“ชินวรณ์” เผย ฝ่ายค้านขอเลื่อนร่างแแก้ไข รธน. ฉบับธนาธร ขึ้นมาก่อน ส่วน “วิป รบ.” ขอฝ่ายค้าน ถก กม.สำคัญให้จบในวันที่ 29 พ.ย.ก่อน ส่วน 30 พ.ย. ถกแก้ รธน.เต็มที่ จี้ “บิ๊กตู่” ถึงเวลา นำชื่อ “นริศ” ทูลเกล้าฯ เป็น รมช.มท. ได้แล้ว
วันนี้ (28 พ.ย.) นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงผลการประชุมวิปรัฐบาล ว่า ได้พิจารณาถึงระเบียบวาระที่ประุมร่วมรัฐสภา วันที่ 29-30 พ.ย.โดยมีร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พ.ศ. … ที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 76,591 คน เป็นผู้เสนอ ทางวิปรัฐบาลเห็นว่าร่างฉบับนี้เป็นร่างฉบับประชาชน จึงขอรับฟังความคิดเห็นของแต่ละพรรคก่อนว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร แต่วิปรัฐบาลได้มีการเตรียมการให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 49 คน หากที่ประชุมร่วมรัฐสภาให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ วิปรัฐบาลคาดว่าการประชุมร่วมรัฐสภา จะพิจารณาถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพ สื่อมวลชน พ.ศ. … ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ซึ่งวิปรัฐบาลมีมติรับหลักการและตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 35 คน เพื่อพิจารณาตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร ที่แสดงความเห็นของบุคคลในการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เนื่องจากทุกฝ่ายรอคอยฉบับนี้
ส่วนการประชุมวิป 3 ฝ่าย ในวันนี้ ที่ประชุมยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่ โดยฝ่ายค้านเห็นว่าจะขอเลื่อนร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับนายธนาธร ขึ้นมาพิจารณาก่อน แต่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าควรพิจารณาไปตามระเบียบวาระเพราะกฎหมายที่อยู่ในระเบียบวาระก็มีความสำคัญเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้ตั้งข้อสังเกตไปว่า หากฝ่ายค้านจะหารือเพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง ในการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพของการประชุมร่วม หากการพิจารณาในวันที่ 29 พ.ย.สามารถพิจารณาอื่นๆ ทั้งหมด จนถึงวาระร่างพ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมฯ แล้วให้เหลือเฉพาะร่าง พ.ร.บ. แก้ไขรัฐธรรมนูญฯ เพียงฉบับเดียว การพิจารณาในวันที่ 30 พ.ย.สมาชิกก็สามารถพูดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้การประชุมร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ทุกวาระ ซึ่งฝ่ายค้านรับปากว่าจะไปประสานงาน รวมทั้งเรื่องเวลาในการที่จะอภิปรายเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการย้ำเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุม ว่า ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายเสียงข้างมาก ต้องรับผิดชอบองค์ประชุมจำนวน 237 คน แต่ฝ่ายค้านก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันในเรื่ององค์ประชุม เพราะฉะนั้น การใช้กลไกเรื่ององค์ประชุมถือว่าเป็นความรับผิดชอบร่วมกัน เราทำได้แต่เพียงว่า ขอความร่วมมือ เนื่องจากเป็นสมัยประชุมสุดท้ายแล้ว ส.ส.ควรได้แสดงผลงานทางด้านฝ่ายนิติบัญญัติให้ชัดเจน ดังนั้น ยังมีความมั่นใจว่า ส.ส. ทุกคนก็สำนึกที่ได้ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชนชาวไทยที่ไม่อยู่ใต้อาณัติ และการครอบงำใดๆ จึงเข้าใจว่า จะได้รับความร่วมมือผ่านกฎหมายที่มีความสำคัญต่อไป
เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่หลังเกิดองค์ประชุมล่มจนมีกระแสว่า ควรยุบสภา นายชินวรณ์ กล่าวว่า คิดว่าประชาชนเข้าใจรัฐสภาชุดนี้ ว่า มีเสียงที่ก้ำกึ่งกัน และมีลักษณะของการต่อรองในทางการเมืองที่แตกต่างไปจากเดิม ซึ่งเดิมเราจะเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง และภาพรวมแต่ละพรรคเจรจากันได้ชัดเจน แต่ในช่วงหลัง ฝ่ายค้านกับฝ่ายค้านก็ไม่เป็นเอกภาพ ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เป็นเอกภาพ ดังนั้น ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านจึงเป็นปัญหาปกติอยู่แล้ว แต่ตนก็ยังมั่นใจว่า จะต้องใช้วิธีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนเรื่ององค์ประชุม ให้เป็นไปด้วยดีต่อไป
นายชินวรณ์ ยังกล่าวถึงการปรับ ครม.ว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนทันทีที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี ลาออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยเลือก นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่ง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เรียนชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี และส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเอเปกเข้าใจได้ว่านายกฯ มีภารกิจ แต่เมื่อผ่านช่วงเอเปกมาแล้ว จึงขอให้มองเรื่องดังกล่าวโดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ว เพราะการที่ปล่อยให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่างลง ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนส่วนใหญ่จะแต่งตั้งอย่างรวดเร็ว เพื่อเข้ามารับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาของประชาชน
“ขอเรียนให้นายกฯ รับทราบว่า นายนริศ เป็น ส.ส.อาวุโส เป็นรองประธานวิปรัฐบาล และช่วงงานวิปเป็นอย่างดีตลอดมา ผมคิดว่า ถ้าท่านนายกฯ ได้กรุณาแต่งตั้งนายนริศ นอกจากจะเกิดผลประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานที่ดีแล้ว ก็จะเกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนด้วย โดยเฉพาะพี่น้องภาคใต้ ที่ช่วงนี้เป็นช่วงมรสุม ถ้ามีรัฐมนตรีที่กำกับดูแล โดยตรงก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้น ควรเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ส่วนประเด็นทางการเมืองว่าจะไปเกี่ยวข้องกับว่านายกฯจะไปอยู่พรรคไหน จะอยู่สั้นอยู่ยาว ก็เป็นการตัดสินใจของท่านเอง” นายชินวรณ์ กล่าว