“ส.ว.จเด็จ” ลั่นตีตกร่างแก้ รธน.ปลดล็อกท้องถิ่น ชี้ ไม่ใช่ของใหม่ลอกเนื้อหา รธน.มาทั้งดุ้น จับโกหก “ปิยบุตร” อ้างไม่เลิกกำนัน-ผญบ.กลัวเสียฐานเสียง แต่ใน ม.4 ยุบทิ้งทั้งยวง แถมไม่ผ่าน ม.77 เตือนอย่าหนุนคนทำผิด รธน. “พิธา” โต้ไม่สุดโต่ง แค่ไทยตามไม่ทันความท้าทายของโลก เชื่อมีแต่ชนะกับชนะ ไม่มีใครเสีย
วันนี้ (30 พ.ย.) นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คน เสนอในวาระแรก ว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้ง 6 มาตรา มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 60 แล้วทั้งนั้น เพียงแต่ท่านไปลอกเนื้อหามาใส่ ไม่ใช่เป็นการปลดล็อกแต่อย่างไร แต่สิ่งที่เป็นปัญหา คือ มีการเสนอเพิ่มเติมในมาตรา 4, 5 ,6, 7 คือ ม.4 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จัดทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ภายใน 2 ปี นับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญและให้จัดทำออกเสียงประชามติภายใน 5 ปี ซึ่งก็คือยกเลิกผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
“ที่ท่านปิยบุตร (แสงกนกกุล ) ผู้นำเสนอ บอกว่า ไม่เกี่ยวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมาพูดให้สวนกระแสกับสิ่งที่ท่านร่างทำไม หรือเพิ่งคิดได้ตอนเช้านี้ว่าหากยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านแล้ว ท่านจะเสียเสียงสนับสนุน ก็เลยบอกว่าไม่ยกเลิก แต่ท่านกลับร่างไว้ในมาตรา 4 อย่างชัดเจน และที่สำคัญ ไม่มีการทำประชามติไม่ผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 อีกด้วย นัยยะของการเสนอเพื่อโหนกระแสสร้างกระแส หาเสียง เหมือนอย่างที่ ส.ว. บางคนบอกว่าเป็นความคิดแบบสุดโต่ง ทะลุดิน ทะลุแก๊ส ทะลุวัง ไม่เป็นประโยชน์ประชาชน ซึ่งสิ่งที่ลอกมา 6 มาตรา หากขยายทำให้รัฐบาลทำเต็มที่จริงจังสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติได้จริง รู้กาละเทศะ วุฒิภาวะและสอดคล้องกับกาลเวลา”
นายจเด็จ ยังอภิปรายตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการปกครองท้องถิ่นจะสนับสนุนให้คนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่า หากเป็นรัฐบาลจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จัดเลือกตั้งนายกจังหวัด และสมาชิกพรรคก้าวไกลเสนอทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และวันนี้ (30 พ.ย.) นายธนาธร และ นายปิยบุตร เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตนแปลกใจว่ามีความสอดคล้องแบบมีลับลมคมนัย
“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ เพราะมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา คือ มาตรา1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ ลามถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา 5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือ การรับฟังความเห็นประชาชนที่ผมบอกแล้วว่าประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้รับฟังความเห็นและมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้น สิ่งที่ทำนี้คือการสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายจเด็จ กล่าว
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มีการโต้แย้งมายาคติบางฝ่ายที่ชี้ว่าการกระจายอำนาจคือความคิดสุดโต่ง โดยตั้งคำถามว่าสุดโต่งเมื่อเทียบกับอะไร ถ้าเทียบกับระบบราชการในอดีตเมื่อ 130 ปีก่อน ก็อาจจะสุดโต่งจริง แต่ถ้าเทียบกับความท้าทายของโลกที่กำลังสุดโต่งอยู่ทุกวันนี้ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาภาวะโลกร้อน สังคมสูงวัย สภาพบริบทในประเทศเต็มไปด้วยความสุดโต่ง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างที่สุดโต่งเช่นกัน
“ถ้าจะใช้คำสัมพัทธ์แบบนี้เปรียบเทียบกัน การกระจายอำนาจยิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เรื่องสุดโต่ง แต่ช้าไปแล้วด้วยซ้ำที่จะประเทศไทยจะตอบสนองอย่างที่ประเทศอื่นเขาทำได้”
ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดการคอร์รัปชันนั้น นายพิธา อภิปรายว่า จากผลสำรวจเห็นว่าคอร์รัปชันในท้องถิ่นน้อยกว่าในส่วนกลาง 10 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีสภาพลเมืองช่วยตรวจสอบ คอร์รัปชันจะยิ่งน้อยกว่า แต่หากงบกระจุกตัวแบบนี้ จะยิ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน
“ผมเป็นข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ ในปี 2546-2548 รู้จักข้าราชการหลายท่าน มีความตั้งใจและมีความสามารถทำงาน การกระจายอำนาจจะทำให้สุขภาพจิตของท่านดีขึ้นแน่นอน ผมรับประกัน ท่านไม่จำเป็นต้องตื่นมาเสาร์อาทิตย์ รับนาย ตัดริบบิ้น ไม่ต้องเผชิญหน้ากับประชาชนที่ยังแก้ไขปัญหาให้ไม่ได้ปีแล้วปีเล่า ท่านจะอยู่กับพื้นที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล ร่างฯ นี้จึงมีแต่ชนะกับชนะ ไม่มีใครเสีย” นายพิธา กล่าว