แรง! “ศุภชัย” ตอกกลับ “อลงกรณ์” ปมกัญชา ซัด ปชป. เตะถ่วง หวังเล่นการเมือง แต่อ้างสังคมบังหน้า แนะ เอาเวลาไปห่วงพรรค ปชป.ดีกว่า หลังเลือดทะลักต่อเนื่อง หวั่น ลดสเกลเป็นพรรคประจำจังหวัด
วันนี้ (25 ก.ย.) นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า
เอาเวลา ไปห่วงตัวเองดีกว่าครับ
ขอบคุณอย่างยิ่ง ที่ท่านอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นห่วงเป็นใยหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และยังเป็นห่วงไปถึงนโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์
ซึ่งในความเป็นห่วงของท่าน ก็มีเรื่องให้ผมต้องชี้แจง
แต่ขอให้รับรู้ไว้ว่า ผมในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ได้ระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่แสดงความเห็นใดเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้
แต่กับท่านอลงกรณ์ ผมจะขออธิบายเป็นรายประเด็นไปนะครับ
เรื่องพรรคภูมิใจไทย ดังเกินไป กระทั่งพรรคการเมืองหลายพรรคจ้องเตะตัดสกัดขา เรื่องนี้ เราไม่ได้วิเคราะห์เอาเอง เหมือนที่ท่านอลงกรณ์ กล่าวหา
แต่นักวิชาการ กูรูการเมือง สื่อมวลชนแทบทุกสำนักก็มองตรงกัน ว่า พรรคประชาธิปัตย์ กำลังเล่นเกมอยู่
ผมจะยกตัวอย่าง ที่ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ท่านเคยให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่สภา ซึ่งรวมถึงพรรคท่าน ทั้งที่เป็นพรรคร่วม โหวตให้ถอน ร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ กลับไปพิจารณา ว่า
“เรื่องแบบนี้ อย่าตกใจ นี่แค่เริ่มต้น พรรคภูมิใจไทย ยังต้องเจออีก ถ้าไม่โดน แปลว่า ยังไม่เด่น ยังไม่ดัง ถ้าโดนแปลว่าใช้ได้แล้ว ไม่ต้องคิดมาก แล้วที่พูดมา ก็ให้ไปดูความจริง ในซีกรัฐบาลตอนนี้ มีพรรคไหนที่พร้อมเท่ากับพรรคภูมิใจไทย การที่หัวหน้าพรรคประกาศพร้อมเป็นนายกฯ มันก็สะท้อนว่า พรรคก็มีครบแล้ว เพื่อนก็ลองของหน่อย เป็นธรรมดาการเมือง”
ขณะที่ในกรรมาธิการ พ.ร.บ. กัญชาฯ ก็ยังมองว่า มีเรื่องการสกัดพรรคภูมิใจไทย มาเอี่ยวแน่นอน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษก และคณะ กมธ. ให้ความเห็นว่า
“ถ้าสภาห่วงเรื่องสุญญากาศ ต้องเปิดประชุมวิสามัญนอกสมัยประชุมเพื่อลงมติเรื่องนี้ให้จบ แต่ถ้าตั้งใจเตะถ่วงเวลาประวิงเวลาเพื่อให้มีสุญญากาศนานๆ จะได้ไปหาเสียงโจมตีพรรคภูมิใจไทยว่าปล่อยให้กฎหมายสุญญากาศ ทำประชาชนเดือดร้อน
ทั้งหมดนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการ ปัญหาก็คือ จะประวิงเวลาทำไม ในเมื่อมีญัตติที่สามารถลงมติคัดค้านความเห็นของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากได้ ตนเห็นอยู่เหตุผลเดียว คือต้องการประวิงเวลา เพื่อให้สุญญากาศนานขึ้น ให้กฎหมายปิดสุญญากาศก็ไม่เอา ให้คัดค้านรายมาตราก็ไม่เอา นี่แหละประเด็น คือ ประวิงเวลาเพื่อหวังผลเกมการเมือง ในคณะกรรมาธิการก็เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องการเมือง”
เรื่องการเมืองล้มกัญชา เราไม่ได้คิดเอง เออเอง ฝ่ายเดียวครับ
ทุกอย่างมันเห็นๆ กันอยู่
ต่อมา ท่านอลงกรณ์ มาบอกว่า ทุกพรรคสนับสนุนกัญชาเสรีทางการแพทย์ ซึ่งมีนัยยะ คือการไม่สนับสนุนเรื่องนันทนาการ ก่อนที่ท่านพิมพ์ตรงนี้ ท่านได้ไปคุยกับ อาจารย์กนก วงษ์ตระหง่าน รึยังครับ ??? เพราะ อาจารย์กนก กมธ.กัญชาฯ ตัวแทนของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันฟูลมูนปาร์ตี้ กัญชาฮาเฮเลยนะครับท่าน
แล้วที่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการจะปิดป้าย “เขตปลอดกัญชา” ก็ถูกต้องแล้วครับ
เพราะมันแสดงให้เห็นว่า ประเทศเรามีการตีกฎวางกรอบการใช้ ออกมาในรูปแบบต่างๆ เพราะฉะนั้น ใครก็ตามที่มามั่วมโนว่า ประเทศไทยกัญชาเสรีไร้การควบคุม ขอให้ตบปากที่สักแต่พ่นน้ำลายนะครับ แล้วหันมามองความจริง
ก็ต้องขอบคุณข้อมูลของท่านอลงกรณ์นะครับ ที่มาตอกย้ำว่าสังคมไทย ได้เข้ามาดูแลการใช้อย่างไรบ้าง
มาถึงจุดนี้ ผมขอย้อนอธิบายความเรื่องกัญชาสักหน่อยแล้วกัน
จำได้ไหมครับ กัญชาได้ถูกปลดล็อกโดยประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 และพรรคภูมิใจไทยเห็นว่า เมื่อปลดล็อกกัญชาแล้วประเทศไทยควรต้องมีกฎหมายเข้ามากำกับดูแลให้ได้ประโยชน์สูงสุด สังคมมีความปลอดภัยจากการใช้
จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกัญชากัญชง ที่เป็นประเด็นในขณะนี้เมื่อเดือนมกราคม 2565 ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกมาหลายฉบับเพื่อออกมาคุ้มครองการใช้กัญชาในระหว่างรอร่างพระราชบัญญัติพิจารณาแล้วเสร็จและมีผลบังคับใ ช้ ซึ่งในขั้นตอนนี้ ก็มีหน่วยงานต่างๆ ออกประกาศมาสมทบเช่นกัน
แหม่ ….. แต่ ร่าง พ.ร.บ. ที่ตั้งอกตั้งใจกันเขียน ก็มีอันเอวัง
เพราะในสภา หลายท่านก็ไม่เคยอ่านให้ละเอียด กล่าวหาว่า กรรมาธิการทำมาละหลวม ต้องแก้ไขปรับปรุง ทั้งๆ ที่ข้อเสนอนั้นล้วนแล้วมีอยู่ในรายงานที่กรรมาธิการเสนอทั้งสิ้นและมากกว่า ทันสมัยกว่าครอบคลุมยิ่งกว่า
“ที่สำคัญคือ เป็นกฎหมายที่ปกป้องคุ้มครองเยาวชน และกลุ่มเปราะบาง สังคมในทุกมิติอย่างดีที่สุด รวมถึงการไม่อนุญาตให้ใช้ในทางนันทนาการแต่อย่างใดเลย และยังคงหลักการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างหนักแน่นมั่นคง การออกมา”
ท่านอลงกรณ์รู้ไหมครับ ในร่าง พ.ร.บ. ที่ท่านรังเกียจ โดยอ้างว่าเอื้อเพื่อความบันเทิงนั้น
เป็นร่างที่พัฒนาจาก 45 มาตรา มาเป็น 95 มาตรา หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 มาตรา หรือมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว และเป็นการเพิ่มบทบัญญัติ
“ในการคุ้มครองประชาชน” ให้ดีขึ้นกว่าวาระรับหลักเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 อย่างชัดเจน
โดยได้ประยุกต์ใช้กฎหมายควบคุมสุรา ควบคุมยาสูบ และพืชกระท่อมนำมาเป็นบทบัญญัติของกัญชาให้มีการควบคุมไม่น้อยไปกว่าสุรา ยาสูบ และพืชกระท่อม
ตัวอย่างที่ชัดเจนของการคุ้มครองประชาชน เช่น การห้ามขายให้เด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร การควบคุมสถานที่ห้ามขาย เช่น วัด โรงเรียน ศาสนาสถาน ฯลฯ มีการควบคุมวิธีการขาย เช่น ห้ามเร่ขาย ห้ามขายอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามขายผ่านเครื่องขาย รวมถึงการห้ามสูบในที่สาธารณะหรือที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ฯลฯ
ในส่วนของการปลูกในครัวเรือน ผู้จดแจ้งยังมีหน้าที่ตามมาตรา 20/5(2) ในการปลูกใช้ในครัวเรือนจะต้องจัดสถานที่เพาะปลูกให้มีมาตรการป้องกันมิให้เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร เข้าถึงกัญชา กัญชง หากไม่ดำเนินการย่อมสามารถถูกเพิกถอนการจดแจ้งและการอนุญาตได้ทันที และหากมีการให้เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตรใช้กัญชา ย่อมมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน
นี่แค่ส่วนหนึ่งของความพยายามในการดูแลการใช้กัญชา ผมยืนยันเลยว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีความครบถ้วน สมบูรณ์แล้ว
เช่นนี้ สิ่งที่มันเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องของตาบอดคลำช้าง ไม่มีความรู้ความเข้าใจแล้วอวดอ้าง จนคนไทย ต้องเสียโอกาสในการใช้กฎหมายดีๆ
กับท่านอลงกรณ์ ก่อนที่ท่านจะมาวิพากษ์วิจารณ์เรื่องกัญชา ท่านเองก็เคยเห็นดีเห็นงามกับเรื่องกัญชา
ชนิดที่เคยคิดทำเรื่องฮับกัญชาแบบคุยเสียใหญ่โต ตอนนั้น ประชาชนยังมองว่าเป็นท่านเป็นความหวังของพรรคเก่าแก่ มองเห็นโอกาสของความเป็นสมัยใหม่ แต่พอมาถึงตอนนี้ ไม่รู้ว่าท่านเป็นพวกมองเห็นโอกาส หรือเป็นพวกฉวยโอกาสกันแน่ พอเห็นกระแสกัญชามา ก็เกาะไปกับเขา แบบคนไม่รู้เรื่อง รู้ราว แต่คราวนี้ เมื่อพรรคของท่านมีธงการเมือง แนวคิดใหม่ ที่เคยเอามาโชว์เรียกเสียงปรบมือ ก็หายไปดื้อๆ แถมทีท่า ก็กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ
อย่าโกรธผมเลยนะ แต่ผมคิดว่า ตอนนั้น ที่ท่านเสนอไอเดียเรื่อง ฮับกัญชาก็แค่นโยบายดำน้ำมั่วๆ ไปอย่างนั้นเอง เพราะถ้าเข้าใจ และรู้เรื่องกัญชาอย่างผู้มีปัญญาจริง ก็ควรจะแสดงความคิดเห็นอย่างผู้มีปัญญามากกว่านี้อย่างแน่นอน
ขอย้ำนะครับ วิธีที่จะทำให้การใช้กัญชา เป็นไปอย่างถูกต้อง มีการควบคุมให้ห่างไกล เด็ก และเยาวชน คือ การเร่งออกกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง เสียแต่โดยเร็ว
แต่อย่างที่ได้เห็น
พรรคประชาธิปัตย์ สร้างข้อผิดพลาดที่ 1 คือ เล่นเกมถ่วงเวลา ไม่ให้กฎหมาย ออกมา ทั้งๆ ที่รับหลักการแล้ว
ความผิดพลาดที่สอง คือ เกษตรกร และพรรคภูมิใจไทย ที่เชื่อว่า ประชาธิปัตย์ มีความจริงใจกับการส่งเสริมกัญชาทางการแพทย์ และเศรษฐกิจ ตามที่คุณอลงกรณ์ พูดไว้เสียใหญ่โตกำลังได้รับความเสียหาย เมื่อประชาธิปัตย์เสนอให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทำให้คนที่ลงทุนไว้ ไปต่อไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายมากำหนดแนวทางรองรับการทำให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ
“ทางที่จะแก้ไขความผิดพลาดและไถ่โทษคือคุณอลงกรณ์ต้องใช้สติทบทวน คือ พรรคประชาธิปัตย์และพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค ต้องสนับสนุนการออกกฎหมายกัญชา กัญชง มาส่งเสริมการใช้กัญชาในทางที่เป็นประโยชน์ และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด ตามนโยบายรัฐบาล มิใช่มาเล่นลิ้น ทำตัวกลับไปกลับมาจนประชาชนเบื่อหน่ายอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้”
ที่สุดแล้ว ผมต้องขอขอบคุณที่ท่านอลงกรณ์ เป็นห่วงหัวหน้าพรรคผม ไปจนถึงอาจจะเป็นห่วงพรรคผม และนโยบายพรรคภูมิใจไทย ความเป็นห่วงของท่าน อีกมุมมันก็สะท้อนว่า นโยบายกัญชาของพรรคผม มันเดินหน้าไปแล้วอย่างเป็นรูปธรรม มิเช่นนั้น ท่านคงไม่มีโอกาสได้ออกมาโวยวายแบบนี้หรอก ถือว่า ท่านมาช่วยเราขายสโลแกน “พูดแล้วทำ”
แต่ท่าน ก็ควรจะเป็นห่วงตัวเองบ้าง
ได้ข่าวว่า พรรคท่านเองก็เจ็บหนักเลือดไหลออกเป็นว่าเล่น มีสื่อบางสำนักวิเคราะห์ว่าพรรคท่านกำลังสาละวันเตี้ยลง จากพรรคระดับประเทศ กลายเป็นพรรคภูมิภาค และล่าสุด น่าจะกลายเป็นแค่พรรคจังหวัด
เรื่องนี้ สื่อเขาวิเคราะห์ตามจริงครับ มีอย่างที่ไหนจากพรรคหลักร้อย เป็นถึงระดับแกนนำขั้วรัฐบาล ตอนนี้ ขอแค่ 50 คน ก็ยังเหนื่อย
เอ้าๆๆๆๆ ผมเป็นกำลังใจให้ครับ
#เป็นห่วงนะ