xs
xsm
sm
md
lg

“พนิต” ขอ ส.ว.อย่าทำแท้งร่าง กม.ปลดล็อกท้องถิ่น-กระจายอำนาจ 7 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (6 ธ.ค.) นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Panich Vikitsreth - พนิต วิกิตเศรษฐ์  ว่า การประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ

สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต่างใช้เวลาในการอภิปรายอย่างเต็มที่ มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย และจะมีการลงมติรับหลักการในวันที่ 7 ธันวาคม 2565

ผมในฐานะที่เคยบริหารงานท้องถิ่นมาก่อน คือ การดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ปลดล็อกท้องถิ่น ให้สามารถทำงานเพื่อประชาชนได้มากขึ้น ที่ผ่านมา ท้องถิ่นถูกกำกับโดยรัฐส่วนกลาง จึงทำให้การแก้ไขปัญหาของประชาชน หลายอย่างมีปัญหา ไม่มีประสิทธิภาพและล่าช้า

เช่น ไม่มีอิสระในการบริหารทั้งเงินงบประมาณ หรือบางครั้งในการจัดซื้อสิ่งของจำเป็นต่อการพัฒนาประชาชน แต่กลับถูกรัฐส่วนกลางมาตีกรอบ และกำหนดว่าต้องจัดจ้างวิธีนี้ บริษัทนี้ ราคานี้ ทั้งที่แพงกว่าท้องตลาดทั่วไป

ย้อนกลับไปช่วงปี 2547 กทม.ได้มีการจัดซื้อรถดับเพลิง เป็นเงินจำนวนกว่า 6 พันล้านบาท แต่กลับถูกตรวจพบว่าซื้อในราคาที่แพงกว่าท้องตลาดทั่วไป การจัดซื้อครั้งนี้มีคนเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน และส่วนหนึ่งมาจากรัฐส่วนกลางที่มีบทบาทสำคัญในการอนุมัติการสั่งซื้อ กระทั่งจบด้วยศาลตัดสินว่าทุจริต นี้แหละครับ เป็นเหตุที่ทำไมวันนี้ต้องมีการปลดล็อกท้องถิ่น และกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นในการบริหารจัดการตนเอง

ประโยชน์กระจายอำนาจ คือ คนในพื้นที่มีความเข้าใจพื้นที่ เพราะแต่ละพื้นที่มีความต้องการและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน มากกว่ารัฐส่วนกลางมากำหนดให้ ทั้งยังมีวาระที่ชัดเจนและระยะเวลาเพียงพอในการทำงาน ต้องผ่านสนามแข่งขันที่ทำให้ประชาชนมั่นใจ และยอมรับว่า คุณเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าคนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาและใช้งบประมาณได้ตรงเป้าหมายและลดความขัดแย้งจากส่วนกลาง ได้ ในการแย่งชิงตำแหน่ง

รัฐสภาควรจะรับหลักการ ไปพิจารณาเสียก่อน เพื่อให้เกิดการแปรญัตติให้แก้ไขต่อไป อาทิ เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เพราะจะตอบโจทย์พื้นที่ และเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ตัดสินทุก 4 ปี มิใช่ให้คนจากส่วนกลางเข้าไปทำงานไม่รู้ปัญหา และพอถึงเวลาทำงานก็ย้ายหนี หรือบางจังหวัดก็ถูกย้ายออกไปทั้งที่งานในพื้นที่กำลังไปได้ดี กลับถูกย้ายด้วยความไม่สมัครใจ

ผมอยากจะเรียกร้องไปยังสมาชิกวุฒิสภา ให้เปิดใจรับฟังเสียงของประชาชนที่ตั้งใจเรียกร้องตามสิทธิของรัฐธรรมนูญเข้าชื่อแก้ไขกฎหมายตามกระบวนการประชาธิปไตย เพราะในชั้นรับหลักการต้องใช้เสียงของ วุฒิสภา ถึง 84 คน มิเช่นนั้น ร่างฯ กม.ดังกล่าวจะตกไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนตัวจะลงมติรับหลักการเพื่อฟังเสียงของชาวบ้าน มิใช่จ้องทำแท้งโดยไม่ฟังความเห็นจากพี่น้องประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น