อดีต รมว.คลัง เผย สิทธิต่างชาติซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยในไทยไม่เกิน 1 ไร่ มีมาตั้งแต่ปี 2497 หรือเกือบ 70 ปีก่อน แต่ให้รัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ มีการปรับเพิ่มเงื่อนไขในปี 42 และ ปี 45 ก็ยังต้องให้ รมต.อนุมัติ แต่ปี 65 เป็นการอนุญาตเลียนแบบยุโรป แหวกแนวไปจากเดิม
วันนี้ (31 ต.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกรณีรัฐบาลเปิดให้ต่างชาติ สามารถซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้คนละไม่เกิน 1 ไร่ มีรายละเอียดระบุว่า “ขายที่ดินให้ต่างชาติเริ่มแต่เมื่อใด มีผู้ส่งเพจของ @Anaya Moonphen ให้ผม ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับกฎหมายให้ต่างชาติซื้อที่ดิน ระบุว่า [การให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ มีมาตั้งแต่ปี 2497 (หรืออาจจะนานกว่านั้น) ถ้าเราลองเปิดประมวลกฎหมายที่ดินและกฎกระทรวง (ออกโดยกระทรวงมหาดไทย) จะเห็นว่า การให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกินคนละ 1 ไร่ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2497 เพียงแต่ในตอนแรกเริ่มการจัดทำประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 นั้นจะให้เฉพาะกรณีประเทศที่มีสนธิสัญญากับประเทศไทย
ต่อมาปี 2542 น่าจะด้วยเหตุผลที่ไทยเพิ่งประสบวิกฤตต้มยำกุ้ง (ปี 2540) รัฐบาลขณะนั้นจึงแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดินเพื่อจูงใจให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยเพิ่มเติมมาตรา 96 ทวิ (โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2542) ให้สิทธิต่างชาติสามารถได้กรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัยโดยไม่ต้องอาศัยสนธิสัญญา โดยสามารถถือครองได้ไม่เกิน 1 ไร่ แต่ต้องมีการนำเงินมาลงทุนในไทยไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท คงการลงทุนนั้นไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยการกำหนดคุณสมบัติกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาลงทุนนั้นให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย
กระทั่งปี 2545 จึงได้มีการออกกฎกระทรวงเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดรายละเอียดของต่างชาติที่จะสามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยได้
ผ่านมา 20 ปี ในปี 2565 รัฐบาลปัจจุบัน มีนโยบายจะดึงดูดต่างชาติศักยภาพสูง 4 กลุ่ม เข้ามาอยู่ในประเทศไทย เพื่อให้คนเหล่านี้มาลงทุน ทำงาน ใช้ชีวิตในไทย จึงได้แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดรายละเอียดกลุ่มต่างชาติใหม่ โดยเพิ่มต่างชาติ 4 กลุ่มนี้เข้าไป แต่เงื่อนไขใกล้เคียงเดิม คือ นำเงินมาลงทุนในไทย 40 ล้านบาท แต่ได้ลดระยะเวลาการคงเงินลงทุนลงจากประกาศปี 2545 ที่ให้คงไว้ 5 ปี เหลือ 3 ปี
ดังนั้น การให้ต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ มีมาตั้งแต่ปี 2497 หรือเกือบจะ 70 ปี มาแล้ว หรืออาจจะนานกว่านั้นเพียงแต่เรามีการรวบรวมกฎหมายที่ดินเป็นกิจจะลักษณะเมื่อปี 2497 มานี้เท่านั้นเอง]
ผมตั้งข้อสังเกตว่า
1. การบัญญัติกฎหมายอนุญาตในปี 2497 ที่ปรากฏในรูป 1-3 นั้น จะต้องให้รัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ และแม้ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายในปี 2542 ก็ยังต้องให้เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีเป็นรายๆ (รูป 4-6) ไม่ใช่เปิดเลหลังแบบทั่วไป
2. วัตถุประสงค์ในกฎหมายทั้งสองฉบับ ระบุชัดเจนว่า เป็นการสนับสนุนประเภทธุรกิจที่คนต่างด้าวลงทุนที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือเป็นกิจการที่ได้ BOI (รูป 3 และรูป 5)
3. ในกฎหมายปี 2542 (รูป 6) ถึงแม้ระบุวัตถุประสงค์ต้องการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังซบเซา แต่ก็มีกรอบว่า การอนุญาตก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบกิจการในราชอาณาจักร จึงเข้าลักษณะต้องการดึงดูดผู้ที่มีเงิน พร้อมเทคโนโลยี พร้อมยี่ห้อการตลาดส่งออก มากกว่าเลหลังขายที่ดินของเจ้าคุณทวด
4. สำหรับกฎกระทรวงที่ออกในปี 2545 (รูป 7-9) นั้น ปรากฏว่า นอกจากกิจการ BOI แล้ว ได้ไปขยายความใน ข้อ 1 ข้อย่อย 1 และ 2 ให้นำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนรวมอสังหา โดยมุ่งแก้สภาวะจากวิกฤตต้มยำกุ้ง
อย่างไรก็ดี ในข้อ 4 และ 5 (รูป 8 ก็มีข้อความชัดเจนว่า จะต้องพิจารณาอนุมัติเป็นรายๆ โดยรัฐมนตรี)
5. สรุปแล้ว การเปลี่ยนแหวกแนวไปจากเดิม การอนุญาตเลียนแบบประเทศยุโรป เกิดขึ้นในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ นี้เอง ไม่ต้องไปอ้างอิงกฎกติกาของเดิมเลย
วันที่ 31 ตุลาคม 2565
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ