ข่าวปนคน คนปนข่าว
** ราศีจับ “เสี่ยหนู” ตัวแทน “บิ๊กตู่” ผู้นำเหนือความขัดแย้ง ในภาวะสังคมยังแบ่งฝักฝ่าย ซ้ำรอยเลือกตั้ง 2562 ที่“ทีมลุงตู่” เคยงัดแคมเปญเลือกสงบ จบที่ลุง จนได้ผลมาแล้ว
อีกไม่ถึง 5 เดือนสภาผู้แทนฯชุดนี้ก็จะหมดวาระ ไฟต์บังคับให้ต้องเปิดคูหาเลือกตั้งใหญ่ แถมว่ากันว่า อาจมีรายการ “เตะปลั๊ก” ยุบสภาก่อนหมดเทอมเสียด้วย
ช่วงเคาท์ดาวน์ นับถอยหลังเข้าโหมดเลือกตั้งใหญ่ ก็เป็นธรรมดาที่จะมี “โพลการเมือง” สำรวจความนิยม จะออกมากันแบบรัวๆ ที่นอกจากการสำรวจความนิยมภาพรวมแล้ว ก็จะมีการแยกสำรวจเป็นรายภูมิภาค หรือรายประเด็น ออกมาด้วย
โดยปกติเมื่อถามถึงความนิยมของบุคคลที่จะสนับสนุนให้เป็น “ผู้นำประเทศ” ใน “ภาพรวม” ก็มักจะมีเพียงตัวแทนจาก 2 ฝ่ายที่โดดเด่นคะแนนนำลิ่วขึ้นมาเท่านั้น
ตลอด 3-4 ปีหลัง ตัวแทนฝ่ายหนึ่ง ก็จะเป็น“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ “เจ้าของแชมป์” ส่วนอีกฝั่งก็จะเป็นตัวแทนของ“ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ซึ่งวันนี้ก็เป็นชื่อ“อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ที่อยู่ในฐานะ“ผู้ท้าชิง”
แต่ก็น่าสังเกตว่า ผลโพลระยะหลัง 2 ตัวแทนขั้วการเมือง ทั้ง“อาตู่-หลานอิ๊ง” ดูจะมีคะแนนแผ่วๆ ลงไป จากการสำรวจของทุกสำนัก จนน่าครุ่นคิดถึงสาเหตุที่คนมักจะไม่เลือกคนที่เป็น “ตัวแทนหมู่บ้าน” ซะแล้ว
อย่างการสำรวจเมื่อวันก่อน ที่ “นิด้าโพล” สำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งใน “เมืองหลวง” กทม. ถึงบุคคลที่สนับสนุนให้เป็นนายกฯ ปรากฏว่า “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาเป็นที่ 1 ด้วยคะแนน 20.40% ตามด้วย “นายกฯตู่” ที่ได้ 15.20%, อันดับ 3 “มาดามอุ๊งอิ๊ง” ที่ 14.10%, อันดับ 4 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ที่ 12.20% และ อันดับ 5 “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ที่ 7.70% เป็นต้น
หรือผล “ซูเปอร์โพล” ที่สำรวจในหัวข้อ “ผู้นำการเมืองเหนือความขัดแย้งของสังคม” ถามกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยกลุ่มตัวอย่างเทคะแนนให้ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย มาเป็นอันดับ 1 หรือ 35.8%
เหนือกว่า “ตัวแทนหมู่บ้าน” ทั้ง “นายกฯตู่” ที่เข้าป้ายอันดับ 2 ที่ 29.7% และทิ้งห่าง“มาดามอุ๊งอิ๊ง” อันดับ 3 ที่ได้ เพียง13.1%
จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการแยกสำรวจเป็น “ภูมิภาค” หรือ “ประเด็น” ก็ดูจะทำให้การเลือกตั้งที่กำลังมาถึง มีมิติที่น่าสนใจมากขึ้น แคนดิเดตนายกฯ ไม่จำกัดอยู่แค่ “บิ๊กตู่” หรือ “อุ๊งอิ๊ง” หรือตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยอีกต่อไป
และไม่อาจมองข้าม “พิธา” จากค่ายก้าวไกล หรือ “อนุทิน” จากค่ายภูมิใจไทย ไปได้
อย่างไรก็ดี หากพูดตามเนื้อผ้า ก็ต้องยอมรับว่า “ค่ายสีส้ม” พรรคก้าวไกล แม้ยังมีกระแสอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตเมือง-เทศบาล แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักในเขตรอบนอก เหมือนเช่นที่ไม่ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งท้องถิ่น ในนาม “กลุ่มก้าวหน้า”
อีกทั้ง “ค่ายก้าวไกล” ยังมีความเสี่ยงสูง ที่ไปเลือกแตะ“ประเด็นร้อน” อย่างการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ซึ่งการ“เล่นของสูง” ของ “ค่ายสีส้ม” อาจจะยังไม่ออกผลวันนี้ เชื่อว่าพอเข้าบรรยากาศเลือกตั้ง คงโดนถล่มอย่างหนักอย่างแน่นอน และคงไม่ได้เสียงจาก “ฝ่ายอนุรักษ์นิยม” หรือแม้แต่เพื่อนบ้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ก็ยังไม่เอาด้วย
ทำให้โอกาสที่ “เสี่ยทิม” จะผงาดมาเบียดได้ลุ้นเป็นนายกฯรอบหน้า ตามผลโพลในพื้นที่ กทม. ถือเป็นไปได้ยาก!!
ฟากฝั่งนั้นก็ยังต้องถือว่า “ค่ายดูไบ” พรรคเพื่อไทย ที่มี “แพทองธาร” หรือ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน บิ๊กบอสแสนสิริ จ่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ยังคงเป็นตัวยืนอยู่
เมื่อหันมาอีกฝั่ง ต้องยอมรับว่า ที่ “อนุทิน” โดดเด่นขึ้นมา ปัจจัยหนึ่งก็มาจากความไม่ชัดเจนของ“ลุงๆ” ทั้ง “ลุงน้องตู่” และ “ลุงพี่ป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ถึงวันนี้ยังไม่รู้จะวางหมากอย่างไร ในการเลือกตั้งครั้งหน้า
จนมีกระแสข่าวต่างๆ นานา ทั้ง “นายกฯคนละครึ่ง” หรือการไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย เป็นอาทิ
เมื่อ“บิ๊กตู่”ไม่ชัดเจน ก็ทำให้ผู้คนเริ่มมองหา “ตัวตายตัวแทน” ซึ่งวันนี้ก็คงไม่พ้น “อนุทิน” ที่ถือเป็นขุนพลร่วมรบอยู่ในรัฐบาล และยังเป็นหัวหน้าพรรคที่ฐานการเมืองพรั่งพร้อมมากที่สุด ในสนามวันนี้ก็ว่าได้
น่าสนใจไม่น้อยที่ “เสี่ยหนู” เบียด “บิ๊กตู่” ตกไปเป็นที่ 2 ในโพลหัวข้อนายกฯ เหนือความขัดแย้ง ที่เป็นจุดขายของ “บิ๊กตู่” เองแท้ๆ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “อนุทิน” ก็เคยเป็นอันดับ 1 มาแล้ว ในการสำรวจความเชื่อมั่นด้านสาธารณสุข ซึ่งก็มาจากผลงานแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อีกทั้งตามหน้าเสื่อปัจจุบัน ต้องถือว่า “ค่ายเซราะกราว” กำลังพุ่งปรี๊ด จน ส.ส.ต่างค่าย แห่แหนกันไปเปิดหน้า ประกาศตัวเป็นสมาชิกใหม่ทีมเซราะกราว กันเมื่อครั้งงานวันคล้ายวันเกิด “ครูใหญ่เซราะกราว” เนวิน ชิดชอบ เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากการแสดงบารมี “เสี่ยเน” แล้ว ยังส่งให้ราศีนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งสมัยหน้าพุ่งจับ “เสี่ยหนู” ไปด้วย กับคำประกาศเป้าหมาย 120 ส.ส.เลือกตั้งเที่ยวหน้า และดัน“ลูกศิษย์หนู” เป็นนายกฯ
ซึ่งในทางการเมืองมองว่า เป็นคำประกาศที่ไม่เกินเลย เหมือนอย่างที่พรรคเพื่อไทยประกาศ “แลนด์สไลด์” เพราะเป้าหมายของ “ค่ายเซราะกราว” ดูจับต้องได้ ทั้งจำนวน ส.ส.ที่มีอยู่ บวกกับส.ส.ต่างค่ายที่กำลังจะย้ายมาสังกัด
สำคัญตรง “ทรัพยากร” ที่เพียบพร้อม ตุนไว้เต็มหน้าตัก จนผู้สันทัดกรณีมองว่า การเลือกตั้งรอบหน้า “ภูมิใจไทย” น่าจะได้ ส.ส.มากกว่า “ค่ายหลวงพ่อป้อม”พลังประชารัฐ และจะขึ้นมาเป็นคู่เทียบชิงที่หนึ่งกับพรรคเพื่อไทยแทน
อีกทั้งยังมองกันว่า พื้นที่ต่อสู้ระหว่าง 2 ฝ่าย ในการเลือกตั้ง ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ ที่ “ภูมิใจไทย-เพื่อไทย” ชนกัน โดยเฉพาะในภาคอีสาน แทบทั้งสิ้น
เท่ากับว่า ถ้าพรรคภูมิใจไทยได้ ส.ส.มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทย ห่างไกลเป้าหมายแลนด์สไลด์มากขึ้นเท่านั้น
ยิ่งวันนี้ “หัวหน้าทีมเซราะกราว” อย่าง “เสี่ยหนู” โดดขึ้นมายืนหนึ่งในแง่ “ผู้นำเหนือความขัดแย้ง” ก็ยิ่งน่าสนใจ เพราะจะถือเป็นอีก “จุดขาย” ที่เป็น “จุดตาย” ของพรรคเพื่อไทย ที่คนมองว่าหากพรรคเพื่อไทยชนะ ได้กลับมาจัดตั้งรัฐบาล อนาคตประเทศคงไม่พ้นครั้ง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์”
ด้วยต้องยอมรับว่า บรรยากาศสังคมไทยวันนี้ ยังสลัดไม่หลุด “กับดักความขัดแย้ง” กระทั่ง “บิ๊กตู่” ที่เคยเป็นฮีโร่ ผู้ขจัดความขัดแย้งยังกลายมาเป็น “คู่ขัดแย้ง” เสียเอง กับทั้งม็อบการเมือง หรือพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม
ย้อนไปก่อนเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ เคยงัดแคมเปญ “เลือกสงบ จบที่ลุงตู่” มาใช้ในช่วงโค้งสุดท้าย จนประสบความสำเร็จ ได้ที่นั่ง ส.ส. ตีตื้นขึ้นมา บวกกับ “อภินิหารเล็กน้อย” จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จมาแล้ว
มาวันนี้ ในห้วงที่สังคมกำลังเพรียกหาผู้นำที่จะมาขจัดความขัดแย้งอย่างแท้จริง กลายเป็น “อนุทิน” กับที่ 1 บนโพลผู้นำเหนือความขัดแย้ง บวกกับฐานการเมืองที่แน่นปึ้กของ “ค่ายเซราะกราว”
ก็ยิ่งส่งให้ชื่อของ “เสี่ยหนู-อนุทิน” น่าจับตาในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ขึ้นไปอีก.
**ไม่เต็มคาราเบล ลุงๆ เปิดทางถอย พร้อมแก้เกณฑ์ขายที่ดินให้ต่างชาติ และคำเตือนจาก “ธีระชัย” อย่าเลหลังสมบัติเจ้าคุณทวด
ผ่านมา 1 สัปดาห์แล้ว กระแสต่อต้านยังดังกระหึ่ม และดังขึ้นเรื่อยๆ สำหรับร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในไทยได้ไม่เกินคนละ 1 ไร่ หลัง ครม.เห็นชอบไปเมื่อ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่าเสียงคัดค้าน ไม่ได้ดังมาจากฝ่ายที่จ้องจะเล่นงานรัฐบาลเท่านั้น แต่มีมาจากหลายกลุ่ม หลายสี แม้แต่คนอย่าง “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี ผู้ประกาศตัวเป็นแฟนคลับลุงตู่ตลอดชีวิต ก็ยังออกมาค้าน
รวมไปถึง “พี่ศรี” ศรีสุวรรณ จรรยา นักร้องคนดัง ที่เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เพิ่งถูกลุงเสื้อแดงบุกชกถึงในอาคารกองปราบปราม โทษฐานไปร้องเรียน “โน้ส อุดม” ที่วิจารณ์ลุงตู่ ก็ยังขึ้นแบนเนอร์ข้อความ “คัดค้านการขายแผ่นดินให้ต่างชาติ” ในเฟซบุ๊กส่วนตัวด้วย
ไม่เว้นแม้แต่ “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ทำเป็นลืมสมัยตัวเองเป็นนายกฯ เมื่อปี 2545 เคยไฟเขียวให้ออกกฎกระทรวงเรื่องเดียวกันนี้ ก็ออกมาตีกิน คัดค้านไว้ล่วงหน้าตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา หลังมีข่าวว่ามหาดไทยเตรียมเสนอร่างกฎกระทรวงนี้ เข้า ครม.
ขบวนการคัดค้านยังตามมาเป็นพรวน ทั้งจากกลุ่มเคลื่อนไหวขาประจำอย่าง กลุ่มจตุพร พรหมพันธุ์ “ทนายนกเขา” นิติธร ล้ำเหลือ และ “เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์
ท่าทีของรัฐบาลลุง ต่อร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ล่าสุดก็เลยหมือนจะ “ไม่เต็มคาราเบล” คือไม่เต็มที่ ไม่ดันแบบสุดลิ่ม ทิ่มประตู ว่าจะต้องผ่านออกมาใช้บังคับให้ได้
จากคำให้สัมภาษณ์ของ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ เมื่อวาน(31 ต.ค.)ก็บอกว่า แม้ ครม.จะมีมติอนุมัติในหลักการไปแล้ว แต่ยังสามารถมีการทบทวนร่างกฎกระทรวงดังกล่าวได้ จากนี้ ครม.จะต้องส่งไปให้กฤษฎีกาพิจารณา และเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว ต้องส่งกลับมาที่ครม.อีกครั้ง ส่วนที่มีการเสนอความคิดเห็นต่างๆ เข้ามา ก็สามารถเสนอเข้ามาได้
“รองฯ วิษณุ” ยังยอมรับอีกว่า เมื่อมีการพูดถึงเรื่องการให้คนต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินในประเทศไทยทีไร ก็จะเป็นปัญหามาตลอด ตั้งแต่สมัยรัฐบาล “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” ปี 2531 ต่อมาปี 2545 ก็ได้มีการร่างกฎกระทรวงออกมาในรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งกำหนดให้คนต่างชาติที่มีเงินลงทุน 40 ล้านบาทขึ้นไปสามารถเข้ามาซื้อที่ดินได้คนละไม่เกิน 1 ไร่ เพื่อการอยู่อาศัย รวมถึงมีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2545 มาจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เป็นเวลานานพอสมควร หลักเกณฑ์เดิมที่เคยมีในตอนนั้นบางเรื่องถือว่าตึงเกินไป แต่บางเรื่องก็หละหลวมเกินไป เราจึงอยากจำกัดหลักเกณฑ์ผู้ที่มาซื้อที่ดินในประเทศ ว่าไม่ใช่ให้ใครก็ได้เพียงแค่มีเงิน 40 ล้านบาท จึงได้กำหนดกลุ่มคนต่างชาติ 4 ประเภท เพื่อกำหนดคนผู้ได้รับสิทธิให้วงแคบลง
“ขณะเดียวกันมีการเพิ่มเงื่อนไข หรือปรับบางอย่างก็ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นกันในขณะนี้ บางคนก็เสนอให้มีการเติมเงื่อนไข ซึ่งรัฐบาลยินดีรับไว้พิจารณา อาทิ ข้อเสนอที่ห้ามมีการนำไปขายต่อ ห้ามมิให้ผู้ซื้อที่ดินนำที่ดินมาต่อรวมกัน” รองฯ วิษณุกล่าว พร้อมบอกว่า ถ้ามีกระแสต้านเข้ามามาก รัฐบาลก็จะนำมาพิจารณา
ก็เป็นอันว่าเวลานี้ ร่างกฎกระทรวงที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “กฎกระทรวงมการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. ....” ที่ผ่าน ครม.เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ก็ยังไม่ใช่ร่างสุดท้าย ยังสามารถปรับเปลี่ยนได้อีก
เวลานี้ เรื่องการเปิดให้ต่างชาติซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัย ก็ต้องว่าตาม “กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545” ที่ออกมาในสมัยทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และใช้มากว่า 20 ปีแล้ว
และถ้าจะว่ากันจริงๆ ร่างกฎกระทรวงอันใหม่ ก็ยังมีเนื้อหาหลักๆ คล้ายกฎกระทรวงเดิม นั่นคือ ให้สิทธิไม่เกิน 1 ไร่ ต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท ต้องเป็นที่ดินในเขตกรุงเทพฯ เมืองพัทยา เขตเทศบาล และพื้นที่อยู่อาศัยตามกฎหมายผังเมือง
ส่วนปรับแก้ก็เป็นระยะเวลาการลงทุน ลดจาก 5 ปี เหลือ 3 ปี และกำหนดประเภทบุคคลเป็น 4 กลุ่มเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ
จะว่าไปจุดประสงค์เบื้องหลังการคัดค้านร่างกฎกระทรวงให้ต่างชาติซื้อที่ดินนั้นมีหลากหลาย แตกต่าง มีทั้งคัดค้านด้วยความเป็นห่วงว่าถ้าปรับเงื่อนไขให้ต่างชาติซื้อที่ดินได้ง่ายขึ้น ในอนาคตลูกหลานไทยก็จะไม่มีแผ่นดินจะอยู่ ขณะที่บางกลุ่มก็คัดค้านเพื่อตีกินทางการเมือง เอาดีเข้าตัวเอาชั่วให้คนอื่น บางคนก็คัดค้านเพื่อหาแสง ให้ตัวเองเป็นข่าวออกสื่อ
แต่คนที่คัดค้านด้วยหลักการ ด้วยเหตุด้วยผล ที่น่าสนใจก็มี อย่าง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรมว.คลัง ที่ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า การให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ มีมาตั้งแต่ปี 2497 หรือ อาจจะนานกว่านั้น แต่ใน พ.ศ.2497 ให้เฉพาะกรณีประเทศที่มีสนธิสัญญากับประเทศไทย
จนถึงปี 2542 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) รัฐบาลขณะนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน ให้สิทธิต่างชาติสามารถได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน เพื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องอาศัยสนธิสัญญา โดยสามารถถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ แต่ต้องมีการนำเงินมาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท คงการลงทุนนั้นไม่น้อยกว่า 3 ปี
กระทั่งปี 2545 จึงได้มีการออกกฎกระทรวงเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดรายละเอียดของต่างชาติที่จะสามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยได้
ส่วนร่างกฎกระทรวงที่ออกมาในปี 2565 รัฐบาลปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างจากกฎหมายในปี 2497 และปี 2542 ที่ให้รัฐมนตรีอนุมัติเป็นรายๆ ไม่ใช่เปิดเลหลังแบบทั่วไป
ในกฎหมายปี 2542 ต้องการดึงดูดผู้ที่มีเงิน พร้อมเทคโนโลยี พร้อมยี่ห้อการตลาดส่งออก มากกว่าเลหลังขายที่ดินของเจ้าคุณทวด ส่วนของปี 2545 มีการเพิ่มประเภทลงทุน โดยให้นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือกองทุนรวมอสังหาฯ เพื่อมุ่งแก้สภาวะจากวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่ยังต้องพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ โดยรัฐมนตรี
ส่วนในยุค “รัฐบาลประยุทธ์” มีการเปลี่ยนแหวกแนวไปจากเดิม เป็นการอนุญาตเลียนแบบประเทศยุโรป เมื่อดูจากเงื่อนไขที่ปรับเปลี่ยนใหม่ ที่เน้นไปที่การขายที่ดิน เพียงแต่ตั้งระดับวงเงินให้เป็นที่ดินราคาสูง และยังไม่เปิดให้ซื้อที่ดินเกษตรกรรม
ส่วนความหวังที่จะให้คนต่างชาติ นำเอาทักษะความรู้ความสามารถของเขา มาสร้างงานสร้างโอกาสในไทย นั้น ขณะนี้มีโครงการดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้เฉพาะด้าน ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว โครงการให้ต่างชาติซื้อที่ดินนั้น ไม่ได้คัดเลือกต่างชาติที่มีความรู้หรือมีทักษะ แต่เลือกต่างชาติที่ฐานะร่ำรวยเป็นสำคัญ
แทนที่จะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเอาสมบัติคุณทวดมาเลหลังขายอดีตขุนคลัง “ธีระชัย” มองว่า ประเทศไทยควรพัฒนาศักยภาพคนในประเทศก่อน รัฐบาลควรทำนโยบายเพื่อเพิ่มความเก่ง เพิ่มโอกาส ให้แก่คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มากกว่าขายสมบัติเจ้าคุณทวดเช่นนี้
ก็ได้แต่หวังว่า ลุงๆ ผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองนี้ จะนำเอาข้อสังเกตของอดีตขุนคลัง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” ไปประยุกต์ปรับแก้ในเนื้อหากฎกระทรวง เพื่อไม่ให้การให้สิทธิต่างชาติซื้อดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลายเป็นการเลหลังสมบัติเจ้าคุณทวด อย่างที่ตั้งข้อสังเกต