสนอราคาไม่เท่าเทียมกันและยังเป็นการผิดตามหนังสือด่วนที่สุด กค(กวจ)0405.2/ว78 ลงวันที่ 31 มกราคม 2565 ข้อ1.7.1.1 (2) ได้กำหนดให้ หน่วยงานของรัฐจะต้องให้คู่สัญญาจัดทำแผนการใช้เหล็กที่ผลิตภายในประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณเหล็กที่ต้องใช้ทั้งหมดตามสัญญา โดยส่งให้หน่วยงานของรัฐภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ได้ลงนามในสัญญา แต่สำนักงานกลับเขียนข้อกำหนดให้เป็นเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศมาผลิต
ส่วนกรณี สำนักงาน กทบ. อ้างอิงการกำหนดมาตรฐานจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 2 หน่วยงานนั้น นายสมบุญ เห็นว่า เป็นเหตุผลที่รับไม่ได้ เนื่องจากกำหนดมาตรฐาน 2 หน่วยงานข้างต้น ไม่มีอำนาจในการกำหนดข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างฯ ทั้งนี้ กทบ.เป็นหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 6 เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุโดยใช้เงินงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ และป้องกันปัญหาการทุจริต จึงขอให้ผู้มีอำนาจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดมีคำสั่งให้สำนักงานกองทุนหมู่บ้านฯ ยกเลิกประกาศประกวดราคาและแก้ไขข้อกำหนดในประกาศประกวดราคาให้ถูกต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติฯ ระเบียบ กฎกระทรวงและประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติฯ