“ส.ว.เลิศรัตน์” มองร่างแก้ รธน. “ธนาธร” กระจายอำนาจเนื้อหาสุดโต่งและสุดกู่ ปฏิบัติทำได้ยาก ประเมิน ส.ว. หนุนไม่ถึง 1 ใน 3 แนะเป็นรัฐบาลค่อยมาทำ
วันนี้ (29 พ.ย.) พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อแก้ไขหมวดว่าด้วยการปกครองส่วนท้องถิ่น และการกระจายอำนาจ ซึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน 76,591 คนร่วมเสนอ ว่า ในเนื้อหาและสาระของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวมีหลักการที่รับได้ ทั้งการกระจายอำนาจ งบประมาณ แต่ตนกังวลว่าบทบัญญัติที่เสนอแก้ไขนั้นจะยากต่อการปฏิบัติ เพราะกำหนดรายละเอียดและเขียนเนื้อหาที่มีลักษณะสุดโต่ง และสุดกู่
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ตนมองว่า จะมีประเด็นที่รัฐสภาต้องอภิปรายเป็นข้อถกเถียงใหญ่ 2 ประเด็น คือ งบประมาณ ตามร่างแก้ไขกำหนดให้จัดสรรงบให้ท้องถิ่น 50% จากรายได้สุทธิของรัฐ หากพิจารณางบประมาณประจำปีที่มี 2.5 ล้านล้านบาท เท่ากับต้องจัดสรรให้ท้องถิ่น 1.25 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันท้องถิ่นได้รับงบประมาณ 29% หรือ 7แสนล้านบาท ดังนั้น การเพิ่มงบประมาณอีกเท่าตัว จำเป็นต้องตัดเงินส่วนราชการ เช่น เงินเดือน และร่างแก้ไขกำหนดให้ทำภายใน 3 ปี ดังนั้นหากจะทำให้เป็นจริงได้ ต้องยุบราชการส่วนต่างๆ เพื่อนำงบประมาณให้กับท้องถิ่น
“ปัจจุบัน ท้องถิ่นได้งบประมาณและเงินอุดหนุน 29% หากจะต้องหาเงินมาอุดหนุนอีก 5 แสนล้าน ต้องปฏิวัติการปกครองรุนแรง ยุบกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานในต่างจังหวัด และอาจยุบผู้ว่าราชการจังหวัดด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ หากจะแก้ไขเรื่องงบประมาณ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะมีกฎหมายว่าด้วยกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกำหนดเป้าหมายการจัดสรรรายได้ให้ อปท. ที่กำหนดว่าไม่ไม่น้อยกว่า 25% และตั้งเป้าให้มีรายได้เพิ่ม 35%” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ประเด็นต่อมา คือ กรณีที่กำหนดให้ภายใน 2 ปี ต้องทำแผนยุบราชการภูมิภาคทั้งหมด และนำไปทำประชามติภายใน5ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขบังคับใช้ หากประชาชนเห็นด้วย จะทำให้เกิดการยุบราชการส่วนภูมิภาค ทั้ง สาธารณสุข คมนาคม พลังงาน ยกเว้น ความมั่นคง ความปลอดภัย งานต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดการยุบราชการภูมิภาคทั้งหมด ในยุโรป ญี่ปุ่น อเมริกา ทำได้เพราะเป็นรัฐอิสระ มีอำนาจ มีความอิสระในงบประมาณ ทำให้ทุกท้องถิ่นมีอำนาจเหมือนรัฐบาลกลาง นอกจากนั้นคือการกำหนดให้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 5-6 ฉบับที่ให้รัฐสภาแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากที่ปฏิบัติได้
“การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้ง 7,850 แห่งได้ ต้องลดกำลังคน หน้าที่ของราชการที่ส่วนกลางและภูมิภาคลง ปัจจุบันข้าราชการมีทั้งหมด 3ล้านคน ขณะที่ท้องถิ่นมีเพียง 3แสนคน ดังนั้น หากจะให้ทำอย่างที่เสนอแก้ไขต้องลดกำลังข้าราชการส่วนกลาง ยุบราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีปัญหา เช่น การถ่ายโอน รพ.สต.ให้ท้องถิ่น แต่ไม่มีอัตรากำลังหมอ พยาบาลให้ เป็นต้น ดังนั้นเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ท้องถิ่นเดินหน้าไปอย่างที่ควรจะเป็นและเขียนเนื้อหาสุดกู่เกินกว่าจะทำได้” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่าประเมินว่า ส.ว.จะลงมติรับหลักการวาระแรกครบ 1 ใน 3 หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า การลงมติวาระแรก ต้องใช้เสียง ส.ว. เห็นชอบด้วย จำนวน 83 เสียง ส่วนตัวมองว่ายาก เพราะมีประเด็นที่ยากต่อการปฏิบัติ และรายละเอียดที่เสนอแก้ไข ไม่จำเป็นต้องเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญในลักษณะที่เป็นรายละเอียด ทั้งนี้ ตนมองว่า ข้อเสนอแก้ไขเป็นความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเห็นการกระจายอำนาจไปสู่จุดนั้น แต่ในทางปฏิบัติทำได้ยาก หากเขาได้เป็นรัฐบาลค่อยมาทำ